เมื่อลูกถึงวัยที่ต้องไปโรงเรียน อาการร้องไห้งอแง กอดขากอดแขนคุณพ่อคุณแม่ เพราะไม่อยากไปโรงเรียน ก็เป็นเรื่องปกติธรรมดา เพราะลูกยังไม่คุ้นเคยที่ต้องอยู่ห่างกับคุณพ่อคุณแม่เป็นเวลานาน
แต่ถ้าหากลูกโตพอที่จะรับรู้หน้าที่และมีความรับผิดชอบของตัวเองแล้ว คุณพ่อคุณแม่ยังต้องเจอปัญหา ลูกไม่อยากไปโรงเรียน อยู่เรื่อยๆ นั่นอาจเป็นเรื่องที่ต้องลองคิดทบทวนเพื่อหาสาเหตุที่ทำให้ ลูกไม่อยากไปโรงเรียน กันอย่างจริงจังอีกครั้ง
เพราะนอกจากปัจจัยเรื่องช่วงวัย ความกังวลตามธรรมชาติ และสถานการณ์ที่โรงเรียน ที่จะส่งผลต่อทัศนคติที่ลูกมีต่อโรงเรียนแล้ว พฤติกรรมของคุณพ่อคุณแม่ ก็อาจมีส่วนที่ทำให้ลูกไม่ชอบโรงเรียนและรู้สึกไม่อยากไปโรงเรียนได้เช่นกัน
ดังนั้น เพื่อช่วยให้ลูกกลับมามีความสุขกับการไปโรงเรียนอีกครั้ง ลองมาสำรวจพฤติกรรมของตัวเองกันดีกว่าค่ะว่า เรามีส่วนในการทำให้ลูกกลายเป็นเด็กที่ไม่อยากไปโรงเรียนด้วยหรือไม่นะ
1. กดดันเรื่องผลการเรียนมากเกินไป

คุณพ่อคุณแม่ที่คาดหวังในตัวลูกมากเกินไป โดยเฉพาะเมื่อเข้าโรงเรียนแล้ว ต้องทำคะแนนได้ดี และมักจะแสดงอาการผิดหวังเสียใจในตัวลูก เมื่อผลการเรียนของลูกไม่เป็นไปตามที่ตัวเองต้องการ ก็จะทำให้ลูกไม่อยากไปโรงเรียน เพราะรู้สึกเครียด กดดัน และไม่มีความสุขกับการเรียนหนังสืออีกต่อไป
2. เปรียบเทียบลูกกับคนอื่น

การพูดเปรียบเทียบลูกกับเด็กคนอื่นในโรงเรียน หรือเปรียบเทียบเรื่องเรียนของลูกกับพี่น้องในครอบครัว เพราะอาจทำให้ลูกสูญเสียความมั่นใจและมองว่าตัวเองไม่สามารถทำได้ดีเท่าคนอื่น ส่งผลให้เกิดความอิจฉาและทัศนคติลบต่อโรงเรียนนั้นเอง
3. ไม่ให้ความสำคัญกับความรู้สึกของลูก

เมื่อลูกเจอปัญหา เช่น ถูกเพื่อนแกล้ง คุณครูทำให้อับอาย หรือมีอะไรไม่ดีเกิดขึ้นที่โรงเรียน แต่คุณพ่อคุณแม่ละเลยหรือมองว่าเป็นเรื่องไม่สำคัญ และไม่คิดหาทางแก้ปัญหาให้ลูก ทำให้ลูกต้องพยายามช่วยเหลือตัวเองด้วยการหลีกเลี่ยงที่จะไปโรงเรียนให้ได้มากที่สุด
4. ใช้การไปโรงเรียนหรือคุณครูในการขู่ในลูกกลัว

คุณพ่อคุณแม่อาจเผลอใช้คำพูดถึงโรงเรียนและคุณครูในแง่ลบให้ลูกฟัง เพื่อขู่เวลาต้องการให้ลูกเชื่อฟัง เช่น “ถ้าลูกไม่ตั้งใจเรียน คุณครูก็จะทำโทษ” หรือ “ถ้าไปโรงเรียนสาย คุณครูจะไม่ให้กลับบ้าน”การพูดเช่นนี้อาจทำให้ลูกเกิดความกลัวและมีทัศนคติที่ไม่ดีต่อคุณครูและโรงเรียนได้
5. แสดงทัศนคติเชิงลบต่อโรงเรียนหรือการเรียน

หากคุณพ่อคุณแม่ชอบพูดถึงโรงเรียนในเชิงลบให้ลูกฟัง เช่น “โรงเรียนนี้ ครูให้การบ้านลูกเยอะเกินไป” หรือ “โรงเรียนลูกไม่ดีเท่าโรงเรียนอื่น” ลูกก็จะรู้สึกไม่ดี ไม่ภูมิใจในโรงเรียนของตัวเอง
นอกจากนี้ การที่คุณพ่อคุณแม่ไม่ให้ความสำคัญ หรือไม่แสดงความสนใจเกี่ยวกับการเรียนของลูก เช่น ไม่ถามถึงกิจกรรมในโรงเรียน ไม่ให้ความร่วมมือกับกิจกรรมที่โรงเรียนลูก ไม่ช่วยสอนการบ้าน ความละเลยนี้ อาจทำให้ลูกรู้สึกแปลกแยกเมื่อต้องไปโรงเรียน รู้สึกว่าโรงเรียนไม่มีความสำคัญกับคุณพ่อคุณแม่ จนกลายเป็นความไม่อยากไปโรงเรียนได้
COMMENTS ARE OFF THIS POST