ปัจจุบันบทบาทหน้าที่ของ ‘คุณพ่อ’ ไม่ได้มีความสำคัญแค่เป็นคนที่ต้องทำงานหาเงินมาให้ครอบครัว แต่ยังต้องเป็นผู้ช่วยที่ดีของคุณแม่ รวมถึงเป็นทั้งเพื่อน ตัวอย่างที่ดี และที่ปรึกษาที่ลูกไว้วางใจอีกด้วย
คุณพ่อจึงไม่ได้ถูกคาดหวังให้เป็นเพียง หัวหน้าครอบครัว ที่แข็งแกร่ง แต่ยังต้องเป็นสามีที่มีความเป็นผู้นำ แต่ก็ต้องแบ่งเบาภาระหน้าที่ของภรรยาได้ เป็นคุณพ่อที่อบอุ่น เข้มแข็ง แต่ก็ต้องเล่นสนุกสนานเฮฮากับลูกได้ และที่สำคัญก็คือต้องรับผิดชอบหน้าที่การงานของตัวเองได้อย่างไม่บกพร่อง
นั่นทำให้คุณพ่อหลายคน รู้สึกหนักใจในบทบาท หัวหน้าครอบครัว ที่หนักหนาสาหัสมากขึ้นหลังมีลูก และกังวลว่าจะสามารถทำหน้าที่นี้ได้ไม่ดีเท่าที่ควร แต่ความกังวลเช่นนี้เกิดขึ้นได้กับพ่อแม่ทุกคน เพราะความเครียดและเหนื่อยล้าจากการเลี้ยงลูก การมีภาระหน้าที่ให้รับผิดชอบมากขึ้น ย่อมทำให้เสียความมั่นใจในตัวเองได้
บทความนี้จึงขอเสนอวิธีจัดการความรู้สึกเมื่อคุณพ่อมือใหม่อาจคิดว่าตัวเองกำลังจะเป็นหัวหน้าครอบครัวที่ไม่ดีพอ แล้วค่อยๆ เรียนรู้ไปด้วยกันนะคะ
1. คุณพ่อต้องยอมรับความรู้สึกของตัวเอง

ความรู้สึกว่าตัวเองทำหน้าที่บกพร่องอาจเกิดขึ้นกับคุณพ่อได้บ่อยๆ การยอมรับความรู้สึกที่ว่าทุกคนสามารถทำผิดพลาดได้จึงเป็นขั้นตอนแรกที่สำคัญ เพราะการปฏิเสธหรือกดดันตัวเองว่าต้องเป็นคุณพ่อที่ดีที่สุด จะทำให้คุณพ่อทำหน้าที่ของตัวเองด้วยความเครียดและไม่มีความสุข การพูดคุยกับคนใกล้ชิด เช่น ภรรยา หรือเพื่อนสนิท อาจช่วยให้คุณพ่อรู้สึกผ่อนคลาย มองเห็นมุมมองใหม่ๆ และอาจได้เพื่อนที่อยู่ในสถานการณ์คล้ายกันมากขึ้น
2. ปรับมุมมองต่อคำว่า ‘หัวหน้าครอบครัว’

การเป็นหัวหน้าครอบครัวไม่ได้หมายความว่าต้องสมบูรณ์แบบ หรือรับผิดชอบทุกอย่างตามลำพัง เพราะหัวหน้าครอบครัวที่ดีก็คือคนที่พร้อมจะเรียนรู้ แบ่งปัน และให้ความร่วมมือกับสมาชิกในครอบครัว หรือทำตัวเป็นผู้ช่วยที่ดีคอยซัปพอร์ตคุณแม่นั่นเอง และหากมีบางสิ่งที่คุณพ่อทำผิดพลาด ขอให้ลองคิดว่านั่นเป็นโอกาสในการเติบโตและพัฒนาตัวเองต่อไป
3. เปิดใจสื่อสารกับครอบครัวอย่างตรงไปตรงมา

เมื่อรู้สึกกังวล ไม่สบายใจ หรือเป็นฝ่ายต้องการความช่วยเหลือ คุณพ่อก็สามารถเปิดใจพูดคุยกับคนในครอบครัวได้ โดยไม่ต้องกลัวว่าจะเป็นการแสดงความอ่อนแอให้คนอื่นเห็น ในทางกลับกัน การเปิดใจสื่อสารอย่างตรงไปตรงมาจะช่วยสร้างความเข้าใจภายในครอบครัวมากขึ้น แล้วคุณพ่ออาจพบว่าสิ่งที่กังวลนั้นไม่ได้แย่อย่างที่คิดก็เป็นได้
4. ตั้งเป้าหมายเล็กๆ ที่ทำได้จริง

แทนที่จะพยายามแก้ปัญหาทุกอย่างในคราวเดียว คุณพ่อลองตั้งเป้าหมายเล็กๆ ที่สามารถทำให้สำเร็จได้ในระยะสั้น เช่น ตั้งใจว่าสัปดาห์นี้จะใช้เวลากับลูกให้มากขึ้น หรือเดือนนี้จะจัดการการเงินในบ้านให้ดีขึ้น การบรรลุเป้าหมายเล็กๆ ที่เกิดขึ้นได้อย่างรวดเร็ว จะช่วยลดความรู้สึกด้อยค่าตัวเอง และเพิ่มความมั่นใจจนสามารถทำเป้าหมายที่ยิ่งใหญ่ขึ้นได้ต่อไป
5. ดูแลตัวเองและขอความช่วยเหลือเมื่อจำเป็น

จะเป็นคุณพ่อที่ดีต้องไม่ลืมที่จะดูแลตัวเองให้ดีด้วย การพักผ่อน ออกกำลังกาย หรือทำกิจกรรมที่ช่วยผ่อนคลายจะช่วยให้คุณพ่อมีพลังและสมาธิในการรับมือกับความท้าทายและปัญหาในครอบครัวได้ดีขึ้น และหากรู้สึกว่าไม่สามารถจัดการความรู้สึกได้ด้วยตัวเอง การขอคำปรึกษาจากนักจิตวิทยาหรือผู้เชี่ยวชาญก็เป็นอีกทางเลือกที่ไม่ควรมองข้าม
สุดท้าย ความรู้สึกว่าตัวเองบกพร่องเป็นเรื่องธรรมดาที่เกิดขึ้นกับคุณพ่อหรือคุณแม่ทุกคนได้ สิ่งสำคัญก็คือการยอมรับความรู้สึก ปรับมุมมอง และเรียนรู้ที่จะเติบโตจากสถานการณ์เหล่านั้น แล้วความรักและความพยายามในการทำเพื่อครอบครัวก็จะไม่สูญเปล่าแน่นอนค่ะ
COMMENTS ARE OFF THIS POST