READING

เมื่อเจ้าตัวน้อยเป็นเด็กขี้กลัว เราจะช่วยลูกยังไงด...

เมื่อเจ้าตัวน้อยเป็นเด็กขี้กลัว เราจะช่วยลูกยังไงดี?

บนโลกนี้ยังมีอีกหลายสิ่งหลายอย่างที่เด็กอย่างลูกๆ ของเรายังไม่รู้จักและไม่เข้าใจมันดี ทำให้คุณพ่อคุณแม่เกิดความไม่สบายใจ เพราะเมื่อลูกต้องพบเจอกับอะไรที่ไม่คุ้นเคย ก็มักมีอาการวิตกกังวลและหวาดกลัวได้

คุณพ่อคุณแม่อาจจะกังวลว่าลูกจะกลายเป็นเด็กขี้กลัว แต่ความจริงแล้ว ความกลัวก็เป็นสัญชาตญาณหนึ่งที่ทำให้มนุษย์ปลอดภัยจากอันตราย เพราะรู้สึกกลัวจึงไม่เอาตัวเองไปเผชิญหน้ากับสิ่งที่จะทำให้เกิดอันตรายกับตัวเองได้

ดังนั้นเด็กๆ กับความกลัว ไม่ใช่เรื่องที่น่ากังวล แต่คุณพ่อคุณแม่ควรคอยให้ความช่วยให้ลูกรับมือกับความกลัวของตัวเองได้ รวมถึงอธิบายเหตุและผลของสิ่งต่างๆ เพื่อให้ลูกเรียนรู้และแยกแยะได้ว่าอะไรคือสิ่งที่น่ากลัวและเป็นอันตรายจริงๆ หรือบางสิ่งอาจจะไม่ได้น่ากลัวอย่างที่ลูกคิดเพราะฉะนั้นสิ่งสำคัญที่คุณพ่อคุณแม่ควรเข้าใจก็คือ คือการช่วยให้ลูกน้อยจัดการกับอารมณ์ความรู้สึกและรับมือกับความกลัวของตัวเองได้

1. เข้าใจความกลัวของลูก

Scaredchild_web_1

เพราะเด็กคือช่วงเวลาของการเรียนรู้ เด็กๆ จึงมักจะมีความช่างสงสัย ช่างสังเกต และมีความคิดจินตนาการที่คุณพ่อคุณแม่คาดไม่ถึง ดังนั้นการเห็นหรือได้ยินเสียงอะไรที่ตัวเองไม่คุ้นชิน หรือไม่เคยรู้จักมาก่อน ก็อาจทำให้ลูกรู้สึกตกใจกลัว และใช้จินตนาการของตัวเองต่อเติมเรื่องราวให้น่ากลัวมากขึ้นไปอีก

ส่ิงสำคัญคือคุณพ่อคุณแม่ต้องไม่ตำหนิ ต่อว่า และไม่ตัดสินว่าความกลัวของลูกเป็นเรื่องผิด แต่ควรทำความเข้าใจความกลัวของลูก และหาวิธีอธิบายที่เหมาะสม เพื่อช่วยให้ลูกลดความกลัวลงได้

2. พูดคุยกับลูกด้วยเหตุผลและคำพูดที่เหมาะสม

Scaredchild_web_2

การไม่ตำหนิต่อว่า แต่พูดคุยกับลูกด้วยเหตุผลเป็นการเปิดโอกาสให้ลูกได้อธิบายความกลัวของตัวเองให้คุณพ่อคุณแม่ฟัง ทำให้คุณพ่อคุณไม่สามารถช่วยปลอบและอธิบายเพื่อให้ลูกคลายจากความกลัวลงได้ ด้วยการเลือกใช้คำพูดที่เหมาะสม และไม่ทำให้ลูกรู้สึกว่าความกลัวเป็นเรื่องไม่ปกติ เช่น “ไม่เห็นน่ากลัวตรงไหนเลย” หรือ “คนอื่นเขาไม่เห็นกลัวกันเลย” เพราะอาจจะไม่ได้ช่วยลดความกลัวของลูก แต่ยังทำให้ลูกรู้สึกว่าตัวเองผิดปกติในสายตาคุณพ่อคุณแม่อีกด้วย

3. ไม่เพิกเฉยต่อความกลัวของลูก

Scaredchild_web_3

เมื่อลูกแสดงออกถึงความหวาดกลัว คุณพ่อคุณแม่ไม่ควรเพิกเฉยต่อความรู้สึกของลูก หรือไปต่อว่าความกลัวของลูกเป็นเรื่องไร้สาระ การกระทำลักษณะนี้จะทำให้เด็กรู้สึกว่าไม่ปลอดภัย เพราะคุณพ่อคุณแม่ไม่ให้ความสำคัญกับความกลัวของเขา และรู้สึกว่าความกลัวเป็นเรื่องที่ผิดในสายตาคุณพ่อคุณแม่ จนต้องคอยปิดบังเอาไว้ ทำให้ความกลัวของลูกไม่ได้รับการแก้ไขอย่างเหมาะสม

4. ไม่บังคับให้ลูกเผชิญกับสิ่งที่ลูกกลัว

Scaredchild_web_4

ผู้ใหญ่บางคนมีความเชื่อว่า กลัวอะไรก็ให้เจอสิ่งนั้นบ่อยๆ เดี๋ยวก็หายกลัวไปเอง แต่ความจริงแล้วการบังคับให้ลูกเผชิญหน้ากับสิ่งที่ลูกกลัวอาจจะยิ่งทำให้ลูกยิ่งกลัวสิ่งนั้นมากขึ้น เพราะฉะนั้นควรปล่อยให้ลูกใช้เวลาในการปรับตัวและเอาชนะความกลัวด้วยตัวเอง หรือฝึกให้ลูกเผชิญกับสิ่งที่น่ากลัวทีละเล็กละน้อย อย่างค่อยเป็นค่อยไป และคอยให้กำลังใจ เพื่อให้ลูกกล้าที่จะเผชิญกับสิ่งที่กลัวมากขึ้น

อ้างอิง
SuthiRaXeuxPhirocnKic
thaihealth

Supinya R.

ชอบอ่านนิยายสยองขวัญ ชอบเขียนไดอารี่ และเป็นคุณแม่จำเป็นในบางเวลา :-)

RELATED POST

COMMENTS ARE OFF THIS POST