READING

คุยกับคุณแม่ไทยในต่างประเทศ ที่ไหนรับมือ #COVID19 ...

คุยกับคุณแม่ไทยในต่างประเทศ ที่ไหนรับมือ #COVID19 อย่างไรกันบ้าง (สวีเดน)

วิกฤตการแพร่ระบาดของโรคโควิด-19 ทำให้คุณพ่อคุณแม่แทบจะทั่วโลก ต่างต้องเผชิญสถานการณ์เดียวกัน คือ ลูกออกไปโรงเรียนไม่ได้ ตัวเองก็ออกไปทำงานก็ไม่ได้ เหตุการณ์ครั้งนี้ น่าจะทำให้พ่อแม่ทั่วโลกมีความรู้สึกร่วมกันคือ เงินก็ต้องหา งานก็ต้องทำ โรคก็ต้องหวั่นใจ เรื่องลูกก็ต้องรับมือ มีใครให้มากกว่านี้อีกไหม

M.O.M จึงไปลองถามไถ่คุณแม่ชาวไทยในประเทศต่างๆ ว่าเป็นอย่างไรกันบ้าง หนักหน่วงแค่ไหน รับมือไหวหรือเปล่า และได้รับความช่วยเหลือดูแลจากประเทศนั้นๆ อย่างไร เด็กๆ ได้รับผลกระทบแค่ไหน และที่สำคัญก็คือ คุณแม่ยังไหวไหม บอกมา…

และไม่ว่าจะอยู่มุมไหนของโลก M.O.M ก็ขอส่งกำลังใจให้คุณพ่อคุณแม่ทุกบ้าน มีเรี่ยวแรงที่จะรับมือกับทุกปัญหาที่เข้ามา มีพลังมากมายในการดูแลเด็กๆ และรักษาสุขภาพให้แข็งแรง เพื่อให้พวกเราทุกคนผ่านพ้นช่วงเวลาที่ยากลำบากแบบนี้ไปได้อย่างปลอดภัยทุกบ้านเลยค่ะ

สวีเดน

แม่บิ๊ก

น้องเบนจิ (3 ขวบ 2 เดือน)

Q: สถานการณ์ตอนนี้เป็นอย่างไรบ้าง

ความเห็นส่วนตัวสถานการณ์ตอนนี้ ดูจากสถิติมีความน่ากังวลอยู่มาก แต่มาตรการของรัฐบาลยังคงไม่เข้มข้นเปรียบเทียบกับประเทศอื่นๆ ไม่มีคำสั่งห้ามออกจากบ้าน หรือให้ใส่หน้ากากออกจากบ้าน

รัฐใช้การออกเป็นคำแนะนำขั้นสูงสุดให้อยู่บ้านถ้ามีอาการคล้ายหวัดเพียงเล็กน้อย และยืนห่างจากคนอื่น 2 เมตรเป็นอย่างน้อย ห้างร้านยังคงเปิดตามปกติแต่ปรับเปลี่ยนเวลาให้เปิดสายหน่อยและปิดเร็วขึ้น บางร้านหรือร้านอาหารต้องปิดตัวลงเป็นเพราะเรื่องผลกระทบทางเศรษฐกิจ คำแนะนำสำหรับคนแก่อายุ 70 ปีขึ้นไปคือ ไม่ออกไปเจอใครถ้าไม่จำเป็นจริงๆ มีออกกฎห้ามเยี่ยมที่บ้านพักคนชราเพราะกลุ่มนี้เป็นกลุ่มเสี่ยงที่สุดตามสถิติ

สำหรับตัวเราเองที่บริษัทมีคำแนะนำขั้นสูงสุดให้พนักงานทำงานที่บ้านให้มากที่สุดเท่าที่จะทำได้ ณ ตอนนี้สำหรับเราคือยังไม่มีผลกระทบทางด้านการเลิกจ้าง ไม่ว่าจะเป็นชั่วคราว หรือถาวร แต่ไม่แน่ใจว่าอนาคตจะเป็นอย่างไร

ความตื่นตัวของผู้คนมีระดับหนึ่ง แต่ยังน้อยเมื่อเปรียบเทียบกับประเทศอื่น ไม่มีการใส่หน้ากากเวลาออกจากบ้าน แต่ผู้คนก็ไม่ค่อยออกจากบ้านกันเท่าไหร่ ท้องถนนค่อนข้างเงียบกว่าปกติ แต่ไม่ถึงกับร้าง เวลาอากาศดีๆ ยังจะเห็นผู้คนไปกินข้าวตามร้านอาหารที่มีการเสิร์ฟด้านนอกร้าน

มีผู้คนจำนวนมากที่เรียนหรือมีประสบการณ์ด้านสาธารณสุข รวมไปถึงพยาบาลเกษียณอายุแล้วยื่นมือเป็นอาสาสมัครทำงานในช่วงนี้เพื่อแบ่งเบาภาระเจ้าหน้าที่และสภาวะขาดบุคลากรทางการแพทย์ในช่วงนี้

Q: รัฐช่วยเหลืออะไรบ้างไหม

มีการสร้างโรงพยาบาลนอกอาคารเป็นจำนวนมาก (หลักร้อย) เพื่อรองรับเฉพาะจำนวนผู้ติดเชื้อที่จะเพิ่มขึ้น (แต่ยังสร้างไม่เยอะเท่ากับที่เยอรมัน)

มีการเพิ่มอุปกรณ์การตรวจเชื้อโควิด และตั้งเป้าจะสามารถทำการตรวจได้ถึงแสนคนต่ออาทิตย์

ด้านเศรษฐกิจ – รัฐบาลอนุมัติเงินช่วยธุรกิจหลายด้าน เช่น ธุรกิจการบิน การท่องเที่ยว จำนวนหลายพันล้านเพื่อช่วยพยุงไม่ให้ธุรกิจล้มละลาย มีการอนุมัติเงินช่วยเหลือบริษัทในแขนงอื่นๆ ด้วย

ด้านแรงงาน – รัฐบาลที่นี่มีมาตรการช่วยเหลือด้านต่างๆ ค่อนข้างเยอะ เช่น เงินช่วยเหลือคนตกงาน 80 เปอร์เซ็นต์ของเงินเดือน (อันนี้คือพื้นฐาน) บริษัทมีทางออกในการพยุงไม่ให้ล้มละลายหรือขาดทุนมหาศาลด้วยการช่วยเหลือจากรัฐบาลทางด้านการเงิน ในกรณีที่มีการลดชั่วโมงการทำงาน เช่น มีทางเลือกการลดชั่วโมงการทำงาน ตั้งแต่ 20 40 หรือ 60 เปอร์เซ็นต์ในช่วงเวลาประมาณ 3 เดือน แต่ลูกจ้างจะยังคงได้เงินเดือนประมาณ 90 เปอร์เซ็นต์นิดๆ ซึ่งรัฐบาลจะเข้ามาช่วยจ่ายเงินเดือนบางส่วนตรงนี้

ด้านการศึกษา – การช่วยเหลือด้านการศึกษาในกรณีคนตกงาน ให้มีการศึกษาฟรี โดยเฉพาะการศึกษาในด้านสาธารณสุข เพราะเป็นที่ต้องการมากช่วงนี้

เงินช่วยเวลาป่วย – ปกติเวลาคนลาป่วยจะได้รับเงินประกันสังคมนับจากวันที่สองของการป่วยวันละ 80 เปอร์เซ็นต์ของเงินเดือนเป็นเวลาหนึ่งสัปดาห์ หลังจากนั้นถ้ายังป่วยอยู่ต้องมีใบรับรองแพทย์ยืนยันถึงจะได้เงินช่วยต่อ แต่ตอนนี้สามารถป่วยอยู่บ้านโดยไม่มีใบรับรองแพทย์ได้ถึง 21 วัน แถมยังได้เงินลาป่วยตั้งแต่วันแรกที่ป่วยด้วย

Q: เด็กๆ ได้รับผลกระทบอย่างไรบ้าง

โรงเรียนระดับมัธยมขึ้นไปมีคำแนะนำให้เรียนผ่านระบบออนไลน์ ส่วนเนอร์เซอรีกับโรงเรียนระดับประถมยังไม่ออกคำสั่งปิด แต่มีการออกกฎเข้มข้นว่าถ้าเด็กป่วยแค่นิดหน่อยต้องอยู่บ้าน โดยครูจะเรียกให้ผู้ปกครองมารับกลับทันทีถ้าเห็นว่าเริ่มมีน้ำมูกหรือไอ หลังจากหายดีแล้วต้องอยู่บ้านต่ออีกสองวันถึงจะกลับไปโรงเรียนได้

Q: เด็กๆ ที่บ้านมีความเข้าใจในสถานการณ์ตอนนี้อย่างไรบ้าง

ลูกเราอายุสามขวบกว่า เลยยังไม่ค่อยมีปัญหา มีแต่ที่ต้องอธิบายเขาเวลาที่ไม่ได้ไปเล่นตามบ้านบอลหรือสระว่ายน้ำว่าตอนนี้มีคนป่วยเยอะ รอให้คนป่วยน้อยลงถึงไปได้ ลูกก็เหมือนจะเข้าใจ

Q: ในช่วงที่อยู่บ้านกับลูกแบบนี้ ในแต่ละวัน คุณแม่กับเด็กๆ ทำอะไรกันบ้าง  

ถ้าไม่มีประชุมก็จะพยายามให้ลูกอยู่บ้านด้วย ด้วยความที่งานเราค่อนข้างยืดหยุ่น คือสามารถจัดการเวลาทำได้เช่น บางครั้งจะตื่นมาตั้งแต่ตีสี่มานั่งทำงานก่อนลูกตื่น หรือหลังจากที่ลูกหลับไปแล้ว ถ้าวันไหนมีประชุมก็จำเป็นต้องส่งลูกไปเนิร์สเซอรี แต่พยายามลดเวลาตั้งแต่ 9 โมงถึงบ่าย 3 โมง


Nidnok

‘นิดนก’ เป็นคุณแม่ของน้อง ณนญ / เป็นนักเขียนสาวเชิงรุก เจ้าของผลงานหนังสือ 'POWER BRIDE เจ้าสาวที่กลัวสวย' และ 'TO BE CONTINUE- โปรดติดตามตอนแต่งไป'

COMMENTS ARE OFF THIS POST