READING

คุยกับคุณแม่ไทยในต่างประเทศ ที่ไหนรับมือ #COVID19 ...

คุยกับคุณแม่ไทยในต่างประเทศ ที่ไหนรับมือ #COVID19 อย่างไรกันบ้าง (ไต้หวัน)

วิกฤตการแพร่ระบาดของโรคโควิด-19 ทำให้คุณพ่อคุณแม่แทบจะทั่วโลก ต่างต้องเผชิญสถานการณ์เดียวกัน คือ ลูกออกไปโรงเรียนไม่ได้ ตัวเองก็ออกไปทำงานก็ไม่ได้ เหตุการณ์ครั้งนี้ น่าจะทำให้พ่อแม่ทั่วโลกมีความรู้สึกร่วมกันคือ เงินก็ต้องหา งานก็ต้องทำ โรคก็ต้องหวั่นใจ เรื่องลูกก็ต้องรับมือ มีใครให้มากกว่านี้อีกไหม

M.O.M จึงไปลองถามไถ่คุณแม่ชาวไทยในประเทศต่างๆ ว่าเป็นอย่างไรกันบ้าง หนักหน่วงแค่ไหน รับมือไหวหรือเปล่า และได้รับความช่วยเหลือดูแลจากประเทศนั้นๆ อย่างไร เด็กๆ ได้รับผลกระทบแค่ไหน และที่สำคัญก็คือ คุณแม่ยังไหวไหม บอกมา…

และไม่ว่าจะอยู่มุมไหนของโลก M.O.M ก็ขอส่งกำลังใจให้คุณพ่อคุณแม่ทุกบ้าน มีเรี่ยวแรงที่จะรับมือกับทุกปัญหาที่เข้ามา มีพลังมากมายในการดูแลเด็กๆ และรักษาสุขภาพให้แข็งแรง เพื่อให้พวกเราทุกคนผ่านพ้นช่วงเวลาที่ยากลำบากแบบนี้ไปได้อย่างปลอดภัยทุกบ้านเลยค่ะ

ไทเป, ไต้หวัน

แม่มิกิ

น้องอลิซ (4 ปี) น้องลูคัส (2ปี)

taiwan_1

Q: สถานการณ์ตอนนี้เป็นอย่างไรบ้าง

เพิ่งมีประกาศให้ประชาชนมีระยะห่าง 1-1.5 เมตร ในสถานที่สาธารณะ เช่น ร้านอาหาร โรงเรียน ที่ทำงานและการเข้าคิวซื้อของค่ะ อย่างล่าสุดไปซื้อเครื่องดื่มที่ร้านแห่งหนึ่ง ทางร้านก็มีการตอบรับมาตรการนี้ด้วยการแปะเทปที่พื้น ซึ่งแต่ละจุดจะห่างกันประมาณ 1 เมตร

รวมถึงออกกฎให้ทุกคนใส่หน้ากากอนามัยทุกครั้งที่ใช้บริการระบบขนส่งสาธารณะ หากไม่มีหน้ากากอนามัยก็ไม่สามารถใช้บริการได้ค่ะ แต่ก็ยังไม่มีประกาศหยุดเรียนหรือหยุดทำงานนะคะ ทุกอย่างยังคงดำเนินไปตามปกติค่ะ

จากวิกฤตที่เกิดขึ้นในตอนนี้ แรกๆ คนไต้หวันก็มีแห่ไปซื้อกระดาษทิชชู่กันนะคะ เพราะพวกเขามีความคิดว่า วัตถุดิบที่นำมาผลิตทิชชู่คือแบบเดียวกันกับที่นำมาผลิตหน้ากากอนามัย จนทางรัฐบาลต้องออกมาประกาศว่า ไม่ต้องห่วง พวกเรามีวัตถุดิบเพียงพอที่จะผลิตกระดาษทิชชู่ไปอีก 300 ปี! จึงทำให้สถานการณ์การซื้อของกักตุนคลายตัวลง

Q: รัฐช่วยเหลืออะไรบ้างไหม

น่าจะเป็นเรื่องของหน้ากากอนามัย ซึ่งมีการจำกัดการซื้อขาย โดยประชาชนสามารถหาซื้อหน้ากากอนามัยได้เฉพาะตามร้านขายยาเท่านั้น ร้านค้าอื่นๆ จะไม่สามารถและออกขายได้ และกำหนดจำนวนการซื้อของแต่ละคน เช่น หน้ากากอนามัยสำหรับผู้ใหญ่ จะซื้อได้ 3 ชิ้นต่อสัปดาห์ และสำหรับเด็ก 5 ชิ้นต่อสัปดาห์ และในการซื้อแต่ละครั้ง จะต้องแสดงบัตรประกันสุขภาพซึ่งใช้ตรวจสอบได้ว่า สัปดาห์นี้เราซื้อไปแล้วหรือยัง ส่วนตัวรู้สึกว่าระบบแบบนี้เป็นธรรมดีค่ะ ตัดปัญหาเรื่องการซื้อเพื่อกักตุนเกินจำนวน รวมถึงการขายเกินราคา เพราะรัฐบาลลงมาควบคุมเอง และขายเพียงชิ้นละประมาณ 5 บาทกว่าๆ ค่ะ และทำให้ประชาชนมีหน้ากากอนามัยใช้กันอย่างทั่วถึงด้วย

แต่ตอนนี้ก็ได้เปลี่ยนนโยบายใหม่ คือเพิ่มจำนวนหน้ากากอนามัยในการซื้อแต่ละครั้ง เป็น 9 ชิ้นต่อ 14 วันสำหรับผู้ใหญ่ และ 10 ชิ้นต่อ 14 วันสำหรับเด็กค่ะ รวมถึงสามารถสั่งซื้อออนไลน์ได้ โดยไม่จำเป็นต้องไปร้านขายยาด้วยค่ะ

Q: เด็กๆ ได้รับผลกระทบอย่างไรบ้าง

ด้านผลกระทบที่เกี่ยวกับลูก ไม่ค่อยมีนะคะ ส่วนหนึ่งต้องยกความดีความชอบให้กับรัฐบาลไต้หวันที่วางแผนและจัดการเร็ว ทำให้สามารถควบคุมวิกฤตโควิดนี้ได้ แต่ทางโรงเรียนของลูกก็มีมาตรการป้องกันเบื้องต้นอยู่นะคะ เวลาคุณแม่ไปส่งน้องอลิซ ลูกสาวคนโต ก็ต้องใส่หน้ากากอนามัย และส่งได้แค่หน้าประตูโรงเรียน ส่วนทางโรงเรียนก็จะทำการวัดไข้นักเรียนก่อนเข้าห้องเรียนค่ะ คุณครูก็จะใส่หน้ากากอนามัยทุกคน ถ้าเด็กโตหน่อย อย่างในโรงเรียนระดับประถม ก็จะมีกฎให้นักเรียนทุกคนต้องใส่หน้ากากอนามัยค่ะ

Q: เด็กๆ ที่บ้านมีความเข้าใจในสถานการณ์ตอนนี้อย่างไรบ้าง

ส่วนตัวจะบอกลูกว่า ช่วงนี้มีคนป่วยเยอะ เราต้องป้องกันตัวเองด้วยการใส่หน้ากากอนามัยทุกครั้งที่ออกนอกบ้านและต้องล้างมือบ่อยๆ คือคุณแม่ก็ไม่อยากทำให้ลูกต้องตกใจกลัวกับเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นในตอนนี้ด้วย จึงพยายามสอนลูกให้ป้องกันตัวแบบง่ายๆ ให้เขาคุ้นเคยจนเกิดความเคยชิน เช่น กลับมาถึงบ้านก็ไปล้างมือก่อนเป็นอันดับแรก และล้างมือทุกครั้งก่อนกินอาหาร ซึ่งคุณแม่คิดว่า สิ่งเหล่านี้ ต่อให้หมดโรคระบาดไปแล้ว มันก็ไม่เสียหายอะไรที่จะทำมันต่อไปให้เป็นกิจวัตรจนเป็นนิสัย

ส่วนเรื่องการใส่หน้ากากอนามัย ปกติที่บ้านจะใส่กันอยู่แล้วค่ะ แต่จะใส่ในเวลาที่ใครในบ้านป่วย หรือหากลูกป่วย คุณแม่ก็จะให้เขาใส่หน้ากากอนามัยไปโรงเรียน พอมามีเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นในตอนนี้ ลูกก็ไม่มีความรู้สึกผิดเพี้ยนอะไร เพราะเขาใส่จนชิน เพียงแต่คุณแม่จะอธิบายเพิ่มเติมว่า ช่วงนี้อาจต้องใส่ทุกวัน เพื่อป้องกันตัวไม่ให้ป่วยค่ะ

Q: ในช่วงที่อยู่บ้านกับลูกแบบนี้ ในแต่ละวัน คุณแม่กับเด็กๆ ทำอะไรกันบ้าง  

ด้วยความที่ลูกยังไปโรงเรียนตามปกติ กิจวัตรประจำวันโดยทั่วไปก็ยังดำเนินไปตามปกติค่ะ ตัวคุณแม่เองก็เป็นแม่ฟูลไทม์ และทำงานฟรีแลนซ์ที่บ้าน การแบ่งเวลาจึงเป็นว่าตอนลูกตื่น จะให้เวลาทั้งหมดกับเขา แต่พอลูกหลับ คุณแม่ก็รีบมาเปิดคอมพ์ทำงานต่อทันทีค่ะ


Nidnok

‘นิดนก’ เป็นคุณแม่ของน้อง ณนญ / เป็นนักเขียนสาวเชิงรุก เจ้าของผลงานหนังสือ 'POWER BRIDE เจ้าสาวที่กลัวสวย' และ 'TO BE CONTINUE- โปรดติดตามตอนแต่งไป'

RELATED POST

COMMENTS ARE OFF THIS POST