READING

5 เคล็ดลับง่ายๆ สอนลูกวัยเตาะแตะ (Toddler) ให้เป็น...

5 เคล็ดลับง่ายๆ สอนลูกวัยเตาะแตะ (Toddler) ให้เป็นเด็กอ่อนโยน

เด็กอ่อนโยน

คุณพ่อคุณแม่ที่กำลังมีลูกอยู่ในวัยหัดเดิน น่าจะเข้าใจดีว่ามนุษย์ตัวน้อยๆ วัยนี้ กำลังอยู่ในช่วงที่รักการโวยวาย รักการรื้อข้าวของ ขว้าง เหวี่ยง ตี หยิก กัด รักในสิ่งที่จะทำให้คุณพ่อคุณแม่ปวดหัวได้เป็นชีวิตจิตใจ แต่ก็ต้องอดทนอดกลั้น เพราะเรารู้ดีว่าพฤติกรรมเหล่านี้เป็นหนึ่งในพัฒนาการตามช่วงวัยของลูกวัยหัดเดิน (แม้ในใจจะไม่ไหวแล้วจริงๆ ก็ตาม…)

แต่ไม่ว่าจะเป็นเรื่องธรรมดาแค่ไหน หากเราปล่อยให้ลูกทำพฤติกรรมที่ไม่น่ารักมากเกินไป โดยไม่ห้ามปราม หรือละเลยที่จะสอนวิธีแสดงออกหรือเล่นที่ถูกต้อง ก็อาจทำให้ลูกมีพฤติกรรมเหล่านี้ติดตัวไปเรื่อยๆ

ต้องไม่ลืมนะคะว่าเด็กเล็กทำอะไรไปตามสัญชาตญาณ ก็ยังดูน่ารักได้ แต่เมื่อลูกโตขึ้น ถ้ายังคงชอบขว้างปาข้าวของ หรือใช้ความรุนแรงกับคนรอบตัว คงไม่ดีแน่

แล้วเราจะสอนลูกวัยนี้ให้รู้จักแสดงออกอย่างเหมาะสมได้อย่างไร M.O.M ได้นำเคล็ดลับง่ายๆ สอนลูกวัยเตาะแตะให้เป็น เด็กอ่อนโยน มาฝากกันค่ะ

1. เล่นบทบาทสมมติสอนความอ่อนโยน

เล่นบทบาทสมมติ

บางครั้งที่ลูกใช้ความรุนแรงกับคนอื่น เพราะเขาไม่รู้ว่าจะทำอย่างไร ไม่สามารถประเมินพละกำลังของตัวเองในการทำบางอย่างได้ เช่น อยากเล่นกับเพื่อน แต่เข้าใจว่าการตีเพื่อนแรงๆ จะทำให้ได้รับการตอบสนองน่าพอใจ

การเล่นบทบาทสมมติจะช่วยให้ลูกเข้าใจสถานการณ์และรู้ว่าอะไรควรทำหรือไม่ควรทำได้ดี โดยที่ไม่ต้องรอให้ลูกลงมือทำสิ่งนั้นไปแล้วคุณพ่อคุณแม่สามารถสอนลูกด้วยการเล่นบทบาทสมมติ ในเหตุการณ์ต่างๆ เช่น เอาตุ๊กตามาสมมติว่าเรากำลังจะเล่นกับสัตว์เลี้ยง ด้วยการจับเบาๆ แบบนี้นะคะ ลูบเบาๆ แบบนี้ หรือสมมติเหตุการณ์ ถ้าลูกอย่างเล่นกับเพื่อน เราจะไม่เข้าไปตีเขา แต่ใช้วิธีเรียกชื่อหรือสะกิดที่ตัวเพื่อนเบาๆ แบบนี้ เพื่อให้ลูกรู้วิธีที่จะทำตัวในสถานการณ์ต่างๆ ได้อย่างที่ควรเป็น

2. เป็นแบบอย่างที่ดีให้ลูกเห็น

เป็นแบบอย่างที่ดี

ลูกย่อมเรียนรู้และจดจำพฤติกรรมและการแสดงออกของคุณพ่อคุณแม่ หากคุณพ่อคุณแม่ชอบพูดจาเสียงดัง หยิบสิ่งของด้วยความรุนแรง โยนข้าวของให้ลูกเห็น หรือมีการลงไม้ลงมือให้เห็นในครอบครัวบ่อยๆ ก็เป็นธรรมดาที่ลูกจะเอาพฤติกรรมเหล่านั้นมาใช้

เพราะฉะนั้นคุณพ่อคุณแม่จึงควรเป็นผู้ปลูกฝังความอ่อนโยนให้ลูก ไม่ว่าจะการสัมผัสตัวลูก พูดจาไพเราะ หรือหยิบจับสิ่งของด้วยความทะนุถนอม เพื่อให้ลูกคุ้นเคยกับพฤติกรรมที่ดีนั่นเองค่ะ

3. เรียนรู้มารยาทที่ดีร่วมด้วย

มารยาท

นอกจากจะเป็นตัวอย่างที่ดีเพื่อสอนให้ลูกเป็น เด็กอ่อนโยน แล้ว สิ่งที่ควรสอนควบคู่กันไปก็คือมารยาท เพราะความเป็นจริงแล้ว การเล่นรุนแรงหรือขว้างปาสิ่งของอาจเกิดขึ้นได้ในเวลาที่ลูกรู้สึกอยากปลดปล่อยหรือใช้พลังงานไป แต่การสอนเรื่องมารยาทจะทำให้ลูกยับยั้งชั่งใจที่จะไม่แสดงพฤติกรรมเหล่านั้นในเวลาที่ไม่เหมาะสม และการมีมารยาทที่ดีจะช่วยทำให้ลูกมีปฏิสัมพันธ์ที่ดีกับคนอื่น เกิดความเข้าอกเข้าใจ ไม่รังแกคนอื่น และมารยาทยังหมายถึงการสอนให้ลูกรู้จักใช้คำว่าขอโทษอย่างจริงใจ เมื่อพลั้งเผลอใช้ความรุนแรงหรือทำตัวไม่เหมาะสม และสอนให้ลูกพูดคำว่าขอบคุณเมื่อได้รับสิ่งของหรือความช่วยเหลือจากคนอื่น

4. สอนด้วยนิทานหรือการ์ตูนที่เหมาะสม

ถามความคิดเห็น

นิทาน หรือการ์ตูน และภาพยนตร์ที่เหมาะสมสำหรับเด็กหลายเรื่อง มักจะสอดแทรกการสอนเด็กๆ เอาไว้ในรูปแบบของความสนุกสนาน คุณพ่อคุณแม่สามารถนำเหตุการณ์ในเรื่องมาพูดคุย หรือให้ลูกวิเคราะห์พฤติกรรมของเด็กหรือตัวละครอื่นๆ ว่าเหมาะสมหรือไม่และถ้าเป็นลูกจะทำอย่างไร หรือถามว่าลูกรู้สึกอย่างไรกับพฤติกรรมที่เห็น

5. ชมลูกเมื่อเขาแสดงพฤติกรรมที่อ่อนโยน

ชมลูก

เมื่อลูกแสดงพฤติกรรมที่สุภาพและอ่อนโยน คุณพ่อคุณแม่ควรเอ่ยปากชื่นชม เพื่อสร้างความมั่นใจในการแสดงออกของลูก ให้ลูกรู้ว่าเขาทำได้ดีแล้ว

แต่ถ้าลูกเผลอทำตัวไม่น่ารัก คุณพ่อคุณแม่ไม่ควรใช้วิธีดุ ตะคอกรุนแรง หรือตึลูก ไม่ออกคำสั่งว่า ห้าม! หรือ อย่านะ! แต่ควรบอกและทำสิ่งที่ถูกให้ลูกเห็นทันที

อ้างอิง
longwaitforisabella
verywellfamily
liveyourtruth
tlcmusic

Anittha R

หลงรักธรรมชาติของความเป็นเด็ก ชอบดูหนัง ชอบหนังสือนิทาน รักการเลี้ยงต้นไม้ และใฝ่ฝันอยากทำสวนกระบองเพรชที่มีดอกเยอะๆ

COMMENTS ARE OFF THIS POST