ทำยังไงดี… เมื่อลูกน้อยชอบดราม่า!?

คุณพ่อคุณแม่เคยสังเกตไหมคะว่า จะมีช่วงวัยหนึ่งที่ลูกมักจะเลือกใช้วิธีร้องไห้งอแงเพื่อให้ได้มาซึ่งสิ่งที่ตัวเองต้องการ โดยไม่เปิดโอกาสให้คุณพ่อคุณแม่ได้เอ่ยปากเจรจาต่อรอง ไม่ทันไรเจ้าตัวเล็กก็เสียน้ำตาร้องไห้สะอึกสะอื้น หนักเข้าก็เริ่มทิ้งตัว กรีดร้อง รับบทจอมดราม่ามากเป็นพิเศษ  เจอแบบนี้บ่อยเข้า คุณพ่อคุณแม่ก็ไม่รู้จะรับมืออย่างไร บางครั้งก็จำเป็นต้องตามใจ เพื่อแก้สถานการณ์เฉพาะหน้า แต่บางครั้งก็ต้องใช้วิธีรุนแรงเพื่อเอาชนะและหยุดฤทธิ์เดชของเจ้าตัวแสบให้เร็วที่สุด

แต่ถ้าคุณพ่อคุณแม่สูดหายใจลึกๆ แล้วตั้งสติให้ดี เราลองมาดูวิธีการรับมือกับเด็กจอมดราม่า ที่ไม่รุนแรงและยังช่วยปรับพฤติกรรมลูกในระยะยาวได้อีกด้วย

1. พูดคุยกับลูกอย่างใจเย็น

dramaboy_web_1

เวลาที่ลูกมีอาการร้อนรน งอแง และเอาแต่ใจ ถ้าคุณพ่อคุณแม่ตอบสนองลูกด้วยความใจร้อน ก็จะทำให้สถานการณ์ยิ่งแย่ลงไปอีก แต่ถ้าคุณพ่อคุณแม่ตั้งสติและบอกให้ลูกใจเย็นๆ ค่อยๆ พูดหรืออธิบายความต้องการของตัวเองออกมา เช่น “หนูลองหยุดร้องไห้แล้วบอกคุณแม่ว่าต้องการหรือรู้สึกอะไร คุณแม่จะเข้าใจได้ดีกว่านะคะ”

2. ไม่ตอบสนองลูกเร็วเกินไป

dramaboy_web_2

ถ้าทุกครั้งที่ลูกร้องไห้แล้วคุณพ่อคุณแม่รีบตอบสนองหรือตามใจมากเกินไป ลูกจะเข้าใจว่าการร้องไห้งอแงเป็นวิธีการที่ใช้ได้ผล และจะทำต่อไปเรื่อยๆทางที่ดี คุณพ่อคุณแม่ควรฝึกให้ลูกรู้จักการรอคอย  เพราะการรีบตอบสนองลูกเร็วเกินไป จะยิ่งทำให้ลูกใจร้อน รอไม่เป็น และร้องไห้งอแงมากขึ้นกว่าเดิม

3. สร้างข้อตกลงไม่ใช่ข้อต่อรอง

dramaboy_web_3

คุณพ่อคุณแม่ควรมีข้อตกลงกับลูกก่อน เช่น เวลาไปกินข้าวที่ร้านอาหาร ลูกจะต้องนั่งกินอยู่กับที่ ไม่ส่งเสียงดัง วิ่งเล่น หรือร้องไห้เสียงดังรบกวนคนอื่น รวมถึงบอกว่าถ้าลูกไม่ทำตามที่ตกลง คุณพ่อคุณแม่จะทำอย่างไรบ้าง และคุณพ่อคุณแม่ต้องจริงจังและเด็ดขาดกับข้อตกลงนั้น เช่น ถ้าลูกส่งเสียงดังรบกวนคนอื่นในร้านอาหาร ห้ามก็ไม่ฟัง คุณพ่อคุณแม่จะพากลับทันที โดยไม่ต้องใจอ่อนหรือต่อรอง เพราะความเด็ดขาดของคุณพ่อคุณแม่จะช่วยให้ลูกรู้ว่าการร้องไห้งอแงไม่สามารถเปลี่ยนแปลงข้อตกลงได้

4. ไม่ใจอ่อน

dramaboy_web_4

บางวันคุณพ่อคุณแม่ก็รับบทพ่อแม่ใจอ่อน เพราะเวลาเห็นลูกร้องไห้น้ำตาไหลพรากแล้วมันช่างทรมานจิตใจเหลือเกิน ทำให้เผลอใจอ่อนยอมตามใจลูกแต่โดยดี

แต่การยอมตามใจเมื่อลูกใช้วิธีดราม่าเรียกร้องความเห็นใจ จะส่งผลเสียในระยะยาวได้ เพราะลูกจะเข้าใจว่าการร้องไห้งอแงเป็นวิธีที่จะเอาชนะคุณพ่อคุณแม่ได้

ดังนั้นไม่ว่าอย่างไร คุณพ่อคุณแม่ไม่ควรใจอ่อนให้กับเด็กน้อยจอมดราม่าง่ายๆ นะคะ

อ้างอิง
Positiveparenting
raisingchildren

Supinya R.

ชอบอ่านนิยายสยองขวัญ ชอบเขียนไดอารี่ และเป็นคุณแม่จำเป็นในบางเวลา :-)

RELATED POST

COMMENTS ARE OFF THIS POST