สมาร์ตโฟนมีบทบาทสำคัญอย่างมากในสังคมสมัยนี้ ไม่ว่าคุณจะหันหน้าไปทางไหน คุณก็จะเห็นแต่คนก้มหน้าก้มตาดูมือถือ
พ่อแม่บางคนสนใจมือถือมากกว่าลูกตัวเองเสียอีก จนลูกต้องทำตัวเรียกร้องความสนใจ บางครอบครัวก็ให้มือถือทำหน้าที่เป็นพี่เลี้ยงของลูกไปซะงั้น เพราะมือถือสามารถทำให้เด็กนั่งนิ่งๆ เงียบๆ ได้อย่างน่ามหัศจรรย์ใจ
… แต่นั่นไม่ใช่สิ่งที่ดี
จากงานวิจัยพบว่า การเรียนรู้คำศัพท์ใหม่ๆ ของทารกจะหยุดชะงักลงเมื่อมีคนโทรศัพท์เข้ามาหาแม่ ในขณะที่แม่กำลังพูดคุยหรือทำกิจกรรมกับทารกอยู่
งานวิจัยอีกชิ้นพบว่า พ่อแม่ที่ให้โทรศัพท์เข้ามารบกวนบทสนทนาหรือกิจกรรมระหว่างคุณกับลูก จะทำให้ลูกมีพฤติกรรมในแง่ลบ เช่น อารมณ์ฉุนเฉียวไปจนถึงการระเบิดอารมณ์ ยิ่งคุณกับลูกโดนขัดจังหวะด้วยโทรศัพท์มากเท่าไร ลูกก็จะยิ่งมีพฤติกรรมในแง่ลบมากเท่านั้น
มีอีกหนึ่งงานวิจัยที่ทดลองให้เด็กวิ่งวนรอบสนามซอฟต์บอล ที่ให้เด็กวิ่งในสถานการณ์ที่แตกต่างกันสองสถานการณ์คือ หนึ่ง—พ่อแม่ให้ความสนใจในตัวลูกเต็มที่ กับสอง—พ่อแม่นั่งหันมาทางเด็กแต่ก้มหน้าก้มตาดูมือถือ
ผลปรากฏว่าเด็กวิ่งได้เร็วกว่า และร่างกายทำงานได้สัมพันธ์กัน และมีประสิทธิภาพมากกว่า เวลาที่พ่อแม่ให้ความสนใจเด็กอย่างเต็มที่ เพราะฉะนั้น คุณพ่อคุณแม่ทั้งหลายควรจะควบคุมการใช้มือถือขณะที่อยู่กับลูก เพราะว่ามันจะสามารถทำให้เกิดผลลัพธ์ในแง่ลบต่อลูกได้
… แต่จะทำอย่างไรล่ะ
1. เอามือถือไปไว้อีกห้องหนึ่ง
เรารู้ว่ามันยากที่จะไม่หยิบมือถือขึ้นมาดู เมื่อมือถืออยู่ใกล้มือคุณ แค่คุณได้ยินเสียงแจ้งเตือนเบาๆ คุณก็หยิบมันขึ้นมาแล้ว ทั้งๆ ที่รู้ว่าการหยิบมือถือขึ้นมาจะเป็นการขัดจังหวะสิ่งที่คุณกับลูกกำลังทำร่วมกัน
เด็กจะสามารถเรียนรู้ได้ดี ถ้าผู้สอนตั้งใจและให้ความสนใจอย่างเต็มที่ และนั่นจะช่วยให้เด็กเรียนรู้ว่า เขาต้องโฟกัสที่สิ่งไหน เพราะฉะนั้น เอามือถือไปไว้อีกห้อง หรือไม่ก็ปิดการแจ้งเตือนไปซะ
2. เอามือถือใส่ไว้ในกระเป๋า
เด็กๆ อยากให้คุณสนใจเขามากที่สุด เวลาที่เขาอยู่ในสนามกำลังแข่งกีฬา หรือว่าอยู่บนเวทีกำลังจะทำการแสดง เขาอยากให้คุณเชียร์ ให้กำลังใจ และยิ้มให้ ลูกจะได้รู้สึกว่าเขาเป็นจุดสนใจของคุณ
คุณอาจจะเอามือถือออกมาถ่ายรูปบ้าง ส่งรูปไปให้คู่คุณที่ไม่สามารถมาร่วมงานได้ แต่คุณยังไม่จำเป็นต้องแต่งรูปและโพสต์รูปตอนนั้นเลย สิ่งที่สำคัญมากกว่านั้นคือลูกคุณที่อยู่ตรงหน้า ไม่ใช่หน้าจอสี่เหลี่ยมๆ นี้
3. จงมีสติและรู้ตัว
จากการศึกษาพบว่า พ่อแม่ที่จดจ่ออยู่กับมือถือจะมีการโต้ตอบที่รุนแรงกับพฤติกรรมของลูกที่ไม่เหมาะสม เด็กก็จะมีพฤติกรรมเรียกร้องความสนใจที่เพิ่มขึ้น ซึ่งในบางครั้งอาจทำให้เกิดอุบัติเหตุได้ เพราะพ่อแม่สนใจมองแต่มือถือ ไม่ได้ดูว่าลูกกำลังทำอะไรเสี่ยงอันตรายหรือไม่
สิ่งที่คุณต้องทำก็คือ จงตระหนักรู้ในตัวเอง ว่าตอนไหนควรจะใช้มือถือ และมีความตั้งใจ ที่จะใช้มือถืออย่างพอเพียง ไม่ใช่คอยเช็กมือถืออย่างพร่ำเพรื่อ
NO COMMENT