READING

วิธีเจรจาและรับมือกับเจ้าหนูวัยทองสองขวบ (terrible...

วิธีเจรจาและรับมือกับเจ้าหนูวัยทองสองขวบ (terrible twos)

การเลี้ยงลูกแต่ละช่วงวัย ก็เต็มไปด้วยความยากง่ายที่แตกต่างกันตอนที่ลูกยังเล็กหรือเป็นทารก การดูแลอาจจะยากเพราะไม่สามารถสื่อสารกันด้วยคำพูด คุณพ่อคุณแม่ก็ไม่เข้าใจความต้องการของลูก ส่วนลูกก็ไม่รู้จะบอกความต้องการของตัวเองออกมาได้อย่างไร

แต่เมื่อลูกโตขึ้น วัย 1-4 ขวบ เป็นช่วงวัยที่ลูกจะเริ่มเข้าใจและสื่อสารความต้องการของตัวเองกับคุณพ่อคุณแม่ได้ แต่เดี๋ยวก่อน! พอสื่อสารได้แล้วแทนที่จะพูดกันรู้เรื่อง กลับกลายเป็นลูกดูไร้เหตุผลมากกว่าตอนเล็กกว่านี้เสียอีก

ถ้าวัยกลางคนถือเป็นช่วงเวลาวัยทองของผู้ใหญ่แล้วละก็ วัยทองของเด็กจะเริ่มมีอาการชัดๆ ตั้งแต่สองขวบ หรือที่เรียกกันว่าภาวะ Terrible Twos คือช่วงเวลาที่ลูกการเปลี่ยนแปลงทางด้านอารมณ์สูง แต่ก็ถือเป็นหนึ่งในพัฒนาการที่ลูกจะเริ่มมีความเป็นตัวเองมากขึ้น รู้สึกอยากทำอะไรด้วยตัวเอง อยากทดลองหยิบจับและทำความรู้จักกับทุกสิ่งรอบตัว และกลายเป็นพฤติกรรม การแสดงออกที่เปลี่ยนไป  ไม่ว่าจะร้องไห้มากขึ้น เอาแต่ใจมากขึ้น ชอบขว้างปาสิ่งของ ใช้มือคนอื่น ต่อต้านและพยายามทำตรงข้ามกับสิ่งที่คุณพ่อคุณแม่บอกเสมอ

ถึงแม้ว่าอาการวัยทองของเด็กสองขวบจะเป็นหนึ่งในพัฒนาการที่เกิดขึ้นได้กับเด็กทุกคน แต่หากปล่อยให้ลูกใช้อารมณ์หรือเอาแต่ใจตัวเองเต็มที่ หรือคุณพ่อคุณแม่เผลอรับมือด้วยการใช้อารมณ์ตอบโต้พฤติกรรมของลูก ก็จะส่งผลต่อลักษณะนิสัยลูกต่อไปในระยะยาวได้

ดังนั้นนอกจากเตรียมใจแล้ว คุณพ่อคุณแม่ต้องเตรียมวิธีเจรจาและรับมือกับเด็กวัยทองสองขวบเอาไว้ให้ดีด้วยนะคะ

1. ต้องเริ่มยื่นข้อเสนอให้ลูกได้เลือก

terribletwos_web_1

ถ้าลูกงอแงหรือไม่เชื่อฟังคุณพ่อคุณแม่ การออกคำสั่งกับเด็กวัยนี้ไม่ใช่วิธีที่ได้ผลค่ะ แต่คุณพ่อคุณแม่ควรเปลี่ยนวิธีการพูด เป็นลองให้ลูกได้เลือกหรือตัดสินใจด้วยตัวเอง เช่น แทนที่จะบังคับให้ลูกใส่รองเท้าก่อนออกไปข้างนอก ลองให้ตัวเลือกด้วยการถามว่า วันนี้ หนูอยากใส่รองเท้าคู่ไหนมากกว่า ระหว่างสีขาวกับสีชมพู หรือ ถ้าอยากกินขนมก็จะต้องเก็บของเล่นก่อนนะคะ ลูกอยากเก็บด้วยตัวเองหรือให้คุณแม่ช่วยเก็บดี

วิธีนี้จะทำให้ลูกรู้สึกว่าตัวเองนั้นมีสิทธิ์ในการตัดสินใจและเต็มใจที่จะทำสิ่งที่คุณพ่อคุณแม่บอกมากขึ้น

2. หัดเบี่ยงเบนความสนใจลูกให้เป็น

terribletwos_web_2

ถ้าเห็นว่าลูกกำลังหงุดหงิด หรือโวยวายกับอะไรบางอย่าง คุณพ่อคุณแม่ต้องไม่ปล่อยให้ลูกอารมณ์เสียหรือหมกมุ่นอยู่กับสิ่งนั้นนานเกินไป ด้วยการเบี่ยงเบนความสนใจลูกออกมาจากสิ่งนั้น เช่น ชวนลูกเปลี่ยนกิจกรรม หรือหาอย่างอื่นให้ลูกเล่นแทน เพื่อให้ลูกรู้สึกผ่อนคลายจากการโฟกัสอยู่กับสิ่งที่เป็นปัญหามากเกินไป

3. รู้จักเปลี่ยนแปลงคำพูดสักหน่อย

terribletwos_web_3

ยิ่งห้ามเหมือนยิ่งยุ ประโยคนี้ใช้กับความวัยทองของเด็กสองขวบได้เสมอ เพราะลูกกำลังอยู่ในช่วงวัยแห่งการเป็นตัวเอง เริ่มคิด และอยากทำสิ่งต่างๆ ด้วยตัวเอง ดังนั้น การใช้คำพูดประเภท  ‘ห้ามทำแบบนี้’ รวมถึงการออกคำสั่งว่า ‘อย่า’ หรือ ‘ไม่’ ก็จะยิ่งมีส่วนทำให้ลูกรู้สึกอยากต่อต้านมากขึ้นผลทำให้ลูกต่อต้านทันที

วิธีที่ดีที่สุดคือคุณพ่อคุณแม่ควรเปลี่ยนการใช้คำพูด แทนที่จะใช้คำว่า ห้าม เช่น เปลี่ยนจากการบอกว่า ‘ห้ามปาของเล่น’ เป็นการพูดโน้มน้าวให้ลูก ‘มาค่อยๆ วางของเล่นเบาๆ กันนะคะ’

4. พาลูกไปสงบสติอารมณ์อย่างใจเย็น

terribletwos_web_4

ถ้าคุณพ่อคุณแม่ไม่สามารถควบคุมสถานการณ์ที่ลูกเริ่มแผลงฤิทธิ์กลางสถานที่สาธารณะได้ เช่น ลูกลงไปนอนดิ้นร้องไห้งอแงอยู่ที่พื้นกลางห้างสรรพสินค้า ให้คุณพ่อคุณแม่พาลูกออกมาจากบริเวณนั้นเพื่อปล่อยให้ลูกร้องไห้ และรอให้ลูกสงบสติอารมณ์ก่อนแล้วค่อยพูดคุยหรืออธิบายว่าทำไมคุณพ่อคุณแม่ถึงไม่ทำตามใจลูก และทำไมถึงต้องพาลูกออกมาให้พ้นจากบริเวณนั้น เพื่อให้ลูกรู้ว่าการแสดงออกด้วยวิธีร้องไห้งอแงไม่สามารถทำให้คุณพ่อคุณแม่ตามใจได้ และคุณพ่อคุณแม่ก็จะไม่ทอดทิ้งลูกด้วยการเดินหนี หรือปล่อยให้ลูกสร้างความเดือดร้อนรบกวนคนอื่นเช่นกัน

อ้างอิง
parents
clevelandclinic
verywellfamily
healthline
cgbabyclub

Anittha R

หลงรักธรรมชาติของความเป็นเด็ก ชอบดูหนัง ชอบหนังสือนิทาน รักการเลี้ยงต้นไม้ และใฝ่ฝันอยากทำสวนกระบองเพรชที่มีดอกเยอะๆ

RELATED POST

COMMENTS ARE OFF THIS POST