READING

ลูกเอาแต่ใจ: 4 เทคนิครับมือลูกเป็นเด็กเอาแต่ใจตัวเ...

ลูกเอาแต่ใจ: 4 เทคนิครับมือลูกเป็นเด็กเอาแต่ใจตัวเอง

ลูกเอาแต่ใจ

เว็บไซต์ American Academy of Pediatrics กล่าวถึงพฤติกรรมเอาแต่ใจของเด็กว่าเกิดจากการวิธีการเลี้ยงดูที่ล้มเหลว และเด็กที่มีนิสัยเอาแต่ใจ ยังถูกมองว่าเป็นคนเห็นแก่ตัวและหลงตัวเองอีกด้วย

สัญญาณที่ทำให้คุณพ่อคุณแม่รู้ว่ากำลังต้องเผชิญหน้ากับ ลูกเอาแต่ใจ เข้าให้แล้ว เช่น ลูกไม่เชื่อฟัง มีพฤติกรรมต่อต้าน ไม่พอใจสิ่งที่พ่อแม่หามาให้ ไม่รู้จักรอคอย แสดงความต้องการด้วยประโยคคำสั่งเสมอ และไม่เคารพกฎกติกาของสังคม

คุณพ่อคุณแม่ที่มี ลูกเอาแต่ใจ จึงมักจะพยายามแก้ไขหรือเปลี่ยนแปลงนิสัยลูกด้วยการดุ ต่อว่า หรือทำโทษให้เข็ดหลาบ โดยไม่ทันคิดหาวิธีแก้ที่ต้นเหตุหรือรับมือลูกด้วยพฤติกรรมเชิงบวก

4 วิธีรับมือ ลูกเอาแต่ใจตัวเอง

1. มีข้อตกลงที่เหมาะสมตามช่วงวัย

unspoil_web_1

เด็กเล็ก เป็นวัยแห่งการเรียนรู้ จึงจำเป็นต้องมีคุณพ่อคุณแม่คอยดูแลและให้คำแนะนำอย่างใกล้ชิด เพราะลูกยังไม่สามารถแยกแยะได้ว่าอะไรควรทำหรือไม่ควรทำ การมีข้อตกลงเหมาะสมกับช่วงวัยของลูกจะช่วยกำหนดขอบเขตให้ลูกรู้ว่าอะไรทำได้หรือไม่ได้ โดยไม่ต้องทดลองทำเพื่อท้าทายคุณพ่อคุณแม่ เช่น ในวัยอนุบาล คุณพ่อคุณแม่สามารถสร้างข้อตกลงว่า ลูกต้องอาบน้ำเปลี่ยนเสื้อผ้าทันทีที่กลับจากโรงเรียน หรือลูกจะต้องแปรงฟันทันทีหลังกินขนมหวาน การสร้างข้อตกลงร่วมกันภายในบ้านจะทำให้คุณพ่อคุณแม่ไม่ต้องคอยบอกหรือออกคำสั่งกับลูกซ้ำๆ และยังเป็นการฝึกให้ลูกมีระเบียบวินัย รู้หน้าที่ของตัวเอง และช่วยลดนิสัยเอาแต่ใจลงได้

2. ใจดี แต่ไม่ตามใจ

unspoil_web_2

คุณพ่อคุณแม่หลายคนไม่อยากเป็นพ่อแม่ใจร้ายในสายตาลูก จึงพยายามตามใจ ยอมให้ลูกทำอะไรก็ได้ อยากได้อะไรก็ต้องได้ หรือรีบตอบสนองความต้องการของลูกทันที

แต่ความจริงแล้วการตามใจลูกมากเกินไป นอกจากจะเป็นการทำให้ลูกเข้าใจว่าตัวเองเป็นศูนย์กลางของทุกสิ่ง ยังทำให้ลูกไม่มีความอดทน รอคอยไม่เป็น เมื่อไม่ได้ดังใจก็จะเริ่มแสดงพฤติกรรมอาละวาดก้าวร้าว เพื่อกดดันให้คุณพ่อคุณแม่รีบตอบสนองความต้องการของตัวเอง

ดังนั้น การจะเป็นพ่อแม่ที่ใจดี จึงไม่ได้หมายความว่าต้องตามใจลูกทุกอย่าง แต่คุณพ่อคุณแม่สามารถเลือกตามใจลูกในสิ่งที่เหมาะสมและอธิบายเหตุผลว่าทำไมบางครั้งลูกถึงต้องยอมถูกขัดใจบ้าง เช่น แม่จะไม่ซื้อของเล่นชิ้นนี้ให้ เพราะลูกมีของที่เหมือนกันอยู่แล้วที่บ้าน และถ้าลูกอยากได้จริงๆ คุณแม่อนุญาตให้ลูกเก็บเงินให้ครบก่อนแล้วเราค่อยมาซื้อกันอีกครั้งนะคะ

3. มีเหตุผลกับทุกเรื่องเสมอ

unspoil_web_3

คุณพ่อคุณแม่หลายคนเข้าใจว่าการอธิบายเหตุผลให้ลูกฟังเป็นเรื่องเสียเวลาเปล่า เพราะลูกยังเด็กเกินกว่าจะเข้าใจเหตุผลของผู้ใหญ่ได้แต่ความจริงแล้ว ลูกสามารถเรียนรู้และรับฟังเหตุผลของคุณพ่อคุณแม่เสมอ เพราะฉะนั้น หากคุณพ่อคุณแม่อยากให้ลูกทำหรือไม่ทำอะไร ก็ควรอธิบายเหตุผลให้ลูกฟังเสมอ เช่น ที่แม่ห้ามลูกวิ่งเล่นในที่สาธารณะ เพราะลูกอาจจะวิ่งชนคนอื่นและทำให้ข้าวของคนอื่นเสียหาย และเป็นอันตรายต่อตัวลูกเองได้ เพียงเท่านี้ลูกก็จะเข้าใจเหตุผลที่โดนห้ามไม่ให้วิ่งเล่น และไม่พยายามฝ่าฝืนหรือต่อต้านคุณพ่อคุณแม่แล้วล่ะค่ะ

4. ลงโทษลูกเมื่อจำเป็น

unspoil_web_4

หากลูกมีพฤติกรรมเอาแต่ใจมากเกินไป แม้ว่าไม้เรียวในมือจะสั่นแค่ไหน คุณพ่อคุณแม่ก็ไม่ควรลงโทษลูกด้วยอารมณ์หรือใช้วิธีรุนแรง เพราะถึงแม้ว่าการลงโทษจะช่วยหยุดพฤติกรรมของลูกได้ แต่ก็ได้ผลเพียงชั่วคราวเท่านั้น และยังเป็นการส่งเสริมให้ลูกดื้อและเอาแต่ใจมากขึ้น

ดังนั้นการลงโทษของคุณพ่อคุณแม่ควรจะเกิดขึ้นในเวลาที่จำเป็น เช่น ลูกไม่ทำตามข้อตกลงที่บอกว่าจะแปรงฟันหลังกินขนม ดังนั้นจึงโดนลงโทษด้วยการงดขนมไปตลอดสัปดาห์

อ้างอิง
parents
HealthyPlace
camri

Supinya R.

ชอบอ่านนิยายสยองขวัญ ชอบเขียนไดอารี่ และเป็นคุณแม่จำเป็นในบางเวลา :-)

RELATED POST

COMMENTS ARE OFF THIS POST