READING

ทำความเข้าใจและหาทางรับมือลูกอารมณ์ร้อน...

ทำความเข้าใจและหาทางรับมือลูกอารมณ์ร้อน

ไม่ใช่แค่อารมณ์ของคุณพ่อคุณแม่ที่จะส่งผลต่อลูก แต่อารมณ์ของลูกเป็นก็มีผลกับอารมณ์ของคุณพ่อคุณแม่เช่นกัน เพราะเวลาที่ลูกอารมณ์ร้อนและไม่สามารถควบคุมอารมณ์ของตัวเองได้ คุณพ่อคุณแม่ก็อาจจะปรี๊ดแตกเอาได้ง่ายๆ ใช่ไหมคะ

เด็กเป็นวัยที่อยากรู้อยากเห็น เมื่อเติบโตจนถึงวัยหนึ่งก็เริ่มที่จะมีความคิดเป็นของตัวเอง การควบคุมอารมณ์หรือดูแลพฤติกรรมของลูกจึงเป็นสิ่งที่คุณพ่อคุณแม่ควรหันมาให้ความสำคัญ เพราะในช่วงวัยเด็กมักจะมีอารมณ์ร่วมและอ่อนไหวง่าย โดยเฉพาะอย่างยิ่งเด็กวัย 2-6 ขวบ เวลามีความสุขก็จะมีความสุขมาก แต่พอเวลาโกรธก็จะโกรธแบบสุดๆ นั่นเป็นเพราะสมองส่วน ลิมบิก (Limbic) ซึ่งเกี่ยวข้องกับความคิดและเหตุผล ยังไม่พัฒนาเท่าผู้ใหญ่ เมื่อเด็กถูกขัดใจหรือไม่พอใจ ก็จะไม่สามารถยับยั้งความโกรธของตัวเองได้

และเพื่อทำความเข้าใจอารมณ์ของลูก เรามาทำความรู้จักกับสมองส่วนลิมบิกกันก่อนดีกว่าค่ะ

1. ลิมบิก (Limbic)

Limbic_web_1

เป็นส่วนของสมองที่อยู่ตามแนวโค้งระหว่างทาลามัส (Thalamus) ซึ่งทำหน้าที่ในการรับรู้ความรู้สึกเจ็บปวด เจ้าส่วนนี้จึงสั่งการให้แสดงออกพฤติกรรมความเจ็บปวด ทำงานร่วมกับซีรีบรัม (Cerebrum) หรือสมองส่วนที่ใหญ่ที่สุด ซึ่งทำหน้าที่เกี่ยวกับความรู้สึกนึกคิด การพูด และการรับรู้ภาษา ที่มีส่วนสำคัญในการแสดงออกมาเป็นอารมณ์และพฤติกรรมของเจ้าตัวน้อยนั่นเอง

แล้วจะมีวิธีไหนที่เราจะรับมือกับอารมณ์ร้อนของลูกได้อย่างไรบ้าง ลองทำความเข้าใจไปพร้อมๆ กันนะคะ

1. ให้ลูกมองเห็นความรู้สึกตัวเอง

Limbic_web_2

เวลาเห็นลูกร้องไห้ คุณพ่อคุณแม่คงจะเคยถามลูกว่าเป็นอะไร อยากได้อะไร แต่นอกจากจะไม่ได้คำตอบ บางทีกลับทำให้เจ้าหนูโกรธหรือร้องไห้มากขึ้นเสียอีก นั่นเป็นเพราะเด็กเองก็ไม่เข้าใจและไม่สามารถอธิบายความรู้สึกของตัวเองออกมาได้

คุณพ่อคุณแม่จึงควรที่จะสังเกตว่ารอบข้างลูกมีอะไรเกิดขึ้นบ้าง เช่น สังเกตว่าลูกร้องไห้ไม่พอใจเพราะอยากเล่นโทรศัพท์มือถือใช่หรือไม่ แล้วอาจจะลองถามดูว่า “ลูกอยากเล่นโทรศัพท์มือถือใช่ไหม” หรือ “หนูไม่ได้เล่นโทรศัพท์ก็เลยโกรธใช่ไหม” วิธีจะช่วยให้ลูกหาคำตอบและอธิบายความรู้สึกของตัวเองออกมาได้

2. ให้เวลาลูกสักนิด

Limbic_web_3

เวลาที่ลูกงอแงและเริ่มมีพฤติกรรมก้าวร้าว คุณพ่อคุณแม่ก็จะอารมณ์เสียไปด้วยใช่ไหมคะ แต่ถึงอย่างไร สิ่งที่ไม่ควรทำเลยก็คือการต่อว่าหรือลงมือทำโทษลูกทันที ควรปล่อยให้ลูกได้ใช้เวลา เช่น อาจจะแกล้งทำเป็นไม่สนใจพฤติกรรมของเขาสักครู่ เพื่อให้ลูกอารมณ์เย็นลง และคุณพ่อคุณแม่ก็ใจเย็นลงด้วย และเมื่ออารมณ์โกรธของเด็กๆ คลายลง ลองกอด ปลอบ และอธิบายให้ลูกฟังว่า พฤติกรรมที่ลูกแสดงออกมาดีหรือไม่ดีอย่างไร

3. เริ่มจากตัวเราเอง

Limbic_web_4

บางทีพฤติกรรมของลูกก็อาจมาจากการเห็นพฤติกรรมของคุณพ่อคุณแม่ เช่น การต่อว่าคนอื่นอย่างรุนแรง การตีลูกเป็นการทำโทษ

ดังนั้นสิ่งที่สำคัญคือความอ่อนโยนที่มีต่อลูก เมื่อลูกอารมณ์ร้อน คุณพ่อคุณแม่ลองสูดหายใจเข้าลึกๆ ให้อารมณ์ตัวเองเย็นก่อนแล้วค่อยเข้าไปช่วยเหลือลูกจะดีที่สุด

4. เข้าใจในธรรมชาติเด็กวัยซน

Limbic_web_5

เนื่องจากว่าวัยเด็กมีพัฒนาการที่แตกต่างกันไป คุณพ่อคุณแม่ควรทำความเข้าใจธรรมชาติของเขา เพราะการที่เด็กไม่สามารถควบคุมหรือจัดการเรื่องต่างๆ ด้วยตัวเองได้ บางครั้งความไม่ได้ดั่งใจทำให้เด็กแสดงเป็นพฤติกรรมก้าวร้าวออกมา โดยเฉพาะอย่างยิ่งช่วงอายุ 3-6 ขวบ ซึ่งเป็นวัยแห่งการต่อต้าน ลูกอาจมีพฤติกรรมหัวร้อนจนถูกมองว่าเป็นวัยแสบสุดๆ

ดังนั้นหากคุณพ่อคุณแม่อยากให้ลูกรู้จักควบคุมอารมณ์และไม่แสดงพฤติกรรมหัวร้อน ก็ควรเข้าใจธรรมชาติของลูกและหาทางรับมือกับอารมณ์ของลูกอย่างถูกวิธี และที่สำคัญก็คือ คุณพ่อคุณแม่งเองก็ไม่ควรใช้อารมณ์ในการตักเตือนลูกด้วยค่ะ

ที่มา
messymotherhood
wikipedia
ilslearningcorner
themilitarywifeandmom

Supinya R.

ชอบอ่านนิยายสยองขวัญ ชอบเขียนไดอารี่ และเป็นคุณแม่จำเป็นในบางเวลา :-)

RELATED POST

COMMENTS ARE OFF THIS POST