READING

4 วิธีซ่อมแซมและดูแลความสัมพันธ์ในครอบครัว...

4 วิธีซ่อมแซมและดูแลความสัมพันธ์ในครอบครัว

ความสัมพันธ์เป็นหนึ่งในสิ่งสำคัญต่อชีวิตของพวกเราทุกคน เพราะมนุษย์เป็นสัตว์สังคม เราเริ่มต้นชีวิตด้วยการมีความสัมพันธ์กับคนในครอบครัว มีการได้พบปะผู้คน มีเพื่อนฝูง ตลอดจนการสร้างความสัมพันธ์เพื่อการสร้างครอบครัวที่มีคุณภาพต่อไป

ดังนั้นความสัมพันธ์จึงไม่ได้เกิดขึ้นและมีความสำคัญกับผู้ใหญ่เท่านั้น แต่เด็กก็ต้องการมีความสัมพันธ์ที่ดีกับพ่อแม่และคนในครอบครัวเช่นกัน

งานวิจัยจากประเทศสหรัฐอเมริกาชี้ว่าครอบครัวที่มีความสัมพันธ์อันดีต่อกัน มีความเข้าใจ เอาใจใส่ซึ่งกันและกัน ส่งผลให้เด็กมีแนวโน้มที่จะมีพัฒนาการที่ดี อารมณ์มั่นคง รวมถึงมีจิตใจที่โอบอ้อมอารีอีกด้วย

ในทางกลับกันหากเด็กมีความสัมพันธ์ภายในครอบครัวที่ไม่ดี ไม่ค่อยสนิทใจหรือพูดคุยกับคุณพ่อคุณแม่น้อย ก็มีแนวโน้มที่จะเป็นคนเข้าสังคมได้ไม่ดีนัก แต่ถึงแม้เราจะพยายามสร้างความสัมพันธ์อันดีในครอบครัวมากเท่าไร แต่การขัดใจ โต้เถียง หรือทะเลาะเบาะแว้งภายในครอบครัวก็เป็นสิ่งที่เกิดขึ้นได้เสมอ สิ่งสำคัญคือเมื่อมีเหตุการณ์ที่สั่นคลอนความสัมพันธ์ในครอบครัวได้ คุณพ่อคุณแม่ควรสังเกตและมีวิธีซ่อมแซมความสัมพันธ์ภายในครอบครัวให้กลับมาแน่นแฟ้นและมั่นคงตามเดิม

1. สงบสติอารมณ์

maintainrelationships_web_1

อารมณ์โกรธ เป็นสาเหตุสำคัญที่ทำให้เกิดการกระทบกระทั่ง บางครั้งคุณพ่อคุณแม่อาจจะรู้สึกโกรธจนเผลอพูดจาไม่ดีหรือตะคอกเสียงดังใส่ลูก ส่วนลูกก็เลือกที่จะตอบโต้ด้วยการเถียงหรือมีพฤติกรรมต่อต้าน จนสถานการณ์ที่แย่อยู่แล้วยิ่งแย่มากขึ้นไปอีก

ดังนั้น สิ่งที่คุณพ่อคุณแม่ควรทำก็คือพยายามสงบสติอารมณ์ อาจจะออกไปเดินเล่นนอกบ้าน ฟังเพลง ออกกำลังกาย หรือนั่งเงียบๆ สักพัก แล้วค่อยเผชิญหน้ากันหรือกลับมาพูดคุยกันด้วยเหตุผลอีกครั้ง

2. คุณพ่อคุณแม่ควรเป็นฝ่ายเข้าหาและชวนลูกพูดคุย

maintainrelationships_web_2

บางครั้งลูกอาจจะโกรธและไม่พอใจ จนแสดงออกด้วยการไม่พูดไม่จา เงียบขรึมใส่ เดินปิดประตูกระแทกเสียงดัง อาการลักษณะนี้ คุณพ่อคุณแม่ควรเป็นฝ่ายเข้าหา ขอโทษ หรือพูดกับลูกอย่างใจเย็น และบอกให้ลูกว่าคุณพ่อคุณแม่เองก็เสียใจกับเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นเช่นกัน

3. ถามความรู้สึกของลูก

maintainrelationships_web_3

บางครั้งสถานการณ์อาจคลี่คลายไปเหมือนไม่มีอะไรเกิดขึ้น แต่สิ่งที่คุณพ่อคุณแม่ควรทำก็คือการถามถึงความรู้สึกของลูกที่มีต่อเหตุการณ์นั้นๆเช่น ตอนที่แม่ตะโกนเสียงดังใส่หนู หนูรู้สึกอย่างไรบ้างคะ แม่จะได้พยายามไม่ทำอีก

การเปิดโอกาสให้ลูกได้ระบายความรู้สึกและตั้งใจฟังลูกพูด จะช่วยทำให้ลูกรู้สึกสบายใจที่รู้ว่าคุณพ่อคุณแม่ไม่ได้มองข้ามความรู้สึกเขา และพ่อแม่เองก็ได้สะท้อนสิ่งที่ทำลงไปเพื่อแก้ไขให้ดีขึ้นด้วย

4. อธิบายความรู้สึกเสียใจให้ลูกรับรู้

maintainrelationships_web_4

ในขณะที่พ่อแม่ได้ฟังความรู้สึกของลูกแล้ว สิ่งที่ดีคือพ่อแม่ได้อธิบายความรู้สึกของตนเองกลับว่ารู้สึกเสียใจแค่ไหนที่ทำแบบนั้นลงไปให้ลูกรับรู้ เช่น แม่รู้สึกเศร้ามากที่ตีหนู แม่ขอโทษนะคะ หรือบอกให้ลูกรู้ว่าคุณพ่อคุณแม่เสียใจที่ลูกแสดงพฤติกรรมอย่างนั้นออกมา

อ้างอิง
yummymummyclub
peacefulparent
thesuccessfulparent

Anittha R

หลงรักธรรมชาติของความเป็นเด็ก ชอบดูหนัง ชอบหนังสือนิทาน รักการเลี้ยงต้นไม้ และใฝ่ฝันอยากทำสวนกระบองเพรชที่มีดอกเยอะๆ

RELATED POST

COMMENTS ARE OFF THIS POST