READING

สอนลูกเรื่อง ความเท่าเทียม และความเท่าเทียมทางเพศ ...

สอนลูกเรื่อง ความเท่าเทียม และความเท่าเทียมทางเพศ (Gender Equality)

ความเท่าเทียม

ความเท่าเทียม เป็นเรื่องที่ถูกหยิบยกมาพูดถึงในบริบทต่างๆ มากขึ้น เพราะเด็กๆ ของเรากำลังเติบโตขึ้นมาในโลกที่เต็มไปด้วยความหลากหลาย ไม่ว่าจะเป็นเชื้อชาติ ศาสนา เพศ ความเชื่อ หรือทัศนคติในการดำรงชีวิต

เด็กๆ จึงควรเรียนรู้และได้เติบโตขึ้นมาในสังคมที่มีความรู้ความเข้าใจเกี่ยวกับสิทธิและความเท่าเทียมที่ทุกคนควรได้รับ นั่นหมายถีงการสร้างทัศนคติที่ดีเกี่ยวกับความแตกต่างและหลากหลายของคนในสังคม ควรเริ่มต้นตั้งแต่ภายในครอบครัว

1. ความเท่าเทียม เริ่มจากในบ้าน

GenderEquality_web_1

ทัศนคติเรื่อง ความเท่าเทียมทางเพศ ควรเริ่มจากที่บ้าน คุณพ่อคุณแม่สามารถพูดคุยกับลูกเรื่องสิทธิและความเท่าเทียมที่ทุกคนควรได้รับ โดยเฉพาะครอบครัวที่มีลูกต่างเพศ คุณพ่อคุณแม่ไม่ควรทำให้ลูกรู้สึกว่าได้รับความรัก ความใส่ใจ หรือสิทธิในบ้านไม่เท่าเทียมกัน รวมถึงไม่ส่งเสริมทัศนคติที่ทำให้เกิดการแบ่งแยก เช่น งานบ้านเป็นหน้าที่ของแม่ เพราะว่าแม่เป็นผู้หญิง หรือเด็กผู้ชายไม่จำเป็นต้องเรียนรู้เรื่องการทำอาหาร ฯลฯ เพราะสิ่งเหล่านี้จะทำให้ลูกรู้สึกคุ้นเคยกับความไม่เท่าเทียม จนกลายเป็นทัศนติที่ติดตัวไปจนโตได้

2. ยอมรับแบบอย่างที่หลากหลาย

GenderEquality_web_2

ผู้ใหญ่และคุณพ่อคุณแม่บางคนกังวลที่จะให้ลูกทำความรู้จักหรือชื่นชมคนที่มีความแตกต่างและหลากหลายทางเพศ เพราะกลัวว่าลูกจะเกิดการเลียนแบบหรือนำพฤติกรรมมาใช้อย่างไม่เหมาะสม จนกลายเป็นการปิดกั้นและกดทับโอกาสที่ลูกจะได้เรียนรู้ถึงความแตกต่างของผู้คน และโอกาสที่ลูกจะได้เรียนรู้ว่าไม่ว่าจะเพศอะไร ทุกคนก็มีสิทธิ์ที่จะเป็นตัวเองที่มีความสุข ประสบความสำเร็จ และได้รับการยอมรับจากคนอื่นเช่นกัน

3. อย่ายึดติดกับรูปแบบ (stereotypes)

GenderEquality_web_3

โครงสร้างทางสังคมบางอย่างที่ส่งต่อกันมา มักคาดหวังให้เด็กปฏิบัติตามบทบาททางเพศที่เฉพาะเจาะจงและมีข้อจำกัด นักวิจัยต่างให้ความเห็นว่า เด็กๆ จะเริ่มซึมซับและเรียนรู้รูปแบบและนิยามแบบเหมารวมได้ตั้งแต่อายุ 3 ขวบ ทำให้โลกสำหรับเด็กผู้ชายเริ่มขยายกว้างขึ้น ในขณะโลกของเด็กผู้หญิงกลับยิ่งมีข้อจำกัดมากขึ้นเมื่อพวกเธอเติบโต เพราะการมีอคติและความคาดหวังทางเพศโดยไม่รู้ตัว เช่น ผู้หญิงควรแต่งกายและประพฤติตัวอย่างไร ผู้ชายควรประกอบอาชีพ ประสบความสำเร็จ และนำเสนอตัวเองอย่างไร

การยึดติดกับรูปแบบ แบบแผน และการนิยามเหล่านี้จะเป็นความกดดันที่ลูกต้องเผชิญต่อไป หากคุณพ่อคุณแม่ไม่เริ่มถอนตัวเองและครอบครัวออกจากค่านิยมเหล่านี้ให้ได้ตั้งแต่เนิ่นๆ

4. เลิกล้อเลียนเกี่ยวกับรูปลักษณ์และร่างกาย (body shame)

GenderEquality_web_4

คุณพ่อคุณแม่ควรระวังการพูดจาล้อเลียนหรือวิพากษ์วิจารณ์รูปลักษณ์และร่างกายของคนอื่น รวมทั้งการไม่แสดงทัศนคติเชิงลบต่อคนที่มีรูปลักษณ์ต่างไปจากความนิยมของสังคมให้ลูกเห็น เช่น เด็กคนนั้นอ้วนจนไม่น่ารัก หรือผอมจนน่าเกลียด ตัวเล็กแล้วน่ารังแก หรือดูอ่อนแอเหมือนเด็กผู้หญิง

แต่ควรส่งเสริมทัศนคติที่ว่าไม่ควรมีใครถูกกำหนดหรือตัดสินจากรูปลักษณ์ภายนอกให้กับลูกตั้งแต่ยังเล็ก

5. รับฟังและเรียนรู้จากลูก

GenderEquality_web_5

สิ่งที่ผู้ใหญ่และคุณพ่อคุณแม่ควรยอมรับก็คือเรากำลังส่งต่อโลกทุกวันนี้ให้กับเด็กๆ ที่ต้องเติบโตเป็นผู้ใหญ่ในอนาคต ดังนั้นการรับฟังเด็กๆ ส่งเสียงเรียกร้องเพื่อกำหนดทิศทางสังคมของตัวเอง ถือเป็นหนึ่งในการสร้างสังคมที่มีความเท่าเทียม ไม่เฉพาะเรื่องเพศ แต่หมายถึงความเท่าเทียมในสิทธิทางการแสดงความคิดเห็นและการแสดงออก โดยเริ่มจากคนที่สำคัญที่สุดก็คือพ่อแม่ ที่ต้องเปิดโอกาสให้ลูกแสดงความต้องการของตัวเอง และเปิดใจที่จะเรียนรู้จากพวกเขาให้ได้มากที่สุด

อ้างอิง
unwomen
believe.earth
scarymommy

Supinya R.

ชอบอ่านนิยายสยองขวัญ ชอบเขียนไดอารี่ และเป็นคุณแม่จำเป็นในบางเวลา :-)

RELATED POST

COMMENTS ARE OFF THIS POST