ไม่ว่าเราจะเกิดที่ไหน ฐานะอยากดีมีจน หรือมีความคิดความเชื่อที่แตกต่างกันอย่างไร ทุกคนก็ควรที่จะได้มี ‘สิทธิมนุษยชน’ ที่เท่าเทียมกันทั้งสิ้น
แม้คำว่า สิทธิมนุษยชน อาจจะดูเป็นเรื่องยากหรือซับซ้อนเกินไปสำหรับเด็ก แต่จริงๆ แล้วสิทธิมนุษยชนถือเป็นเรื่องพื้นฐานที่ที่เด็กทุกคนควรมีโอกาสได้รับรู้และเข้าใจและรับรู้ เพราะการเข้าใจเรื่องสิทธิของตัวเองและคนอื่น เป็นปัจจัยสำคัญที่จะทำให้เด็กมองเห็นคุณค่าในตัวเอง เคารพตัวเอง รู้ว่าตัวเองมีสิทธิ์ในการพูดหรือแสดงความคิดเห็นถึงสิ่งต่างๆ ได้ เมื่อเด็กเข้าใจสิทธิขั้นพื้นฐานของตัวเองแล้ว ยังเป็นการสอนให้เด็กรู้จักให้เกียรติ เคารพ และรับฟังความคิดเห็นของคนอื่นด้วยความเข้าใจมากยิ่งขึ้น
แต่คุณพ่อคุณแม่อาจจะยังนึกไม่ออกว่า จะพูดเรื่อง ‘สิทธิมนุษยชน’ ให้ลูกเข้าใจได้อย่างไร M.O.M จึงเอาบทเรียนง่ายๆ มาสรุปให้คุณพ่อคุณแม่ใช้อธิบายให้ลูกฟังและทำความเข้าใจไปด้วยกันค่ะ
สิทธิมนุษยชนคืออะไรกันนะ?

สิทธิมนุษยชน (Human right) คือ สิทธิ์ที่คนทุกคนบนโลกควรจะมีความเท่าเทียมกัน ไม่ว่าจะเป็นเสรีภาพในการดำรงชีวิต ศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์ สิทธิ และความเสมอภาค ซึ่งสิทธิ์นี้เองที่ทำให้เราไม่ควรล่วงเกินหรือล่วงละเมิดผู้อื่นทั้งทางร่างกายและจิตใจ รวมทั้งคนอื่นก็ไม่มีสิทธิ์ที่จะเข้ามาล่วงละเมิดเราได้เช่นกัน
ยกตัวอย่างง่ายๆ หากมีคนเข้ามาทำร้ายลูก หรือสัมผัสตัวลูกโดยที่ลูกไม่ยิน เพียงเท่านี้ก็ถือว่าคนนั้นได้ทำการละเมิดสิทธิมนุษยชนของลูกแล้ว
ในประเทศไทย รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทยฉบับปัจจุบัน (พ.ศ. 2560) ได้ระบุถึงการคุ้มครองสิทธิมนุษยชนไว้หลายมาตรา และยังมีการพูดถึงสิทธิและเสรีภาพของคนไทยไว้หลายด้าน เช่น ความยุติธรรมทางอาญา การศึกษา การไม่เลือกปฏิบัติ เสรีภาพในการแสดงออก การไม่ก้าวก่ายชีวิตส่วนตัว และข้าวของเครื่องใช้ส่วนตัว
พูดง่ายๆ ก็คือเราทุกคนล้วนมีสิทธิและเสรีภาพในชีวิตและร่างกาย เสรีภาพในการนับถือศาสนา เสรีภาพในการแสดงความคิดเห็น เสรีภาพทางการศึกษา สิทธิในการรับรู้และมีส่วนร่วม สิทธิในการร้องทุกข์และฟ้องคดี สิทธิของการเป็นผู้ต้องหา หรือแม้แต่เด็กๆ เองก็มีสิทธิของเด็กเช่นกัน เอาเป็นว่าไม่ว่าจะใครก็ล้วนมีสิทธิ์ที่เท่าเทียมกันทั้งสิ้นค่ะ
มีวันสิทธิมนุษยชนโลกด้วยนะ

วันสิทธิมนุษยชนโลก ถูกกำหนดขึ้นโดยองค์การสหประชาชาติในช่วงสงครามโลกครั้งที่สอง ซึ่งทำให้บ้านเมืองเสียหาย ประชาชนเกิดความบอบช้ำทั้งกายและใจไปทั่วโลก
และความรุนแรงที่เกิดขึ้นก็เริ่มส่งสัญญาณให้ทุกคนเริ่มให้มองเห็นความสำคัญของความเป็นมนุษย์ซึ่งกันและกัน รวมไปถึงเห็นผลร้ายของการล่วงละเมิดกันและกันด้วย
สหประชาชาติจึงมีมติรับรองว่าด้วยสิทธิมนุษยชน (The Universal Declaration of Human Rights) ลงนามในวันที่ 10 ธันวาคม ค.ศ. 1948 และประกาศให้วันดังกล่าวของทุกปีเป็นวันสิทธิมนุษยชนสากล (Human Rights Day) เพื่อให้ทั่วทุกมุมโลกตระหนักถึงผลกระทบความเลวร้ายที่เคยเกิดขึ้น
ถูกทำร้าย ถูกแตะต้อง ถูกห้ามพูด คือการละเมิดสิทธิ์

แม้จะมีกฎหมายคุ้มครอง แต่ปัญหาการถูกทำร้ายร่างกาย การล่วงละเมิดทางเพศ การคุกคามคนที่มีความคิด ความเชื่อ หรืออุดมการณ์ที่แตกต่างก็ยังคงเกิดขึ้นในสังคมอย่างต่อเนื่อง
โดยเฉพาะเด็กๆ ที่อาจยังไม่เข้าใจและไม่รู้จักการปกป้องตัวเอง การถูกละเมิดสิทธิ์ทั้งทางร่างกายและจิตใจจึงเป็นเรื่องที่เกิดขึ้นกับเด็กได้ง่าย และนี่ก็คือเหตุผลว่าทำไม คุณพ่อคุณแม่จึงควรอธิบายให้ลูกเข้าใจเรื่องสิทธิมนุษยชนตั้งแต่เนิ่นๆ
COMMENTS ARE OFF THIS POST