READING

“อันนี้ของหนู อันนั้นก็ของหนู อันนู้นก็ด้วย!” รับม...

“อันนี้ของหนู อันนั้นก็ของหนู อันนู้นก็ด้วย!” รับมืออย่างไร เมื่อลูกกลายเป็นเด็กจอมหวง

ช่วงอายุ 1-3 ปี หรือที่คุณพ่อคุณแม่เรียกว่า วัยหัดเดินของเด็ก (Toddler) นอกจากจะเป็นวัยที่ลูกเริ่มมีความเป็นตัวของตัวเอง อยากเรียนรู้และลงมือทำสิ่งต่างๆ ด้วยตัวเองแล้ว ยังมีนิสัยอีกอย่างหนึ่งที่เพิ่มเข้ามาในช่วงวัยนี้ก็คือ ‘การหวง’

อาการหวง ไม่ว่าจะเป็นหวงสิ่งของหรือหวงคุณพ่อคุณแม่ ที่เกิดกับเด็กวัยนี้ ถือเป็นพัฒนาการตามช่วงวัยอย่างหนึ่งที่เกิดขึ้นได้กับเด็กทุกคน แต่ก็ปฏิเสธไม่ได้เลยว่า พอเห็นลูกแสดงพฤติกรรมหวงของ แย่งของจากมือคนอื่น หรือไม่ยอมแบ่งของให้ใคร คุณพ่อคุณแม่ก็อดเป็นห่วงไม่ได้ลูกจะมีนิสัยไม่น่ารักติดตัวไปจนโตหรือเปล่า

ซูซาน เกลแมน นักจิตวิทยาพัฒนาการจากมหาวิทยาลัยมิชิแกนในเมืองแอนอาร์เบอร์ ได้พูดถึงอาการหวงของเด็กโดยอ้างอิงจากงานวิจัยว่า เด็กอายุ 2-4 ปี มักจะเชื่อว่าคนที่ครอบครองสิ่งของก่อน คือคนที่เป็นเจ้าของสิ่งนั้นอย่างแท้จริง จึงไม่น่าแปลกใจที่จะลูกจะเข้าใจว่าตัวเองเป็นเจ้าของสิ่งของหลายอย่าง และไม่อยากให้ใครมาแบ่งหรือแย่งของของตัวเองไป

แม้จะเป็นพฤติกรรมที่เกิดขึ้นเองตามช่วงวัยของเด็ก แต่คุณพ่อคุณแม่ก็ควรเข้าใจและมีวิธีรับมือ เพื่อให้ลูกเรียนรู้และทำความเข้าใจการเป็นเจ้าของอย่างถูกต้องและรู้จักที่จะแบ่งปันเมื่อถึงเวลาที่เหมาะสม

1. สอนให้ลูกเข้าใจการเป็นเจ้าของให้ลูกฟัง

Possessiveness_web_1

เพื่อลดพฤติกรรมหวงของไปพร้อมกับทำให้ลูกเกิดการเรียนรู้ คุณพ่อคุณแม่ควรอธิบายให้ลูกเข้าใจความหมายของการเป็นเจ้าของ และระบุตัวเจ้าของของสิ่งต่างๆ ให้ชัดเจน เช่น ตุ๊กตาหมีตัวนี้ของลูก ตุ๊กตากระต่ายเป็นของพี่ ส่วนลูกบอลนี้เป็นของลูกทั้งสองคนการบอกให้ลูกรู้ว่าของสิ่งไหนเป็นของใคร จะทำให้ลูกเรียนรู้ที่จะเคารพการเป็นเจ้าของของคนอื่น ไม่แย่งของคนอื่นมาเป็นของตัวเอง และเข้าใจหน้าที่รับผิดชอบของตัวเองที่มีต่อสิ่งของนั้นๆ

2. สอนลูกให้รู้จักผลัดกันเล่น

Possessiveness_web_2

เด็กช่วงวัยหัดเดิน อาจจะยังไม่เข้าใจความหมายของคำว่าแบ่งปัน เมื่อต้องใช้หรือเล่นของเล่นร่วมกับคนอื่น จึงมักเกิดเหตุการณ์แย่งของกันอยู่บ่อยๆ

สิ่งที่คุณพ่อคุณแม่ทำได้ก็คือ พูดคุยและสร้างข้อตกลงกับทั้งสองฝ่ายให้ผลัดกันเล่น คนหนึ่งเล่นก่อน และก็สลับให้อีกคนเล่นในเวลาเท่าๆ กันแรกๆ อาจจจะตะกุกตะกักเล็กน้อย แต่การสอนให้ลูกรู้จักผลัดกันเล่น เป็นการปูพื้นฐานให้ลูกรู้จักการแบ่งปัน และเข้าใจว่าแม้สิ่งที่ตัวเองเป็นเจ้าของ ก็สามารถใช้หรือเล่นร่วมกับคนอื่นได้

3. เคารพความเป็นเจ้าของของลูก

Possessiveness_web_3

ถึงแม้คุณพ่อคุณแม่จะอยากให้ลูกเป็นเด็กที่มีน้ำใจและรู้จักแบ่งปันในสายตาคนอื่น แต่ความจริงก็คือลูกมักจะมีของเล่นชิ้นโปรดที่หวงแหนมากกว่าชิ้นอื่นๆ และไม่ว่าจะอย่างไร ก็จะไม่ยอมให้ใครมาแบ่งหรือเอาไปเล่นได้ง่ายๆ

คุณพ่อคุณแม่จึงไม่ควรรบเร้าหรือบังคับให้ลูกต้องแบ่งปันทุกอย่างให้คนอื่น แต่ควรยื่นข้อเสนอ เช่น ลูกลองให้เพื่อนเล่นชิ้นอื่นแทนดีไหมคะ เพื่อเป็นตัวอย่างที่ทำให้ลูกรู้ว่าคุณพ่อคุณแม่ก็เคารพในการเป็นเจ้าของของลูกเช่นกัน

4. ให้ความรักและใส่ใจลูกเต็มที่

Possessiveness_web_4

บางครั้งอาการหวงไม่ว่าจะสิ่งของหรือหวงคุณพ่อคุณแม่ รวมทั้งการแย่งของคนอื่นมาเป็นของตัวเอง นอกจากจะเป็นพฤติกรรมตามวัยแล้ว ยังเกิดจากการที่คุณพ่อคุณแม่มีเวลาให้ลูกไม่เพียงพอ ทำให้ลูกรู้สึกไม่มั่นคง ไม่เป็นที่รัก และถูกเพิกเฉย ดังนั้นการหวง จึงเกิดจากการกลัวที่จะสูญเสีย และพยายามปกป้องตัวเองด้วยการขวนขวายและครอบครองเอาไว้ให้ได้นานที่สุด

5. อย่ารีบเข้าไปตัดสินปัญหาแทนลูกทันที

Possessiveness_web_5

เมื่อเห็นลูกทะเลาะหรือยื้อแย่งของเล่นกับ คุณพ่อคุณแม่ก็ต้องอยากจะรีบเข้าไปไกล่เกลี่ยหรือรับบทเป็นกรรมการตัดสินว่าใครจะได้เล่นหรือไม่ได้เล่นให้เร็วที่สุด

ความจริงแล้ว สิ่งที่คุณพ่อคุณแม่ควรทำก็คือการมองดูอยู่ห่างๆ ปล่อยให้ลูกได้ลองจัดการกับเหตุการณ์นั้นด้วยตัวเอง การทำลักษณะนี้จะทำให้ลูกรู้จักเรียนรู้ที่จะหาวิธีประนีประนอมและแก้ปัญหาด้วยตัวเองก่อน

แต่ถ้าเหตุการณ์เริ่มบานปลายหรือเห็นสัญญาณว่าเด็กๆ จะทะเลาะกันใหญ่โตแล้วละก็ คุณพ่อคุณแม่จะเข้าไปห้ามทัพสักหน่อย ก็ไม่เป็นไรนะคะ

อ้างอิง
chuchutv
popsugar
todaysparent
parents
scholastic

Anittha R

หลงรักธรรมชาติของความเป็นเด็ก ชอบดูหนัง ชอบหนังสือนิทาน รักการเลี้ยงต้นไม้ และใฝ่ฝันอยากทำสวนกระบองเพรชที่มีดอกเยอะๆ

COMMENTS ARE OFF THIS POST