คงไม่มีพ่อแม่คนไหนตั้งใจว่าตัวเองจะกลายเป็นพ่อแม่ที่ขี้บ่นในสายตาลูกหรอกจริงไหมคะ แต่พอเอาเข้าจริง ลูกตัวดีก็ไม่ค่อยจะให้ความร่วมมือกับคำพูดของคุณพ่อคุณแม่เท่าไรนัก ไปๆ มาๆ การต้องพูดหรือบอกอะไรซ้ำๆ ก็กลายเป็นการบ่นไปโดยปริยาย
เวลาลูกเริ่มดื้อ พูดอะไรก็ไม่เชื่อฟัง ไม่ทำตาม คุณพ่อคุณแม่ก็ต้องใช้วิธีพูดบ่อยๆ พูดซ้ำ พอไม่ได้ผลนานเข้าก็เริ่มใช้น้ำเสียงที่ไม่น่าฟัง ก็ยิ่งทำให้ลูกมีพฤติกรรมเมินเฉย ต่อต้าน และอาจแสดงความก้าวร้าวกลับมาได้
เพราะฉะนั้นลองมาดูกันดีกว่าว่า เราจะมีวิธีบอกให้ลูกเชื่อฟังอย่างไร โดยไม่ต้องใช้การบ่นให้ลูกรู้สึกเบื่อ และคุณพ่อคุณแม่ก็จะได้ไม่ต้องเบื่อที่ต้องคอยบ่นลูกบ่อยๆ ด้วยค่ะฟ
1. เน้นการพูดประโยคให้ชัดเจนและจริงจัง
บางครั้งลูกไม่ได้ตั้งใจที่จะดื้อ แต่ที่ดูเหมือนลูกไม่เชื่อฟังหรือไม่ยอมทำตาม อาจเป็นเพราะไม่เข้าใจสิ่งที่คุณพ่อคุณแม่ต้องการ เพราะคุณพ่อคุณแม่เผลอพูดอะไรที่อยู่นอกประเด็น จนทำให้ลูกไม่สามารถจับใจความสำคัญได้ เช่น อยากให้ลูกรีบเข้านอน ด้วยเหตุผลสำคัญคือพรุ่งนี้ลูกต้องตื่นไปโรงเรียนแต่เช้า คุณพ่อคุณแม่ก็ควรบอกเหตุผลและสิ่งที่ต้องการให้ลูกทำด้วยความชัดเจน แทนที่จะอ้อมค้อมหรือหยิบยกเรื่องอื่นมาพูดผสมจนกลายเป็นประโยคที่ยาวและยากเกินกว่าที่ลูกจะเข้าใจได้
2. มีทางเลือกให้ลูก
พูดดีก็แล้ว บ่นก็แล้ว ดุก็แล้ว… แต่ทำไมลูกก็ยังไม่เชื่อฟังสักที การสร้างทางเลือกให้ลูกได้มีส่วนในการตัดสินใจในบริบทที่คุณพ่อคุณแม่จัดไว้ให้ จะช่วยลดปัญหานี้ได้ เช่น “หนูจะแปรงฟันหรืออาบน้ำก่อนดีคะ” เพราะไม่ว่าเขาจะเลือกอะไรก่อน ก็เป็นสิ่งที่คุณพ่อคุณแม่ตั้งใจให้ลูกทำอยู่ดี แต่ลูกจะให้ความร่วมมือมากกว่าเพราะว่าได้ทำในสิ่งที่ตัวเองเลือกค่ะ วิธีนี้เด็กๆ จะได้แสดงความเป็นตัวของตัวเอง และไม่ต่อต้านค่ะ
3. ไม่ใช้คำสั่งกับลูก
ลองเปลี่ยนจากการใช้คำสั่งเป็นการเชิญชวนและทำข้อตกลงร่วมกันดีกว่าค่ะ เช่น ลูกจะอาบน้ำเวลาไหน และเข้านอนกี่โมงกันดีอาจชวนลูกทำเป็นตารางเวลากิจวัตรประจำวัน ให้เขามีส่วนร่วมในการรับรู้ และตกลงร่วมกัน
ช่วงแรกๆ เมื่อถึงเวลาคุณพ่อคุณแม่อาจจะคอยเตือนว่า ตอนนี้ได้เวลาทำกิจกรรมที่ตกลงกันไว้แล้ว จะช่วยให้ลูกรู้จักรับผิดชอบหน้าที่ของตัวเองโดยที่คุณพ่อคุณแม่ไม่ต้องคอยออกคำสั่งใหลูกทำอะไรซ้ำๆ
4. เลือกใช้น้ำเสียงให้เหมาะสม
เพราะน้ำเสียงสามารถบ่งบอกอารมณ์ได้ หากจะพูดว่า “ลูกทำการบ้านหรือยัง” ด้วยน้ำเสียงที่อ่อนหวานแต่จริงจัง ไม่ทีเล่นทีจริง แทนการตะคอกดุดัน ก็จะทำให้ลูกรู้สึกว่าคุณพ่อคุณแม่เป็นห่วงและช่วยเตือนว่าได้เวลาทำการบ้านแล้ว แต่ถ้าคุณพ่อคุณแม่ใช้น้ำเสียงขึงขัง อาจทำให้ลูกรู้สึกกดดันและไม่อยากให้ความร่วมมือ ทำให้คุณพ่อคุณแม่ต้องคอยถามหรือพูดซ้ำๆ
COMMENTS ARE OFF THIS POST