READING

เมื่อครอบครัวอาจจะต้องเปลี่ยนไป พ่อแม่จะดูแลจิตใจล...

เมื่อครอบครัวอาจจะต้องเปลี่ยนไป พ่อแม่จะดูแลจิตใจลูกอย่างไรดี

การใช้ชีวิตคู่ อาจจะเป็นเรื่องธรรมดาที่คนสองคนจะต้องมีปัญหาขัดแย้ง ความเห็นไม่ตรงกัน และถึงขั้นมีปากเสียงกันในครอบครัว

แต่พอเปลี่ยนสถานะจากคู่สามีภรรยา มาเป็นคุณพ่อคุณแม่แล้ว ความขัดแย้งระหว่างคนสองคน ไม่เพียงแต่ส่งผลต่อจิตใจของคุณพ่อคุณแม่เท่านั้น เพราะบรรยากาศของการทะเลาะเบาะแว้ง โต้เถียง หรือแม้แต่ความบึ้งตึงใส่กัน ก็สามารถส่งผลกระทบกับสภาพจิตใจของลูกได้ ลูกที่อยู่ตรงกลางระหว่างความกระทบกระทั่งของคุณพ่อคุณแม่ จะรู้สึกอึดอัด กดดัน ทำตัวไม่ถูก และอาจร้ายแรงถึงขั้นรู้สึกโทษว่าเป็นความผิดของตัวเอง รวมถึงซึมซับพฤติกรรมของคุณพ่อคุณแม่มาเป็นนิสัยของตัวเองในอนาคต

เพราะฉะนั้น หากคุณพ่อคุณแม่มีสถานการณ์ทะเลาะเบาะแว้งหรือโต้เถียงกันให้ลูกเห็นบ่อยครั้ง สิ่งที่ควรสนใจจึงไม่ใช่แค่ความสัมพันธ์ในฐานะสามีภรรยากันเท่านั้น แต่คือการเยียวยาและรักษาสภาพจิตใจของลูกให้ได้รับผลกระทบจากความขัดแย้งนั้นน้อยที่สุด

และหากครอบครัวเดินมาถึงจุดที่ต้องมีการเปลี่ยนแปลง การอธิบายให้ลูกเข้าใจเหตุผลทั้งหมดของคุณพ่อคุณแม่คงไม่ใช่เรื่องง่าย แต่การตัดลูกออกไปจากคนที่มีส่วนต้องรับรู้ก็ไม่ใช่วิธีที่ถูกต้องนัก

วันนี้เรามีวิธีประคับประคองจิตใจลูกน้อย ในวันที่ครอบครัวมีความขัดแย้ง เพื่อไม่ให้ลูกรู้สึกกดดันและเคว้งคว้างเกินไป คุณพ่อคุณแม่ควรทำอย่างไรบ้าง

1. รับฟังความรู้สึกของลูก

HouseDivided_web_1

การรับฟังความรู้สึกของลูกเป็นสิ่งสำคัญและจำเป็น อย่าคิดว่าลูกยังเด็กเกินกว่าจะสังเกตเห็นความขัดแย้งหรือปัญหาในครอบครัวจนกลายเป็นมองข้ามความรู้สึกของลูก

หากคุณพ่อคุณแม่กระทบกระทั่งกันบ่อยครั้ง เป็นเรื่องยากที่ลูกจะไม่รับรู้ถึงบรรยากาศที่คุกรุ่นภายในบ้าน การเปิดโอกาสให้ลูกได้แสดงความรู้สึก และรับฟังลูกด้วยความใส่ใจ จะทำให้ลูกรู้สึกว่าคุณพ่อคุณแม่ยังให้ความสำคัญและไม่ทอดทิ้งเขาในวันที่ตัวเองมีปัญหา

2. พูดคุยกับลูกให้เข้าใจถึงสถานการณ์

HouseDivided_web_2

เมื่อความขัดแย้งของคุณพ่อคุณแม่รุนแรงถึงขั้นต้องสิ้นสุดสถานะคู่สมรสหรือสามีภรรยากันแล้ว การบอกความจริงกับลูกอาจเป็นเรื่องยาก แต่ถึงอย่างไรก็ควรบอกให้ลูกรับรู้ถึงสถานการณ์ที่เกิดขึ้น เช่น บอกให้ลูกรู้ว่าอาจจะต้องมีการย้ายที่อยู่ หรือบอกให้ลูกรู้ว่าคุณพ่อคุณแม่จะไม่ได้อยู่ด้วยกันทุกวันเหมือนเดิม

แต่ทั้งนี้ คุณพ่อคุณแม่จะต้องเลือกช่วงเวลาที่เหมาะสม ใช้คำพูดที่ดีในการพูดคุยให้ลูกเข้าใจถึงความเป็นไปในครอบครัว โดยไม่ใช้อารมณ์ ไม่แสดงความโกรธ เศร้า เสียใจ และไม่พูดให้อีกฝ่ายเสียหาย เพื่อให้ลูกค่อยๆ เตรียมใจรับการเปลี่ยนแปลงที่จะเกิดขึ้น

3. อธิบายถึงแผนการในอนาคต

HouseDivided_web_3

ความกังวลของเด็กที่ต้องอยู่ท่ามกลางความขัดแย้งของคุณพ่อคุณแม่ก็คือไม่รู้ว่าตัวเองควรทำตัวอย่างไร ถ้าคุณพ่อคุณแม่ไม่ได้อยู่ด้วยกันแล้ว ตัวเองจะต้องอยู่กับใคร

ดังนั้น คุณพ่อคุณแม่ไม่ควรปล่อยให้ลูกกังวลในเรื่องนี้ แต่ควรอธิบายแผนการที่ตกลงและเตรียมการไว้ให้ลูกได้รับรู้ เช่น ถ้าคุณพ่อคุณแม่ไม่ได้อยู่ด้วยกัน ลูกจะอยู่กับแม่ แต่คุณพ่อจะเป็นคนไปรับลูกที่โรงเรียน เพื่อให้ลูกได้มองเห็นภาพอนาคตของตัวเองและรู้สึกกังวลใจน้อยลงค่ะ

4. ควรให้ลูกมีส่วนร่วมในการตัดสินใจ

HouseDivided_web_4

แต่ไม่ว่าจะเป็นแผนการในอนาคตที่คุณพ่อคุณแม่คิดว่าตัดสินใจมาดีแล้วอย่างไร หากลูกโตพอที่จะแสดงความเห็นของตัวเองได้แล้ว คุณพ่อคุณแม่ก็ควรเปิดโอกาสให้ลูกได้มีส่วนในการตัดสินใจในเรื่องที่เกี่ยวข้องกับตัวเองโดยตรง เช่น ลูกเห็นด้วยไหมถ้าพ่อจะเป็นคนไปรับที่โรงเรียน หรือว่าลูกอยากให้พ่อเป็นคนไปส่งตอนเช้ามากกว่า

การเปิดโอกาสให้ลูกได้มีส่วนตัดสินใจ จะช่วยลดความกังวล ทำให้เปิดใจรับความเปลี่ยนแปลง และยอมรับความจริงได้ง่ายยิ่งขึ้น

อ้างอิง
pobpad
psychologytoday

Supinya R.

ชอบอ่านนิยายสยองขวัญ ชอบเขียนไดอารี่ และเป็นคุณแม่จำเป็นในบางเวลา :-)

RELATED POST

COMMENTS ARE OFF THIS POST