การลงโทษหรือทำให้ลูกรู้ว่าเขากำลังทำผิดมีหลายวิธี คุณพ่อคุณแม่หลายคนยึดหลักสุภาษิตโบราณที่ว่า ‘รักวัวให้ผูก รักลูกให้ตี’ แต่ในความเป็นจริงแล้ว เรามีวิธีที่จะอบรมสั่งสอนหรือทำโทษลูกได้ด้วยอีกหลายวิธีที่ดีกว่า และอาจจะให้การตีเป็นทางเลือกสุดท้ายในการลงโทษลูก
เพราะการลงโทษลูกด้วยการตีบ่อยๆ เด็กจะซึมซับความรุนแรง และนำไปใช้กับคนอื่น ดังนั้นคุณพ่อคุณแม่ควรหาวิธีที่จะใช้ลงโทษลูกได้ โดยไม่ใช้ความรุนแรง แต่ก็เด็ดขาดพอที่จะทำให้ลูกรู้ว่า คุณเอาจริง และจะไม่ยอมปล่อยให้ลูกทำความผิดโดยไม่อบรมตักเตือนแน่นอน
1. สบตาและอธิบายเปรียบเทียบให้เห็นภาพ
วิธีนี้เหมาะสมหรับเด็กเล็ก ใช้วิธีเข้าถึงตัว สบตา และใช้น้ำเสียงให้เหมาะสมกับสถานการณ์ รวมถึงอธิบายสั้นๆ เปรียบเทียบให้เห็นภาพ ยกตัวอย่างเช่น “ถ้าหนูตีเพื่อน แล้วแม่ตีลูกบ้างจะชอบไหม”
2. ตักเตือน 1-3 ครั้ง
วิธีนี้ใช้เพื่อส่งสัญญาณเตือนให้ลูกรู้ว่า ถ้าทำผิดอีกจะต้องรับโทษ และโทษที่หนักที่สุดอาจจะเป็นการตี และข้อดีของการเตือนก่อนคือ ลูกจะกลัวและไม่ทำผิดอีก เพราะกลัวถูกตี
3. ส่งน้ำเสียงและสายตาอย่างชัดเจน
วิธีนี้ใช้เพื่อให้ลูกจดจำ ทั้งการใช้น้ำเสียงและส่งสายตาไม่พอใจของคุณแม่ เมื่อไรก็ตามที่คุณแม่ส่งสัญญาณเหล่านี้มา ลูกจะได้ไม่กล้าทำผิด
4. แสดงให้เห็นว่าเด็กไม่น่ารัก ไม่ควรได้รับความสนใจ
วิธีนี้ใช้เพื่อหยุดพฤติกรรมไม่น่ารักของลูก เช่น เมื่อลูกให้ร้องไห้อาละวาด ก็ไม่ควรรีบเข้าไปตามใจ เพื่อให้ลูกรู้ว่าถ้าดื้อจะไม่มีใครสนใจ สักพักเด็กจะหยุดร้องไห้ไปเอง หลังจากนั้นให้เข้าไปคุยกับลูก เกี่ยวกับวิธีการแก้ปัญหาหรือชวนไปทำกิจกรรมอื่นแทน
5. จับแยกให้อยู่ตามลำพังหรือไทม์เอาต์
วิธีนี้ใช้ได้ผลกับเด็กอายุระหว่าง 2-10 ปี เพื่อให้ลูกสงบสติอารมณ์ โดยพาลูก ไปนั่งเก้าอี้ ที่อยู่ในบริเวณไม่มีของเล่น หรือโทรทัศน์ แต่อย่าขังลูกไว้ในห้องน้ำ หรือห้องมืดเด็ดขาด และให้ลูกนั่งนานตามอายุ เช่น ลูกอายุ 3 ขวบให้นั่งนาน 3 นาที
หลังจากจบการลงโทษ คุณพ่อคุณแม่ควรให้ความสนใจทันที และสอนเหตุผลที่ทำโทษ
6. งดทำกิจกรรมที่ชอบ
วิธีนี้ใช้ได้ผลกับเด็กอายุ 6 ปีขึ้นไป เพราะเข้าใจเงื่อนไขและรู้จักคิด ไตร่ตรอง การลงโทษด้วยวิธีนี้ เป็นการฝึกให้ลูกมีระเบียบวินัย รู้จักใช้เหตุผลในการแก้ไขปัญหา ตัวอย่างเช่น ไม่อนุญาตให้ออกไปเล่นกับเพื่อน จนว่าลูกจะทำการบ้านเสร็จ
7. รับผิดชอบกับพฤติกรรมที่ทำลงไป
วิธีนี้ได้ผลลัพธ์ดีกว่าการตีเสียอีก ทุกครั้งที่ถูกตี ลูกอาจไม่รู้เหตุผลด้วยซ้ำว่า ตีเพราะอะไร แต่ถ้าคุณพ่อคุณแม่ให้ลูกแก้ไขสิ่งที่ทำผิดด้วยตัวเอง เช่น เมื่อลูกทำน้ำหกให้เช็ดด้วยตัวเอง ลูกจะเรียนรู้ได้ว่าเขาต้องรับผิดชอบกับผลการกระทำของตัวเองเสมอ
COMMENTS ARE OFF THIS POST