READING

สอนลูกให้รู้จักเคารพกฎระเบียบอย่างไร โดยไม่ใช้การบ...

สอนลูกให้รู้จักเคารพกฎระเบียบอย่างไร โดยไม่ใช้การบังคับ

กฎเกณฑ์ กฎกติกา หรือกฎระเบียบ คือกรอบหรือข้อกำหนดที่จะช่วยให้คนในสังคมปฏิบัติตัวอย่างมีขอบเขตที่จะไม่ทำให้ตัวเองและคนอื่นเดือดร้อน เด็กๆ เองก็จำเป็นต้องเรียนรู้กฎระเบียบของสังคม

คุณพ่อคุณแม่หลายคน พออยากให้ลูกเป็นเด็กที่มีพฤติกรรมอยู่ในกฎระเบียบของสังคมจึงใช้วิธีการบังคับ พ่วงไปกับการดุและลงโทษอย่างรุนแรง เมื่อลูกฝ่าฝืนหรือไม่ทำตามกฎที่มี แต่ทั้งหมดนั้น ไม่ใช่วิธีการที่ดีในตอบสนองต่อสิ่งที่ลูกทำเท่าไรนัก เพราะอาจจะยิ่งทำให้ลูกรู้สึกต่อต้านกฎนั้นมากขึ้นไปอีก

ดังนั้น เราลองมาหาวิธีทำให้เด็กๆ รู้สึกว่า การเคารพกฎระเบียบของสังคมเป็นเรื่องที่ใครๆ ก็ทำได้ ไม่ใช่เรื่องยาก เรื่องน่าเบื่อ หรือจำเป็นต้องฝืนใจทำกันดีกว่าค่ะ

1. ใช้น้ำเสียงอ่อนโยนกับลูก

Respectrules_web_1

น้ำเสียงที่คุณพ่อคุณแม่ใช้พูดคุยกับลูกเป็นเรื่องสำคัญอย่างยิ่ง แม้ว่าจะเป็นการพยายามสอนให้ลูกเข้าใจเรื่องกฎระเบียบอยู่ก็ตาม  แต่คุณพ่อคุณแม่ไม่จำเป็นต้องใช้น้ำเสียงที่ดูดุดัน เพื่อข่มหรือขู่ให้ลูกรู้สึกกลัวหรือกำลังถูกบังคับ

แต่คุณพ่อคุณแม่ควรพูดกับลูกด้วยน้ำเสียงปกติ ไม่ข่มขู่ ไม่ดุด่า เพื่อให้ลูกเข้าใจเหตุผลของการมีกฎระเบียบ จะทำให้ลูกเปิดใจและพร้อมจะทำตามกฎระเบียบนั้นด้วยตัวเอง

2. อธิบายเหตุผลของกฎให้ลูกเข้าใจทุกครั้ง

Respectrules_web_2

ไม่ใช่แค่ผู้ใหญ่ที่จะไม่พอใจ เมื่อถูกบังคับให้ทำตามกฎที่ไม่เข้าใจเหตุผล แต่เด็กก็อยากเข้าใจเหตุผลว่าเพราะอะไรเขาถึงทำอะไรได้หรือไม่ได้เช่นกัน

ดังนั้นเมื่อคุณพ่อคุณแม่ตั้งกฎบางอย่างขึ้นมาก็ควรที่จะอธิบายให้ลูกเข้าใจเหตุผลที่ลูกควรจะทำตามกฎนั้น

และนอกจากจะอธิบายให้เด็กได้เข้าใจเหตุผลแล้ว สิ่งสำคัญคือการลองให้ลูกได้พูดทวนถึงกฎที่ตกลงร่วมกัน เพื่อสร้างความเข้าใจที่ตรงกันภายในครอบครัว

3. มานั่งคิดกฎด้วยกันเลยดีกว่า

Respectrules_web_3

แทนที่คุณพ่อคุณแม่จะสร้างกฎต่างๆ สำหรับลูกเพียงฝ่ายเดียว ลองเปลี่ยนเป็นให้ลูกได้มีส่วนร่วมกับการคิดกฎร่วมกันดูสิคะ

ลองเรียกลูกมานั่งด้วยกัน เตรียมกระดาษและดินสอให้เขาได้มีส่วนร่วมในการตัดสินใจและตั้งกฎภายในบ้าน  เช่น “หนูจะต้องอาบน้ำแปรงฟันและเข้านอนตอนสองทุ่ม ตกลงไหมคะ ถ้าหนูไม่เห็นด้วย เราควรเปลี่ยนเป็นเวลาไหนดีคะ”

การเปิดโอกาสให้ลูกได้ร่วมคิดกฎภายในบ้าน ถือเป็นการสร้างแรงจูงใจให้ลูกอยากทำตามกฎและไม่รู้สึกว่าถูกบังคับมากเกินไป

4. ปล่อยให้ลูกได้ทบทวนด้วยตัวเอง

Respectrules_web_4

บางครั้งลูกอาจจะงอแงไม่อยากทำตามกฎที่ตกลงกันไว้ เช่น อยากจะกินขนมก่อนกินอาหารเย็น หรือถึงเวลาเข้านอน แต่ก็ยังอยากจะเล่นต่อไป ถ้าคุณพ่อคุณแม่ใช้วิธีออกคำสั่งห้ามในทันที อาจยิ่งทำให้สถานการณ์เลวร้ายมากขึ้นไปอีก

สิ่งที่คุณพ่อคุณแม่ทำได้ คือการพูดเตือนให้ลูกนึกถึงข้อตกลงที่มีร่วมกันหนึ่งครั้ง  หลังจากนั้นจึงให้ปล่อยลูกได้ใช้ความคิดทบทวนด้วยตัวเอง โดยไม่ต้องไปพูดซ้ำอีก เพราะการพูดซ้ำๆ จะยิ่งทำให้ลูกรู้สึกว่ากฎเป็นเรื่องน่าเบื่อ การปล่อยให้เขาได้มีเวลาทวทวนด้วยตัวเองก็เป็นอีกสิ่งหนึ่งที่ทำได้ค่ะ

5. ลูกทุกคนจะต้องทำตามกฎเหมือนกัน

Respectrules_web_5

หากครอบครัวไหนมีลูกมากกว่าหนึ่งคน กฎที่ใช้กับลูกทุกคนจะต้องเหมือนกัน ไม่ควรมีใครได้สิทธิ์หรือข้อยกเว้นมากกว่าหรือน้อยกว่าคนอื่น เพราะจะทำให้ลูกรู้สึกไม่อยากทำตาม และไม่เห็นความสำคัญของกฎนั้นๆ เช่น ถ้าคุณพ่อคุณแม่ห้ามไม่ให้พี่ตีน้องเด็ดขาด ในขณะเดียวกันก็ควรห้ามไม่ให้น้องลงมือตีพี่ด้วยเช่นกัน

6. สะท้อนสิ่งที่ลูกทำกลับไปให้ลูกเข้าใจ

Respectrules_web_6

หากเด็กทำตามกฎได้ดี ไม่ดื้อ และไม่ร้องไห้ คุณพ่อคุณแม่สามารถพูดชมลูกให้ลูกรู้สึกอบอุ่นและมีกำลังใจว่าสิ่งที่ทำอยู่เป็นเรื่องที่ดี และเขาจะพยายามทำต่อไป โดยไม่จำเป็นต้องพูดซ้ำ หรือบังคับอีกต่อไป

แต่หากลูกชอบฝ่าฝืนหรือไม่ยอมทำตามกฎ คุณพ่อคุณแม่ก็สามารถตอบสนองให้เขาเห็นว่าเขาทำไม่ถูก ด้วยการพูดคุยและอธิบายว่าลูกกำลังทำผิดกฎที่เราตกลงกัน ผลของมันจะเป็นอย่างไร และทำให้คุณพ่อคุณแม่รู้สึกอย่างไรที่เห็นว่าลูกไม่ทำตามกฎกติกาของครอบครัว

อ้างอิง
parents
thesocialexpress
childmind
positiveparentingconnection
cdc

Anittha R

หลงรักธรรมชาติของความเป็นเด็ก ชอบดูหนัง ชอบหนังสือนิทาน รักการเลี้ยงต้นไม้ และใฝ่ฝันอยากทำสวนกระบองเพรชที่มีดอกเยอะๆ

RELATED POST

COMMENTS ARE OFF THIS POST