READING

4 วิธีสอนลูกน้อยวัยอนุบาลให้เป็น ‘เพื่อน’ ที่ดี...

4 วิธีสอนลูกน้อยวัยอนุบาลให้เป็น ‘เพื่อน’ ที่ดี

เมื่อลูกน้อยเติบโตถึงวัยที่ต้องเข้าโรงเรียน การพบเจอกับสังคมใหม่ เจอเพื่อนร่วมห้องหรือร่วมโรงเรียนเดียวกัน เป็นช่วงเวลาที่ทำให้ลูกได้รู้จักความสัมพันธ์รูปแบบใหม่ และสถานะใหม่ของตัวเอง นั่นก็คือการเป็น ‘เพื่อน’ ซึ่งทำให้ลูกต้องเรียนรู้ที่จะปรับตัวให้สามารถเป็นเพื่อนที่ดีและอยู่ร่วมกับคนอื่นในสังคมได้

แต่เราก็คงปฏิเสธไม่ได้ว่า การที่เด็กมากหน้าหลายตา มาจากหลากหลายครอบครัวต้องมาอยู่ร่วมกันในสังคมใหม่ ก็อาจจะต้องมีเรื่องให้ทะเลาะและขัดใจกันอยู่บ้าง

การทะเลาะกันของเด็ก ผู้ใหญ่หลายคนอาจมองว่าเป็นเรื่องเล็ก แต่หากไม่ได้รับการแก้ไขอย่างถูกวิธี เรื่องเล็กๆ ก็อาจลุกลามเป็นปัญหาใหญ่ เช่น ทำให้ลูกไม่อยากไปโรงเรียน หรือลูกกลายเป็นเด็กไม่ชอบการเข้าสังคมต่อไปได้

แต่ถึงอย่างนั้น คุณพ่อคุณแม่ก็ไม่ควรเก็บเอาปัญหาความขัดแย้งของลูกกับเด็กคนอื่นมาเป็นอารมณ์หรือทำให้ความขัดแย้งลุกลามจนกลายเป็นปัญหาระหว่างผู้ปกครองด้วยกัน

และเพื่อสร้างภูมิต้านทานให้ลูกตั้งแต่เนิ่นๆ เราชวนคุณพ่อคุณแม่มาปลูกฝังนิสัยและพฤติกรรมความเป็นเพื่อนที่ดีให้กับลูกน้อยกันค่ะ

1. เพื่อนกันก็สามารถทะเลาะกันได้

goodfriend_web_1

เด็กๆ อาจจะยังไม่รู้จักการผ่อนปรนหรือให้อภัย เมื่อเกิดปัญหาขัดใจกัน มักเลือกใช้วิธีแตกหัก เช่น “เราไม่เล่นกับเธอแล้ว” หรือ “เราจะบอกคนอื่นไม่ให้เล่นกับเธอด้วย”

สถานการณ์แบบนี้ทำให้เด็กรู้สึกเหมือนโลกจะแตก เพราะเข้าใจว่าเมื่อทะเลาะกันแล้วจะต้องเลิกเป็นเพื่อน และไม่สามารถกลับมาเป็นเพื่อนกันได้อีก ซึ่งคุณพ่อคุณแม่อาจจะบอกให้ลูกรู้ล่วงหน้าว่า ถ้าหากทะเลาะกับเพื่อน ลูกอาจจะโกรธแต่ไม่จำเป็นต้องเลิกเป็นเพื่อนกับเขานะคะ หรือบางครั้งเราโกรธเพื่อน และเพื่อนก็อาจจะโกรธเรา แต่เมื่ออารมณ์เย็นลงแล้วลูกอาจจะเป็นฝ่ายขอโทษหรือให้อภัยเพื่อนก่อนก็ได้

2. ทุกคนสามารถเป็นเพื่อนกันได้

goodfriend_web_2

เด็กๆ มักมีอาการน้อยใจหรือไม่พอใจที่เพื่อนของตัวเองไปเล่นหรือใกล้ชิดกับคนอื่น ด้วยความกลัวว่าตัวเองจะถูกละเลยหรือไม่มีเพื่อนเล่น ดังนั้นคุณพ่อคุณแม่เตรียมตัวบอกลูกเอาไว้ก่อนได้เลยว่า คนเราสามารถมีเพื่อนได้หลายคน และมีได้อย่างไม่จำกัด ลูกไม่จำเป็นต้องหวงเพื่อนไว้เล่นกับตัวเองคนเดียว ถ้าเพื่อนอยากเล่นกับคนอื่นบ้างก็เป็นเรื่องธรรมดา และลูกก็สามารถเล่นกับเพื่อนคนอื่นแทนได้เช่นกัน

3. เพื่อนไม่จำเป็นต้องตามใจหรือคอยเล่นด้วยตลอดเวลา

goodfriend_web_3

เด็กๆ มักจะหงุดหงิดใจเมื่อเพื่อนไม่ตามใจ หรือไม่ยอมเล่นของเล่นที่ตัวเองอยากเล่น  ดังนั้นคุณพ่อคุณแม่ควรสอนให้ลูกเข้าใจว่า เพื่อนก็มีสิทธิ์ที่จะตัดสินใจว่าเขาอยากเล่นหรือไม่อยากเล่นอะไร ถ้าลูกและเพื่อนไม่ได้อยากเล่นในสิ่งเดียวกัน ให้ลูกลองตัดสินใจว่าจะเปลี่ยนไปเล่นสิ่งที่เพื่อนเล่นอยู่ หรือจะเล่นคนเดียว และถ้าไม่อยากเล่นคนเดียว ลูกอาจจะลองชวนเพื่อนคนอื่นๆ มาเล่นด้วยก็ได้ แต่สิ่งที่ลูกไม่ควรทำก็คือ บังคับหรือฝืนใจให้เพื่อนทำตามใจตัวเองมากกว่า

4. เพื่อนกันไม่ควรทำร้ายกัน

goodfriend_web_4

ปัญหาการกลั่นแกล้งในโรงเรียน พบได้ตั้งแต่ในวัยอนุบาล นี่จึงเป็นเหตุผลสำคัญที่คุณพ่อคุณแม่ควรสอนให้ลูกรู้จักรู้จักการยับยั้งชั่งใจ และรู้ว่าควรแสดงออกอย่างไรเมื่อไม่พอใจ เช่น เมื่อลูกรู้สึกโกรธเพื่อน ควรหาโอกาสคุยกับเพื่อน หากไม่สามารถควบคุมได้ ให้เอาตัวเองออกมาจากตรงนั้น และสิ่งที่ไม่ควรทำเด็ดขาดคือพูดจารุนแรง หยาบคาย หรือใช้กำลังทำร้ายร่างกายเพื่อน

 

ที่มา
se.ed.learning.center
trueplookpanya

Supinya R.

ชอบอ่านนิยายสยองขวัญ ชอบเขียนไดอารี่ และเป็นคุณแม่จำเป็นในบางเวลา :-)

COMMENTS ARE OFF THIS POST