READING

สอนลูกเอาตัวรอดในสถานการณ์ฉุกเฉิน...

สอนลูกเอาตัวรอดในสถานการณ์ฉุกเฉิน

สอนลูกเอาตัวรอด

สอนลูกเอาตัวรอด ในเหตุการณ์ฉุกเฉิน เป็นสิ่งสำคัญที่คุณพ่อคุณแม่ควรสอนลูกตั้งแต่ในช่วงวัยอนุบาล เพื่อให้ลูกมีความรู้ความเข้าใจ เมื่อต้องเผชิญหน้ากับสถานการณ์ฉุกเฉินในชีวิตจริง เช่น ประสบอุบัติเหตุ พลัดหลงกับคุณพ่อคุณแม่ ไฟไหม้ ภัยธรรมชาติ รวมถึงการ สอนลูกเอาตัวรอด จากอันตรายที่มาจากคนแปลกหน้า

ศูนย์ดูแลเด็กหายและเด็กที่ถูกล่วงละเมิดนานาชาติ (International Centre for Missing & Exploited Children: ICMEC) รายงานว่าในแต่ละปีมีเด็กหายกว่า 8 ล้านคนทั่วโลก ในจำนวนนี้มีเด็กถูกลักพาตัวไปทำการค้ามนุษย์กว่า 25% และเป็นลักพาตัวเพื่อเรียกค่าไถ่ถึง 43%

แต่อันตรายและเรื่องไม่คาดคิดที่อาจเกิดขึ้นกับลูกมีมากกว่านั้น การ สอนลูกเอาตัวรอด ในสถานการณ์ฉุกเฉิน จึงเป็นทักษะที่จำเป็นและสำคัญที่จะทำให้ลูกสามารถรับมือเหตุการณ์ไม่คาดคิดได้

1. สอนเรื่องสำคัญสำหรับการเอาตัวรอด

emergency_web_1

#สอนให้ลูกจำข้อมูลสำคัญ คุณพ่อคุณแม่ควรสอนให้ลูกจดจำข้อมูลสำคัญที่จำเป็นต้องใช้เมื่อเกิดเหตุฉุกเฉิน เช่น ชื่อพ่อแม่และผู้ปกครอง ที่อยู่ เบอร์โทรศัพท์ หรือสถานที่ทำงาน และทบทวนกันอย่างสม่ำเสมอ โดยสามารถทำได้ผ่านกิจกรรมที่สนุกสนาน เช่น ร้องเพลง หรือจำลองสถานการณ์และเล่นบทบาทสมมติเพื่อทดสอบว่าลูกจำข้อมูลดังกล่าวได้ดีแค่ไหน

 #สอนลูกให้รู้จักเบอร์โทร. ฉุกเฉินยกตัวอย่างแนวการสอนเด็กๆ เพื่อขอความช่วยเหลือจากทางฝั่งอเมริกา โดย Michelle Tween ผู้อำนวยการด้านการศึกษาปฐมวัยแห่ง The Chapel School ให้คำแนะนำว่า ผู้ปกครองสามารถสอนลูกให้รู้จักเบอร์โทร. ฉุกเฉินหรือสายด่วนเพื่อขอความช่วยเหลือ ได้ตั้งแต่ลูกอายุ 3 ขวบ ด้วยการตั้งค่าเบอร์ที่สำคัญไว้ในโทรศัพท์มือถือ และกำชับว่าเอาไว้โทร. ในเวลาที่ฉุกเฉินจริงๆ เท่านั้น

#สอนลูกให้ช่างสังเกต การเป็นคนช่างสังเกต จะช่วยบรรเทาเหตุอันตรายได้ในหลายกรณี เช่น สอนให้ลูกสังเกตประตูเข้าออกและประตูหนีไฟของสถานที่ต่างๆ และสังเกตว่าว่าหากมีกลุ่มควันไฟลอยขึ้นมาจากตรงไหน หมายความว่า บริเวณนั้นอาจเกิดไฟไหม้ และสิ่งที่ลูกควรทำเมื่อเกิดเหตุไฟไหม้คืออะไรบ้าง

2. สอนให้ระวังตัวจากคนแปลกหน้า

emergency_web_2

มูลนิธิกระจกเงา ระบุว่าในช่วงสิบปี ปีที่ผ่านมา เด็กไทยอายุระหว่าง 3-12 ปี คือกลุ่มเป้าหมายที่ถูกลักพาตัวจากคนแปลกหน้าและคนใกล้ชิดมากที่สุด โดยในปี 2564 พบว่ามีเด็กสูญหายรวม 697 คนทางฝั่งอเมริกา มีรายงานจากสำนักงานสอบสวนกลาง (Federal Bureau of Investigation; FBI) ระบุว่า ในปี 2020 มีเด็กสูญหายกว่า 400,000 คน ส่วนใหญ่เป็นเด็กผู้หญิงอายุต่ำกว่า 12 ปี ถูกลักพาตัวโดยคนแปลกหน้า1% และถูกลักพาตัวจากคนใกล้ชิด 5%

Elana Pearl Ben-Joseph กุมารแพทย์ และบรรณาธิการด้านการแพทย์ที่ Nemours Center for Health Delivery Innovation ให้ความเห็นว่า เด็กส่วนใหญ่จะกลัวคนแปลกหน้าที่ดูหยาบคายและน่ากลัว ดังนั้นผู้ที่จะเข้ามาลักพาตัวเด็กๆ จึงมักเข้ามาด้วยท่าทีเป็นมิตร คุณพ่อคุณแม่จึงควรสอนให้ลูกสังเกตพฤติกรรมของคนแปลกหน้าที่เข้ามาหาเสมอ

ที่สำคัญคือ อย่าบังคับให้ลูกกอดและทักทายคนแปลกหน้า เพราะการไม่ไว้ใจคนอื่นถือเป็นกลไกการป้องกันตัวตามธรรมชาติของลูกเช่นกัน

ทางด้าน Richard So กุมารแพทย์ จาก Independence Family Health Center ให้ความเห็นว่าทันทีที่ลูกเริ่มเข้าโรงเรียน ผู้ปกครองควรสอนให้ลูกสังเกตคนแปลกหน้า ลูกจะต้องไม่รับของหรือยอมไปกับคนที่ไม่รู้จัก ลูกสามารถปฏิเสธ เดินหนี และขอความช่วยเหลือจากคนอื่นในบริเวณนั้นทันทีที่มีการสัมผัสตัวหรือรู้สึกไม่ชอบมาพากล

3. สอนทักษะการปฐมพยาบาลเบื้องต้น

emergency_web_3

การสอนให้ลูกรู้วิธีการปฐมพยาบาลเบื้องต้นเป็นสิ่งที่คุณพ่อคุณแม่ควรทำ เพื่อเตรียมความพร้อมให้ลูกสามารถช่วยเหลือตัวเองและคนอื่นเมื่อเกิดเหตุฉุกเฉินได้

โดยคุณพ่อคุณแม่อาจใช้วิธีเล่นแสดงบทบาทสมมติกับลูก เช่น ให้ลูกลองรับบทเป็น ‘หมอ’ ส่วนคุณพ่อคุณแม่หรือตุ๊กตาตัวโปรดของลูก รับบทเป็นคนไข้ เพื่อสอนวิธีช่วยปฐมพยาบาลเบื้องต้น เช่น รักษาแผลถลอกและฟกช้ำ แล้วศึกษาชุดปฐมพยาบาลเบื้องต้นร่วมกัน เพื่อให้เด็กๆ ฝึกฝนผ่านเครื่องมือจริงร่วมกัน

นอกจากนี้ พ่อคุณแม่สามารถสอนวิธีการให้ความช่วยเหลือคนในครอบครัวที่มีโรคประจำตัว หรือผู้ป่วยสูงอายุเบื้องต้นให้ลูกเตรียมความพร้อมที่จะช่วยเหลือคนอื่นเมื่อเกิดเหตุฉุกเฉินได้

4. สอนวิธีรับมือกับอันตรายที่มาจากอุบัติภัยภัยธรรมชาติ

emergency_web_4

ถึงแม้คุณพ่อคุณแม่จะมั่นใจว่าลูกจะปลอดภัยเสมอเมื่ออยู่กับคุณพ่อคุณแม่ แต่ถึงอย่างนั้นลูกก็ควรมีความรู้และความพร้อมที่จะรับมือกับสถานการณ์ฉุกเฉินที่อาจเกิดขึ้นได้ เช่น เมื่อมีลมพายุ ลูกไม่ควรเข้าไปอยู่ใกล้หน้าต่างเพราะลมแรงอาจทำให้กระจกแตกได้ หรือเมื่อมีไฟไหม้ มีควันก่อตัวหนาให้ใช้ผ้าชุบน้ำคลุมตัว แล้วรีบคลานต่ำไปที่ทางหนีไฟ และห้ามใช้ลิฟต์ หากเห็นน้ำทะเลลดลงอย่างกะทันหัน ให้รีบหนีขึ้นที่สูง หรือทำตามคำประกาศเตือน เพราะอาจเกิดสึนามิ หรือเมื่อเกิดแผ่นดินไหวให้ก้มหลบอยู่ใต้โต๊ะที่แข็งแรง รวมไปถึงเหตุวิกฤติต่างๆ เช่น ติดอยู่ในลิฟต์ หรือในรถตามลำพัง

โดยคุณพ่อคุณแม่สามารถให้ความรู้กับลูกได้ผ่านการเล่านิทาน ชี้ชวนให้ลูกสังเกตสิ่งแวดล้อมรอบตัว และข้อมูลที่คุณพ่อคุณแม่ค่อยๆ มอบให้กับลูกนั้น จะสามารถปกป้องตัวลูกเองได้ และช่วยเหลือครอบครัวในเวลาคับขันได้

อ้างอิง
kidshealth
health.clevelandclinic
nymetroparents
safeatlast
bottomlineis

Saranya A.

ศรัญญา อ่าวสมบัติกุล: คุณแม่มือใหม่ ที่มีความตั้งใจเลี้ยงลูกชายตัวน้อยด้วยการยึดโยงธรรมชาติ และความคิดสร้างสรรค์เข้าด้วยกัน คุณแม่คนนี้หลงรักและทำงานด้านการเขียนมากว่า 12 ปี ตอนนี้มีความฝันอยากเป็นนักวาดนิทานเด็ก

RELATED POST

COMMENTS ARE OFF THIS POST