READING

โตไปไม่ซึมเศร้า 5 ทริกสร้างสุขภาพจิตที่ดีให้ลูกตั้...

โตไปไม่ซึมเศร้า 5 ทริกสร้างสุขภาพจิตที่ดีให้ลูกตั้งแต่ยังเล็ก

ภาวะซึมเศร้าในเด็ก

หากพูดถึงความเครียดและภาวะซึมเศร้า หลายคนอาจนึกว่าเป็นเรื่องของผู้ใหญ่ที่ต้องเผชิญกับความเครียดจากการทำงานหรือปัญหาในชีวิตประจำวันเท่านั้น

แต่ความจริงแล้ว อัตราการเกิดภาวะซึมเศร้าที่สูงขึ้นอย่างต่อเนื่อง ไม่ได้เพิ่มขึ้นในกลุ่มผู้ใหญ่เท่านั้น แต่ ภาวะซึมเศร้าในเด็ก หรือภาวะซึมเศร้าที่เกิดขึ้นกับเด็กอายุต่ำกว่า 15 ปี ก็มีอัตราสูงขึ้นเช่นกัน

การดูแลสุขภาพจิตลูก จึงกลายเรื่องที่คุณพ่อคุณแม่ยุคใหม่ต้องให้ความสำคัญและดูแลอย่างใกล้ชิด เพราะเด็กก็สามารถเป็นโรคซึมเศร้าได้โดยที่คุณพ่อคุณแม่ไม่ทันสังเกตและไม่รู้วิธีรับมืออาการซึมเศร้าของลูกได้

เพื่อป้องกันการเกิด ภาวะซึมเศร้าในเด็ก เราจึงรวบรวม 5 ทริกสร้างสุขภาพจิตที่ดีให้ลูกตั้งแต่ยังเล็ก เพื่อให้ลูกเป็นเด็กที่มีสภาพจิตใจเข้มแข็ง สามารถรับมือกับความเครียดและความกดดันต่อไปได้

1. สอนให้ลูกเข้าใจอารมณ์ตัวเอง

MentallyTough_web_1

การสอนให้ลูกสามารถเข้าใจและแยกแยะอารมณ์ของตัวเองได้ เป็นก้าวแรกในการสร้างความแข็งแกร่งให้กับจิตใจ ทำให้ลูกมีเครื่องมือพื้นฐานในการจัดการอารมณ์ต่างๆ ได้อย่างเหมาะสม

คุณพ่อคุณแม่อาจใช้วิธีพูดคุยและถามถึงอารมณ์และความรู้สึกในชีวิตประจำวันของลูก เช่น วันนี้ไปโรงเรียนเป็นยังไงบ้าง หรือ ทำไมวันนี้ลูกถึงโกรธเพื่อน เป็นการฝึกให้ลูกเรียนรู้ที่จะแสดงความรู้สึก และในเวลาเดียวกันยังช่วยให้คุณพ่อคุณแม่เข้าใจลูกและช่วยเหลือได้อย่างมีประสิทธิภาพมากขึ้น

2. เป็น Safe Zone ให้ลูก

MentallyTough_web_2

สภาพแวดล้อมที่อบอุ่นและเต็มไปด้วยความรักจากครอบครัว จะช่วยให้ลูกรู้สึกมั่นคงและเชื่อมั่นในตัวเองมากขึ้น คุณพ่อคุณแม่ควรให้เวลากับลูก คอยให้กำลังใจและคำแนะนำเมื่อลูกรู้สึกไม่สบายใจหรือต้องการความช่วยเหลือ หากลูกไว้ใจและกล้าเปิดใจปรึกษาปัญหากับคุณพ่อคุณแม่ ก็จะช่วยลดความเครียด ความวิตกกังวล และความเสี่ยงที่จะแก้ปัญหาผิดๆ จนนำไปสู่เรื่องที่ยุ่งยากยิ่งกว่าได้

3. ส่งเสริมให้ลูกทำกิจกรรมเพื่อพัฒนาทักษะสังคม

MentallyTough_web_3

การปรับตัวเข้ากับสังคมหรือสิ่งแวดล้อมใหม่ๆ ไม่ได้ นับเป็นหนึ่งในปัจจัยที่ทำให้เกิดภาวะซึมเศร้าในเด็ก คุณพ่อคุณแม่จึงควรเสริมทักษะการเข้าสังคม ให้ลูกได้เรียนรู้การปรับตัว การสื่อสาร และการจัดการความขัดแย้งด้วยตัวเอง

คุณพ่อคุณแม่สามารถส่งเสริมให้ลูกทำกิจกรรมร่วมกับคนอื่นได้ง่ายๆ เช่น ปล่อยให้ลูกเล่นกับเพื่อนที่เจอในสนามเด็กเล่น หรือมีปฏิสัมพันธ์กับญาติพี่น้องหลากหลายช่วงวัย ก็ช่วยฝึกทักษะทางสังคมให้ลูกได้เช่นกัน

4. สอนให้ลูกมีความยืดหยุ่นและยอมรับความผิดพลาดให้ได้

MentallyTough_web_4

ในชีวิตจริงไม่มีใครที่จะประสบความสำเร็จไปหมดทุกด้าน การสอนให้ลูกเข้าใจว่าความผิดพลาดเป็นส่วนหนึ่งของกระบวนการเรียนรู้ จะช่วยให้ลูกมีความยืดหยุ่นและไม่ตกใจ เมื่อเจออุปสรรคหรือความท้าทาย

คุณพ่อคุณแม่อาจสอนลูกผ่านการเล่นเกมที่ต้องใช้ความพยายามในการผ่านด่านแต่ละด่าน เพื่อให้ลูกสนุกและไม่เครียดจนเกินไป

5. รักษาสมดุลระหว่างการเรียนและการพักผ่อน

MentallyTough_web_5

การรักษาสมดุลระหว่างการเรียนและการพักผ่อนสำคัญมาก เพราะการพักผ่อนทำให้สมองและจิตใจได้ฟื้นฟู คุณพ่อคุณแม่จึงควรมี Free time ให้ลูกได้ทำกิจกรรมที่เขาชอบตามประสาเด็ก จะช่วยลดความเครียดและเติมพลังให้กับจิตใจ ทำให้ลูกไม่รู้สึกกดดันและสามารถรับมือกับความท้าทายในชีวิตได้ดีขึ้น

 

อ่านบทความ: TALK WITH DOCTOR: พ่อแม่จะรับมืออย่างไร เมื่อลูกเป็นโรคซึมเศร้า และอยากฆ่าตัวตาย
อ้างอิง
Parents
Mentalhealthfoundation

Supinya R.

ชอบอ่านนิยายสยองขวัญ ชอบเขียนไดอารี่ และเป็นคุณแม่จำเป็นในบางเวลา :-)

RELATED POST

COMMENTS ARE OFF THIS POST