ภาพเด็กนักเรียนถือกระเป๋านักเรียนใบใหญ่หรือสะพายเป้นักเรียนที่หนักอึ้งบนบ่า ไม่ใช่เรื่องใหม่ในสังคมไทย
แต่กลับไม่ค่อยมีคนให้ความสำคัญว่าการมี กระเป๋านักเรียนหนัก เกินไปสำหรับเด็กๆ แล้ว ความหนักไม่ได้หมายถึงความไม่สะดวกสบายอย่างเดียว แต่ยังส่งผลต่อปัญหาทางด้านร่างกายต่อไปได้
American Academy of Pediatrics หรือ สถาบันกุมารเวชศาสตร์อเมริกัน แนะนำว่าน้ำหนักของกระเป๋านักเรียนที่เหมาะสมคือ ไม่เกิน 10 เปอร์เซ็นต์ของน้ำหนักตัวเด็ก และไม่ควรให้เด็กต้องมีกระเป๋านักเรียนที่น้ำหนักเกิน 20 เปอร์เซ็นต์ของน้ำหนักตัว
นอกจากนี้ นายแพทย์ สมศักดิ์ อรรฆศิลป์ อธิบดีกรมการแพทย์ ยังกล่าวอีกว่า ปัจจุบันพบว่ากระเป๋านักเรียน 1 ใบ มีน้ำหนักสูงถึง 4-6 กิโลกรัม การที่เด็กๆ ต้องแบก กระเป๋านักเรียนหนัก เป็นเวลานานอาจทำให้เกิดการบาดเจ็บต่อร่างกายและส่งผลต่อประสิทธิภาพการเรียนรู้ของเด็กได้
เพื่อให้คุณพ่อคุณแม่และคุณครูมองเห็นปัญหาของการเป็นเดอะแบก (กระเป๋า) เราจึงรวบรวมผลเสียของการต้องแบกกระเป๋านักเรียนที่มีน้ำหนักมากเกินไปมาทำความเข้าใจไปพร้อบกันค่ะ
1. ผลกระทบต่อสุขภาพกาย
1.1 ปัญหาทางด้านกระดูก
การแบกกระเป๋าที่มีน้ำหนักมากเกินไป อาจส่งผลทำให้กระดูกสันหลังคด ผิดรูป หรือโค้งผิดปกติได้
1.2 ปัญหาเรื่องการเจริญเติบโต
น้ำหนักกระเป๋าที่หนักมากเกินไปอาจมีผลต่อการเจริญเติบโตของกระดูกและกล้ามเนื้อ อาจส่งผลต่อการเติบโตและส่วนสูงของเด็กได้
1.3 ปัญหาด้านกล้ามเนื้อ
การแบกกระเป๋าหนักอาจทำให้เกิดอาการบาดเจ็บบริเวณกล้ามเนื้อทราปิเซียส (Trapezius) หรือกล้ามเนื้อบ่าทำงานหนัก ทำให้เกิดอาการบาดเจ็บ เช่น ปวดหลัง ปวดไหล่ ปวดคอ และอาจอันตรายจนถึงขั้นหมอนรองกระดูกกดทับเส้นประสาทได้
1.4 ความเสี่ยงในการเกิดอุบัติเหตุ
การที่เด็กต้องแบกกระเป๋านักเรียนใบใหญ่และน้ำหนักมาก อาจทำให้เกิดปัญหาเรื่องการทรงตัว มีความยากลำบากในการเดินทาง เช่น เดินไม่สะดวก หกล้ม และเกิดอุบัติเหตุได้ง่าย
2. ผลกระทบต่อการเรียนรู้และการพัฒนา
2.1 การมีสมาธิในการเรียนลดลง
กว่าจะแบกกระเป๋านักเรียนหนักๆ มาถึงห้องเรียนได้ ก็อาจทำให้เด็กเหนื่อยล้า ไม่มีสมาธิในการเรียน และกลายเป็นอุปสรรคในการเรียนรู้ได้
2.2 การพัฒนาทางกายภาพและการเคลื่อนไหว
การต้องแบกของหนักนานๆ เป็นประจำ อาจส่งผลต่อพัฒนาการการเคลื่อนไหว เช่น ขยับร่างกายได้ช้าลงหรือผิดปกติ ซึ่งส่งผลในการเรียนรู้หรือการทำกิจกรรมที่ต้องใช้ความคล่องตัวของร่างกายได้
3. ผลกระทบต่อสุขภาพจิต
3.1 ความเครียดและความวิตกกังวล
กระเป๋านักเรียนที่ใส่ของเยอะและมีน้ำหนักมากเกินไป อาจทำให้เด็กเกิดความเครียดและวิตกกังวลในการไปโรงเรียนได้
3.2 ผลกระทบต่อความมั่นใจในตนเอง
การปล่อยให้ลูกแบกกระเป๋านักเรียนหนัก ยังส่งผลโดยตรงต่อบุคลิกภาพ เช่น ต้องเดินงอหลัง เพื่อโน้มตัวมาข้างหน้า หรือเดินตัวเอียง เพื่อประคองน้ำหนักกระเป๋า ทำให้ลูกรู้สึกไม่มั่นใจในตัวเอง และหากปล่อยไว้นานอาจทำให้เกิดความผิดปกติกับร่างกายได้
4. แนวทางการแก้ไข
4.1 เลือกกระเป๋าที่เหมาะสม
คุณพ่อคุณแม่ควรเลือกกระเป๋าที่มีความกว้างไม่เกินไหล่ของเด็ก มีสายรัดไหล่กว้าง มีแผ่นรองหลังเพื่อกระจายน้ำหนัก ทำจากวัสดุที่มีน้ำหนักเบา หรือมีการออกแบบที่ช่วยลดทอนน้ำหนักได้ดียิ่งขึ้น
4.2 ตรวจสอบน้ำหนักกระเป๋า
น้ำหนักกระเป๋าที่เหมาะสมไม่ควรเกิน 10-15 เปอร์เซ็นต์ ของน้ำหนักตัวของเด็ก เช่น ลูกน้ำหนัก 30 กิโลกรัม ควรสะพายกระเป๋าที่มีน้ำหนักไม่เกิน 3 กิโลกรัม
ดังนั้น คุณพ่อคุณแม่ควรช่วยตรวจสอบของในกระเป๋าให้ลูกเอาไปเฉพาะของที่จำเป็นต้องใช้ในแต่ละวันเท่านั้น และควรจัดวางสิ่งของในกระเป๋าให้สมดุล เช่น ให้ของที่หนักที่สุดอยู่กึ่งกลางของกระเป๋า เพื่อกระจายน้ำหนักในการถือนั่นเอง
COMMENTS ARE OFF THIS POST