ทันทีที่ลูกน้อยคลอดออกมา ความกังวลและกดดันอันดับแรกๆ ของคุณแม่ตั้งแต่การเลี้ยงลูกยังไม่ทันเริ่ม ก็คงหนีไม่พ้นเรื่องของ นมแม่
คุณแม่ทุกคนรู้ดีว่าน้ำ นมแม่ มีสารอาหารที่ดีและมีประโยชน์ต่อลูกมากแค่ไหน แต่ก็ไม่ใช่คุณแม่ทุกคนที่ร่างกายจะพร้อมผลิตน้ำนมได้ทันทีหรือมากพอกับความต้องการของลูก
สำหรับคุณแม่ที่ตั้งใจว่าจะเลี้ยงลูกด้วยนมแม่ ถ้าร่างกายไม่สามารถผลิตน้ำนมได้ในปริมาณที่ควรเป็น ก็ยิ่งทำให้คุณแม่มีความเครียด ยิ่งเครียดก็ยิ่งส่งผลต่อการผลิตน้ำนมต่อไปได้
พอไม่มีน้ำนมให้ลูกกินในช่วง 2-3 เดือนแรก คุณแม่หลายคนจึงเริ่มถอดใจ ที่จะเลี้ยงลูกด้วย นมแม่ อย่างที่คิดไว้แต่แรก แต่ก่อนจะถึงวันนั้น เราอยากจับมือและให้กำลังใจคุณแม่ ลองใช้เทคนิคง่ายๆ ในการช่วยเรียกน้ำนมให้คุณแม่ดูอีกครั้ง แต่จะได้ผลหรือไม่ได้ผลอย่างไรนั้น ก็ขอให้คุณแม่ทำใจให้สบาย เพราะถึงนมแม่จะสำคัญกับการเติบโตของลูกมากแค่ไหน แต่ความเครียดของคุณแม่ก็ส่งผลต่อคุณภาพการเลี้ยงดูและจิตใจของลูกไม่น้อยไปกว่ากันนะคะ
1. ให้ลูกเข้าเต้าบ่อยขึ้น
การให้ลูกเข้าเต้าอยู่บ่อยๆ จะช่วยให้ร่างกายของคุณแม่ผลิตฮอร์โมนโพรแลกทิน (prolactin: PRL) ที่ช่วยกระตุ้นการผลิตน้ำนมและการหลั่งน้ำนม นั่นหมายความว่ายิ่งให้ลูกเข้าเต้ามากเท่าไร ร่างกายก็จะได้รับการกระตุ้นให้พยายามสร้างน้ำนมมากขึ้นเท่านั้น
เพราะฉะนั้นแล้วการให้ลูกเข้าเต้าบ่อยๆ หรืออย่างน้อย 8-12 ครั้งต่อวัน จะช่วยให้คุณแม่มีน้ำนมมากขึ้นได้
2. ใช้การปั๊มนมช่วย
นอกจากจะให้ลูกเข้าเต้าแล้ว คุณแม่สามารถใช้เครื่องปั๊มนมเป็นผู้ช่วยกระตุ้นการผลิตน้ำนมได้
ด้วยการปั๊มทุก 2-3 วัน ครั้งละเวลา 10-20 นาที หลังจากให้ลูกเข้าเต้าแล้ว การปั๊มนมหลังจากให้ลูกดูดนมจากเต้าแล้วจะทำให้น้ำนมในเต้านมหมดเกลี้ยง ร่างกายก็จะสั่งผลิตน้ำนมใหม่มาทดแทน
หรือถ้าหากคุณแม่ไม่ได้ให้ลูกเข้าเต้าเป็นประจำ ก็สามารถปั๊มให้บ่อยขึ้นได้
นอกจากนั้นยังมีงานวิจัยระบุว่าคุณแม่ชาวออสเตรเลียกว่า 31 คน พบว่าการปั๊มนมจากเต้าทั้งสองข้างพร้อมกัน จะช่วยเพิ่มการผลิตน้ำนมและทำให้น้ำนมแม่มีไขมันสูงขึ้นอีกด้วย
3. ให้ลูกเข้าเต้าทั้งสองข้าง
ร่างกายของคุณแม่ฉลาดมากนะคะ ถ้าคุณแม่ให้ลูกเข้าเต้าเพียงข้างเดียวเป็นประจำ ร่างกายก็จะผลิตน้ำนมจากเต้าข้างนั้นมากกว่า แต่ถ้าคุณแม่ให้ลูกเข้าเต้าสลับไปมาทั้งสองข้าง จะเป็นการกระตุ้นให้ร่างกายช่วยกันผลิตน้ำนมออกมาในปริมาณมากเท่ากันทั้งสองข้าง
วิธีการให้ลูกเข้าเต้าสองข้างสลับกันก็คือ เมื่อสังเกตว่าลูกเริ่มดูดเต้านมช้าลงแล้ว ลองเปลี่ยนท่าแล้วสลับข้าง เพื่อให้ลูกช่วยดูดกระตุ้นน้ำนมอีกข้างแทนได้เลยค่ะ
4. กินอาหารหรือสมุนไพรเพิ่มน้ำนม
มีอาหารและสมุนไพรหลายชนิดที่มีคุณสมบัติช่วยเพิ่มน้ำนมให้คุณแม่ได้ เช่น หัวปลี ขิง ใบแมงลัก ใบกะเพรา และโปยกั๊ก ที่คุณแม่สามารถนำมาทำเป็นเมนูกระตุ้นน้ำนมได้
5. นวดหน้าอกขณะปั๊มนม
คุณแม่สามารถนวดเบาๆ บริเวณเต้านมในระหว่างที่กำลังปั๊มนม เพื่อกระตุ้นให้น้ำนมไหลได้ดีขึ้น หรือใช้ผ้าสะอาดชุบน้ำอุ่นบิดหมาดๆ ช่วยประคบและนวดเบาๆ ก็ให้ร่างกายผลิตน้ำนมได้ดีขึ้นเช่นกันค่ะ
6. กินอาหารที่มีประโยชน์และน้ำดื่มมากขึ้น
ร่างกายที่จะผลิตน้ำนมได้ดีก็ต้องสมบูรณ์และแข็งแรง นั่นหมายความว่าคุณแม่ก็ต้องกินอาหารที่มีประโยชน์ เพื่อให้ร่างกายได้รับสารอาหารครบถ้วน ดื่มน้ำมากๆ เพื่อช่วยให้ระบบต่างๆ ในร่างกายทำงานได้ดีขึ้น
7. พักผ่อนให้เพียงพอ
การพักผ่อนให้เพียงพอถือว่ามีความสำคัญต่อคุณแม่แรกคลอด ทั้งในแง่ของการฟื้นฟูร่างกายและจิตใจแล้ว การเลี้ยงลูกตลอดเวลาจนไม่ได้พักผ่อนอาจทำให้ร่างกายอ่อนเพลีย เกิดความเครียดสะสม ส่งผลให้ร่างกายผลิตน้ำนมได้น้อย
ดังนั้น คุณแม่จึงควรมีเวลาให้ตัวเองได้พักผ่อนและผ่อนคลายจากการเลี้ยงลูก เมื่อลดความเครียดลง ร่างกายก็จะสามารถผลิตน้ำนมได้ดีขึ้น
COMMENTS ARE OFF THIS POST