READING

4 ประโยชน์ของการฝึกให้ลูกเขียนบ่อยๆ...

4 ประโยชน์ของการฝึกให้ลูกเขียนบ่อยๆ

hand writing

ทักษะการเขียนนั้นมีประโยชน์และสำคัญต่อการดำรงชีวิตไม่น้อยไปกว่าทักษะทางภาษาด้านอื่นๆ ไม่ว่าจะเป็นการพูดหรืออ่าน เพราะคนที่มีทักษะการเขียนที่ดีนั้นจะสามารถเรียบเรียงความคิด และถ่ายทอดออกมาเป็นข้อมูลได้อย่างถูกต้อง และสามารถสื่อสารให้คนทั่วไปเข้าใจได้ครบถ้วน สมบูรณ์ และมีศิลปะทางภาษา

ดังนั้นนอกจากคุณพ่อคุณแม่จะฝึกให้ลูกพูดและอ่านได้อย่างคล่องแคล่วแล้ว การฝึกให้ลูกรักการเขียนผ่านกิจกรรมเล็กๆ น้อยๆ ในชีวิตประจำวัน ก็มีความจำเป็นต่อการพัฒนาทักษะการเขียนและส่งผลดีต่อการเติบโตของลูกเช่นกัน

และนี่คือ 4 ประโยชน์ที่เด็กๆ จะได้รับจากการฝึกเขียนเป็นประจำที่เรารวบรวมมาบอกคุณพ่อคุณแม่ ให้ช่วยกันฝึกและพัฒนาทักษะการเขียนของลูกอย่างสม่ำเสมอไปด้วยกันค่ะ

1. ลูกมีพัฒนาการทางกล้ามเนื้อมัดเล็กมากขึ้น

writing

การที่เด็กเล็กได้จับดินสอ เพื่อขีดเขียน วาดรูป หรือเขียนตัวหนังสือลงบนกระดาษ เป็นหนึ่งในวิธีที่จะช่วยให้เด็กได้ฝึกทักษะการเคลื่อนไหวของกล้ามเนื้อมัดเล็ก ซึ่งสามารถต่อยอดไปสู่ความสามารถในการทำกิจกรรมที่เกี่ยวกับการใช้มือต่อไป เช่น เล่นดนตรี ทำงานฝีมือ และทำงานศิลปะได้ดี

2. สมองมีการพัฒนา

writing

งานวิจัยของมหาวิทยาลัยวอชิงตัน ได้ค้นพบว่า เด็กๆ ที่เขียนตัวอักษรด้วยลายมือที่สวยงาม มักจะมีประสาทที่เฉียบไวกว่าเด็กที่เขียนลายมือไม่สวย แม้จะยังไม่ทราบถึงสาเหตุหรือความเกี่ยวข้องที่ชัดเจน แต่ก็ถือเป็นโอกาสที่ดีที่คุณพ่อคุณแม่จะฝึกให้ลูกหัดเขียนตัวหนังสือด้วยลายมือที่บรรจงและสวยงาม เพื่อประโยชน์ต่อตัวลูกในอนาคต

3. ช่วยส่งเสริมด้านการอ่านได้ดี

writing

มาเรีย คอนนิโควา—นักจิตวิทยาและคอลัมนิสต์ได้เขียนบทความลงหนังสือพิมพ์ New York Times โดยกล่าวว่า การเริ่มต้นให้เด็กๆ เขียนด้วยลายมือ เป็นวิธีการที่จะช่วยให้เด็กได้เรียนรู้การอ่านได้เร็วยิ่งขึ้น อีกทั้งยังทำให้เกิดความคิดและการเก็บข้อมูลได้ดีอีกด้วย นั่นเพราะการขีดเขียนหรือการจดบันทึก มีส่วนทำให้เด็กสามารถจดจำรายละเอียดต่างๆ ได้อย่างมีประสิทธิภาพ

4. ป้องกันความบกพร่องทางการอ่าน

writing

มีผลการวิจัยหลายชิ้นที่ให้ผลตรงกันว่า การเขียนตัวอักษรภาษาอังกฤษ อาจช่วยป้องกันความบกพร่องในการเรียนรู้ได้ เนื่องจากเด็กหลายคนมีปัญหาในการเขียนตัวอักษรให้ถูกต้อง ทั้งนี้การฝึกเขียนอาจช่วยป้องกันความสับสนง่ายๆ ที่เกิดกับการอ่านได้ เช่น การเขียนตัว p และ ตัว q

ถึงแม้ว่าความบกพร่องในการเขียนกับความบกพร่องในการอ่านจะเป็นคนละเรื่องกัน แต่ก็มักจะปรากฏอาการร่วมกัน และมีแนวโน้มว่าอาการหนึ่งจะไปส่งเสริมให้อีกอาการหนึ่งชัดเจนมากขึ้นไปด้วย

 

การทำให้ลูกรักการเขียน คือการให้ลูกได้รู้สึกสนุกสนานกับและมีความสุขกับการจับดินสอหรือปากกาเพื่อขีดเขียนหรือวาดรูป คุณพ่อคุณแม่จึงไม่ควรเข้มงวดหรือบังคับให้ลูกเขียนมากเกินไป เพราะจะทำให้ลูกอึดอัด ไม่อยากเรียนรู้ ส่งผลให้ลูกกลายเป็นเด็กไม่ชอบเขียน และรู้สึกไม่สบายใจทุกครั้งที่ต้องลงมือเขียนต่อไปได้

 

อ้างอิง
raisingchildren
babybonus

Supinya R.

ชอบอ่านนิยายสยองขวัญ ชอบเขียนไดอารี่ และเป็นคุณแม่จำเป็นในบางเวลา :-)

COMMENTS ARE OFF THIS POST