อาจเป็นเรื่องปกติที่ผู้ใหญ่เห็นเด็กน่ารักๆ แล้วก็อยากจะเข้าไปทำความรู้จัก “แก้มน่าหม่ำจังเลย” หรือ “มือนุ้มนุ่ม” ขอจับแก้มนิด ขอจับมือหน่อย แต่ด้วยความรู้เท่าไม่ถึงการณ์ กะระดับการสัมผัสไม่ถูก ผู้ใหญ่อาจเผลอลงแรงกับเด็กมากไปหน่อย
เราเลยขอเอาวิธีการเข้าหาเด็กๆ มาฝากกัน เผื่อว่าเจอน้องๆ แก้มจ้ำม่ำคราวหน้า จะได้ทักทายและแสดงความเอ็นดูได้อย่างถูกวิธี และไม่เป็นอันตรายต่อเด็กๆ ด้วย
1. ขออนุญาตผู้ปกครองของเด็กก่อนทุกครั้ง
ถ้าคิดว่าน้องน่ารัก ก็เข้าไปขอกับผู้ปกครองของน้องเลยว่า “ขอแตะได้ไหม ขออุ้มได้ไหม” จะได้ทราบไปด้วยว่าคุณพ่อคุณแม่เขาเต็มใจหรือไม่ รวมไปถึงตัวน้องเองยินยอมให้เราสัมผัสตัวด้วยหรือไม่
2. มีขอบเขตที่พอเหมาะ อย่าสัมผัสเด็กแบบใกล้ชิดเกินไป
ไม่ควรจับที่ใบหน้า แก้ม หรือมือของเด็ก เพื่อป้องกันการแพร่เชื้อโรคให้กับเด็กเล็ก และเพื่อป้องกันการคุ้นชินกับคนแปลกหน้าง่ายๆ ในเด็กโต
สิ่งที่ไม่ควรทำอย่างยิ่งคือการจับแก้ม หอมแก้ม หรือสัมผัสบริเวณใบหน้าของเด็กน้อย เพราะเป็นตำแหน่งที่เชื้อโรคสามารถเล็ดลอดเข้าไปในร่างกายเด็กได้ง่ายที่สุด (ตา จมูก และปาก)
3. อย่ารู้สึกโกรธ หากผู้ปกครองของเด็ก
แสดงออกถึงความไม่ยินดีที่จะให้คุณเล่นกับเด็ก
เพราะผู้ปกครองเองก็ไม่อาจทราบได้ว่า คนที่เข้ามาหาลูกของเขาเป็นใคร เป็นคนที่เอ็นดูเด็กจริงๆ หรือเป็นมิจฉาชีพแฝงตัวมา รวมไปจนถึงอาจทำให้เด็กตกใจ งอแง หรือป่วยไข้ได้ในที่สุด
4. เมื่อคุณเห็นเด็กน่ารักๆ อาจเพียงแค่ส่งยิ้ม
หรือพูดคุยหยอกเย้าก็พอ
เพราะการที่มีคนแปลกหน้าเข้าไปจับ อุ้ม หรือสัมผัสเด็กนั้น อาจก่อให้เกิดผลเสียกับสุขภาพกายและจิตใจของเด็กได้
5. ขอโทษทันที ถ้าเผลอสัมผัสเด็กแรงเกินไป
ผู้ใหญ่บางคนอาจไม่รู้วิธีการเข้าหา สัมผัส หรือดูแลเด็ก ไม่รู้ว่าเวลารู้สึกหมั่นไส้ หมั่นเขี้ยวแล้วจะทำอย่างไรกับความน่ารักของเด็กน้อย แต่หากพลาดพลั้งไปจริงๆสิ่งที่ผู้ใหญ่จะต้องเรียนรู้และทำได้ทันทีคือการขอโทษ ทั้งกับตัวเด็กและผู้ปกครอง เพราะจะทำให้เด็กเกิดการเรียนรู้ว่า ผู้ใหญ่ก็รู้สึกเสียใจ หากการแสดงความเอ็นดูนั้นทำให้เขารู้สึกไม่ดี
สำหรับคุณพ่อคุณแม่ที่ต้องการพาลูกไปตามสถานที่สาธารณะนั้น ควรรอให้ลูกอยู่ในวัยที่เหมาะสม (รศ.นพ.สุริยเดว ทรีปาตี—กุมารแพทย์ผู้เชี่ยวชาญด้านเด็กและวัยรุ่น ได้ให้คำแนะนำในรายการทุบโต๊ะข่าว ช่องอมรินทร์ทีวีว่า ไม่ควรพาเด็กอายุต่ำกว่าหนึ่งปีออกไปในที่สาธารณะ) และไม่ควรปล่อยให้ลูกคลาดสายตา หรือวางใจเมื่อมีคนแปลกหน้าเข้ามาเล่นหรือทักทายลูกอย่างใกล้ชิด
NO COMMENT