คุณพ่อคุณแม่แทบทุกคนน่าจะต้องเคยพบเจอสถานการณ์ที่ทำให้เผลอคิดหรือหลุดปากพูดออกไปว่าทำไมลูกถึงได้ดื้ออย่างนี้ นั่นเป็นเพราะความดื้อจัดเป็นหนึ่งในพัฒนาการตามช่วงวัยของเด็ก ซึ่งสำหรับเด็กแรกเกิดจนถึงอายุ 6 ปี การดื้อหรือพฤติกรรมต่อต้านจึงเป็นหนึ่งในกระบวนการเรียนรู้และทำความรู้จักกับกรอบความเข้มงวดของคุณพ่อคุณแม่
คุณพ่อคุณแม่จึงจำเป็นต้องเตรียมความพร้อมเพื่อรับมือกับความดื้อในรูปแบบต่างๆ ของลูกอย่างมีสติ ใจเย็น เพื่อค่อยๆ เรียนรู้อารมณ์และความคิดของลูกในช่วงวัยต่างๆ
วันนี้ M.O.M ลองหาวิธีดีๆ ที่จะช่วยให้คุณพ่อคุณแม่รับมือกับลูกจอมดื้อได้อย่างใจเย็น เพื่อเปลี่ยนเด็กดื้อตัวร้ายให้กลายเป็นเด็กน่ารักของคุณพ่อคุณแม่ต่อไปค่ะ
1. อย่าแสดงอารมณ์มากเกินไป
เมื่อต้องเจอสถานการณ์ที่ลูกดื้อมากๆ คุณพ่อคุณแม่ย่อมมีอารมณ์เป็นเรื่องธรรมดา และหลายครั้งคุณพ่อคุณแม่ก็เผลอใช้อารมณ์เพื่อที่จะเอาชนะและหยุดความดื้อของลูกลงให้ได้ซึ่งนอกจากจะไม่ได้ผลแล้ว อาจทำให้ความสัมพันธ์ระหว่างพ่อแม่กับลูกเป็นไปในทางที่ไม่ดีอีกด้วย
คุณพ่อคุณแม่ควรเตือนตัวเองให้สงบสติอารมณ์ก่อนคิดจัดการกับความดื้อของลูกนะคะ
2. ใช้วิธีพูดคุยและอธิบายให้ลูกฟัง
เมื่อลูกดื้อ การใช้อารมณ์ ดุ หรือใช้วิธีรุนแรงอาจหยุดพฤติกรรมไม่น่ารักของลูกได้แค่ชั่วคราว ดังนั้นนอกจากคุณพ่อคุณแม่ควรใจเย็นแล้ว ยังควรใช้วิธีอธิบายเหตุผลให้ลูกเข้าใจว่าทำไมถึงไม่ควรทำแบบนี้ และการดื้อของลูกจะส่งผลอะไรตามมาบ้าง
การเจรจา อาจไม่ได้ผลในทันที แต่เมื่อคุณพ่อคุณแม่ใช้น้ำเย็นเข้าลูบ ก็จะช่วยให้ลูกลดพฤติกรรมต่อต้านลงได้
3. ไม่ทำโทษลูกด้วยการตีหรือวิธีรุนแรง
การตีหรือทำโทษลูกด้วยวิธีรุนแรง ไม่ใช่ทางออกของการแก้ปัญหาเด็กดื้อเพราะนอกจากจะไม่ช่วยให้ลูกเข้าใจความผิดของตัวเองอย่างถ่องแท้แล้ว ยังทำให้ลูกรู้สึกไม่ดี ฝังใจ และอาจพยายามหาทางดื้อให้ชนะคุณพ่อคุณแม่ในครั้งต่อไปได้
4. รักษาสัญญาและคงเส้นคงวาอยู่เสมอ
หากคุณพ่อคุณแม่มีสัญญาหรือข้อตกลงร่วมกับลูก เช่น ตกลงกันว่าลูกต้องทำการบ้านให้เสร็จก่อนออกไปเล่นนอกบ้าน ก็ต้องรักษาสัญญาหรือจริงจังกับข้อตกลงนั้นๆ ไม่ผ่อนปรนโดยไม่มีเหตุผลที่จำเป็น
เพราะการเปลี่ยนกฎหรือไม่จริงจังกับข้อตกลง จะทำให้ลูกรู้สึกว่าไม่จำเป็นต้องเคารพกติกาใดๆ ซึ่งอาจเป็นสาเหตุสำคัญที่ทำให้ลูกแสดงความดื้อออกมาได้
COMMENTS ARE OFF THIS POST