4 วิธีรับมือกับลูกพลังเหลือล้น

ลูกพลังเหลือล้น

คุณพ่อคุณแม่เคยรู้สึกไหมว่า ลูกก็ตัวเท่านี้ ทำไม ลูกพลังล้นเหลือ เวลาสนุกนึกจะเล่น ก็เล่นอย่างไม่รู้จักเหน็ดเหนื่อย เวลาโกรธหรือไม่พอใจก็ไม่รู้ว่าเอาพลังงานจากไหนมาอาละวาดและโวยวายให้ทุกคนได้รู้ และเวลาลูกเกิดอยากจะแผลงฤิทธิ์ขึ้นมา จะเอาเรี่ยวแรงของคุณพ่อคุณแม่ไปหยุดก็ไม่ง่าย

พลังงานของเด็กอาจแสดงให้เห็นถึงความสมบูรณ์แข็งแรงของร่างกาย ซึ่งเป็นเรื่องน่ายินดี แต่หากคุณพ่อคุณแม่ไม่เตรียมวิธีรับมือหรือสอนให้ลูกรู้จักการใช้พลังงานอย่างเหมาะสม อาจทำให้ลูกกลายเป็นเด็กที่มีพฤติกรรมก้าวร้าวและใช้ความรุนแรง เพราะไม่สามารถควบคุมแรงและพลังงานของตัวเองได้

ดังนั้นเราจึงมีเทคนิคดีๆ มาช่วยคุณพ่อคุณแม่รับมือและสอนให้ลูกน้อยรู้วิธีจัดการกับพลังงานอันล้นเหลือของตัวเอง ไม่ให้เกินขอบเขตจนสร้างความเดือดร้อนให้คนอื่น

1. กำหนดขอบเขตให้ลูกด้วยท่าทีที่สงบ

กำหนดขอบเขต

การบอกให้ลูกรู้ว่าอะไรที่ลูกทำได้หรือไม่ได้ ไม่ใช่การออกคำสั่งหรือห้ามอย่างไม่มีเหตุผล ดังนั้นหากลูกกำลังอยู่ในช่วงเวลาแห่งการใช้พลังงาน และกำลังสนุกจนคุณพ่อคุณแม่เริ่มควบคุมไม่อยู่ สิ่งที่ควรทำไม่ใช่การเข้าไปขัดจังหวะแล้วสั่งให้ลูกหยุดเล่น แต่คือการสร้างข้อตกลงและกำหนดขอบเขตว่าลูกสามารถทำอะไรได้แค่ไหนด้วยท่าทีและน้ำเสียงที่สงบแต่จริงจัง

โดยเริ่มจากการย่อตัวลงให้ลูกมองเห็นหน้าคุณพ่อคุณแม่ได้ในระดับสายตา สบตา และสัมผัสตัวลูก และบอกลูกว่าอะไรที่ลูกไม่ควรทำ เช่น ไม่เอาลูกบอลปาใส่เพื่อน เพราะว่าจะทำให้เพื่อนเจ็บและไม่อยากเล่นกับลูกอีก หรือตกลงกันเรื่องบทลงโทษ เช่น ถ้าลูกทำเพื่อนเจ็บ เราจะต้องหยุดเล่น ไปขอโทษ และกลับบ้านกันทันที การทำลักษณะนี้จะทำให้ลูกเข้าใจว่าอะไรที่ตัวเองทำได้และทำไม่ได้ และได้ผลมากกว่าตะโกนบอกลูกว่าห้ามลูกปาลูกบอลใส่เพื่อน แล้วลูกจะเรียนรู้ว่าต้องควบคุมพลังงานของตัวเองไม่ให้เกินเลยมากเกินไป

2. สอนลูกให้มีทักษะความใจเย็น

ใจเย็น

เด็กที่มีพลังงานเยอะมักจะมีการแสดงออกที่หุนหันพลันแล่น การสอนลูกให้หัดพูดและคิดด้วยความใจเย็นจะช่วยให้ลูกสามารถยับยั้งพลังงานของตัวเอง ไม่รีบแสดงออก ไม่ลนลาน และมีสติในการตัดสินมากขึ้น

วิธีสอนให้ลูกรู้จักความใจเย็นอาจเริ่มจากการฝึกให้ลูกหายใจเข้าออกลึกๆ เมื่อรู้สึกโมโหหรือไม่พอใจ แทนการแสดงออกด้วยท่าทาง หรือลองให้ลูกทำกิจกรรมที่ต้องใช้สมาธิ เพื่อเบี่ยงเบนความรู้สึกที่พุ่งพล่านและตื่นเต้นของลูกลงบ้าง

3. หาวิธีให้ลูกปลดปล่อยพลังงานอย่างเหมาะสม

ปลดปล่อยพลังงาน

การที่เด็กๆ ต้องวิ่งเล่นซุกซน กระโดดโลดเต้น นอกจากเพื่อความสนุกสนานแล้ว ร่างกายยังต้องการเผาผลาญพลังงานออกไปตามธรรมชาติ สิ่งที่คุณพ่อคุณแม่ควรทำคือการหากิจกรรมที่ทำให้ลูกได้ใช้พลังงาน และมีประโยชน์ เช่น การวิ่งเล่นกลางแจ้ง เล่นน้ำ เล่นทราย หรือกิจกรรมที่ทำแล้วได้ออกกำลังกายไปด้วย

4. สอนให้ลูกรู้จักอารมณ์และวิธีจัดการกับอารมณ์นั้นๆ

อารมณ์

นอกจากเวลาเล่นสนุก เด็กๆ มักจะแสดงออกและใช้พลังงานที่ท่วมท้นในเวลาที่เขาไม่รู้จะจัดการกับความรู้สึกตัวเองอย่างไร เช่น โกรธจนเผลอเอามือตีเพื่อน ไม่พอใจจนทำร้ายตัวเอง ผิดหวังจนร้องไห้และทิ้งตัวลงดิ้นกับพื้น การจะสอนให้ลูกรู้จักยับยั้งตัวเองในเวลาดังกล่าว ต้องเริ่มจากสอนให้ลูกรู้จักกับอารมณ์และความรู้สึกต่างๆ ที่เกิดขึ้น

วิธีการก็คือคุณพ่อคุณแม่ควรสอนให้ลูกสังเกตตัวเอง เช่น ถ้าลูกรู้สึกไม่พอใจเพื่อน หัวใจเต้นแรง อึดอัด เหงื่อออกมือ นั่นแปลว่าลูกกำลังโกรธ และสอนลูกว่าเมื่อโกรธ แทนที่จะใช้วิธีโต้ตอบหรือทำร้ายเพื่อน ให้ลูกเดินออกมาจากตรงนั้น ถ้ายังรู้สึกต้องการแสดงออก ลูกอาจใช้วิธีตะโกนคนเดียวหรือออกไปวิ่งเพื่อปล่อยพลังงานออกมาได้

อ้างอิง
parents
positiveparentingconnection
mother

Anittha R

หลงรักธรรมชาติของความเป็นเด็ก ชอบดูหนัง ชอบหนังสือนิทาน รักการเลี้ยงต้นไม้ และใฝ่ฝันอยากทำสวนกระบองเพรชที่มีดอกเยอะๆ

COMMENTS ARE OFF THIS POST