คุณพ่อคุณแม่ทุกคนย่อมเคยผ่านสถานการณ์ที่ลูกดื้อจนอยากกรีดร้องออกมาว่า ทำไมลูกดื้ออย่างนี้! ใครมีวิธีดีๆ แก้ลูกดื้อหน่อยยยย…
แต่ถึงจะมีแนวทาง หลักการ หรือเคล็ดลับวิชาอย่างไรก็ตาม การ รับมือลูกดื้อ ก็ยังคงเป็นศิลปะที่แต่ละครอบครัวจะต้องหาเทคนิควิธีเฉพาะตัว มาปรับใช้รับมือกับความดื้อของลูกอย่างเหมาะสม เช่น เด็กบางคนชอบให้พูดจาอ่อนหวาน ถึงจะเชื่อฟัง ในขณะที่เด็กบางคนต้องใช้น้ำเสียงที่จริงจังมากขึ้น ถึงจะหันมาสนใจสิ่งที่คุณพ่อคุณแม่สักนิด
แต่ถึงอย่างนั้น ก็มีงานวิจัยที่บอกว่า หากคุณพ่อคุณแม่ใช้เสียงหัวเราะเข้าสู้ หรือหาจังหวะยิงมุกตลกให้ถูกจังหวะ ก็เป็นวิธีที่ใช้ รับมือลูกดื้อ ได้
รู้อย่างนี้แล้ว ลองมาทำความเข้าใจวิธีการใช้อารมณ์ขันและเสียงหัวเราะรับมือกับลูกที่ดื้อจนน่าปวดหัวไปด้วยกันดีกว่าค่ะ
1. ปรับพฤติกรรมลูก ด้วยเสียงหัวเราะ
จากการงานวิจัยที่ตีพิมพ์ในวารสาร PLOS One เมื่อเดือนกรกฎาคม 2024 พบว่า คุณพ่อคุณแม่สายฮา ที่มองโลกในแง่ดี และมีเสียงหัวเราะอยู่เสมอ จะสามารถรับมือกับลูกได้ดีและไม่ทำให้ลูกรู้สึกเครียดเกินไป เมื่อลูกอยู่กับคุณพ่อคุณแม่ที่อารมณ์ดี และทำให้มีเสียงหัวเราะได้ ก็จะทำให้ลูกมีทัศนติการใช้ชีวิตที่ดี ความสัมพันธ์กับคุณพ่อคุณแม่แน่นแฟ้น และมีแนวโน้วที่จะใช้วิธีนี้เลี้ยงลูกของตัวเองในอนาคต
Anne Libera ผู้ช่วยศาสตราจารย์ด้านการเขียนบทตลกและการแสดงที่ Columbia College Chicago และผู้ทำการวิจัยร่วม อธิบายว่า เสียงหัวเราะเป็นจุดตั้งต้นที่ช่วยคลายอารมณ์หงุดหงิดที่เกิดขึ้นตามธรรมชาติ ช่วยลดความเครียด ทำให้คุณพ่อคุณแม่คิดหาวิธีแก้ปัญหาได้ดีขึ้น และบางสถานการณ์การใช้มุกตลกช่วยเปลี่ยนพฤติกรรมของลูกได้
ยกตัวอย่าง เมื่อลูกวัยอนุบาลไม่ยอมไปอาบน้ำ คุณพ่อคุณแม่อาจต้องลองใหม่ใช้วิธีที่จะทำให้ลูกมีเสียงหัวเราะ เช่น ฟ้องคุณห้องน้ำว่าลูกไม่ยอมมาอาบน้ำสักที หรือบอกคุณยาสระผมว่าวันนี้คงต้องเหงาหน่อยนะ เพราะเด็กแถวนี้ไม่ชอบสระผมด้วย พอบรรยากาศเริ่มสนุกสนาน ก็อาจทำให้ลูกยอมให้ความร่วมมือกับการอาบน้ำมากขึ้น
2. ใช้เรื่องตลกให้เหมาะสมกับวัยลูก
Dr. Katie Hurley นักจิตบำบัดเด็กและวัยรุ่น ระบุว่า เด็กเล็กเป็นช่วงวัยที่ตอบสนองต่อมุกตลกโปกฮาของคุณพ่อคุณแม่ได้ดี เช่น แค่คุณพ่อคุณแม่ทำเสียงผิดเพี้ยนไปจากปกติ ลูกก็หัวเราะร่าได้แล้ว
ตัวอย่างหนึ่งจากการศึกษาข้างต้น ระบุว่า การปลอบโยนเด็กวัยเตาะแตะด้วยการทำท่าหรือเสียงตลกๆ เป็นวิธีที่ได้ผลดีที่สุด อาจเป็นเพราะลูกรู้สึกแปลกใจจนหยุดร้องไห้ และเริ่มเปลี่ยนเป็นหัวเราะให้กับความแปลกตามไปด้วย การศึกษาชิ้นนี้ ทำให้นึกถึงตอนหนึ่งในภาพยนต์อะนิเมชั่นเรื่อง Inside Out คุณพ่อของไรลีย์ชอบทำท่าลิงอุรังอุตังพร้อมส่งเสียงร้องทุกครั้ง ที่ต้องการให้ไลลี่รู้สึกดีขึ้น และไลลี่ก็มักจะทำท่านี้ตามเสมอด้วยเสียงหัวเราะอย่างสนุกสนาน
กระทั่งไรลีย์เติบโตเป็นสาวแรกรุ่น กลับบ้านมาด้วยอารมณ์หงุดหงิด ไม่อยากคุย กำลังโกรธ หรือร้องไห้ ซึ่งเป็นเรื่องที่แม้แต่ตัวลูกเองยังไม่เข้าใจ คุณพ่อจึงลองใช้วิธีนี้อีกครั้ง แน่นอนว่า ในวัยนั้น วิธีเดิมย่อมไม่ได้ผล
ตรงกับงานวิจัยที่ระบุว่า เมื่อเด็กๆ เติบโตขึ้น มุกตลกหรือท่าทางที่เคยใช้กับลูกตอนยังเล็ก อาจใช้กับลูกในวัยนี้ไม่ได้แล้ว คุณพ่อคุณแม่อาจจะต้องลองหาวิธีสร้างเสียงหัวเราะแบบใหม่มาใช้กับลูกแทนแล้วล่ะ
3. อารมณ์ขันที่ไม่ตลก(สำหรับลูก) อาจส่งผลลัพธ์ตรงข้าม
Dr. Benjamin Levi ศาสตราจารย์ด้านกุมารศาสตร์และมนุษยศาสตร์ที่ Pennsylvania State College of Medicine ระบุว่า อารมณ์ขันไม่ใช่ยาครอบจักรวาล ไม่ได้หมายความว่า เสียงหัวเราะหรือมุกตลกจะใช้ได้ผลดีเสมอไป
แต่สิ่งสำคัญของการสร้างเสียงหัวเราะให้กับลูกคือ มุกตลก ท่าทาง เรื่องราวที่นำเสนอ จะต้องเชิงบวก ไม่ได้เกิดจากการล้อเลียนผู้อื่น หรือแม้แต่ตัวลูกเอง
ในขณะเดียวกันบางสถานการณ์ บางพฤติกรรม เสียงหัวเราะหรือจังหวะตลก ไม่สามารถใช้ได้เลย แต่ต้องใช้ความจริงจัง ผสมความใจดี แต่ไม่ใจอ่อน เพื่อหยุดพฤติกรรมที่ไม่เหมาะสมของลูกแทน
4. ไม่ใช่สายตลก แต่ก็เฮฮาไปกับลูกได้ ด้วย ‘การเล่น’
Reena Patel, LEP, BCBA นักจิตวิทยาเชิงบวกและผู้เชี่ยวชาญด้านการเลี้ยงลูก แนะนำให้คุณพ่อคุณแม่ลงไปเล่นกับลูก เล่นอย่างที่ลูกเล่น และสนุกไปด้วยกันกับลูก เมื่อคุณพ่อคุณแม่สนุก ลูกสนุก เสียงหัวเราะจะเกิดขึ้นมาเอง
วิธีหนึ่งที่น่าสนใจและเหมาะกับลูกวัยอนุบาลคือ วางบทคุณพ่อ ปล่อยบทคุณแม่ แล้วสวมบทตัวตลก เพื่อทำให้ตัวเองดูตลก เช่น หยิบของบางสิ่งที่ดูตลกไว้บนหัว หยิบกางเกงมาใส่แขน ส่วนใหญ่มักเข้าเป้า ลูกหัวเราะอย่างมีความสุข และสิ่งนี้นี่เอง คือสิ่งที่ยิ่งใหญ่ที่สุด เมื่อลูกมีความสุข หัวเราะง่าย ลูกก็พร้อมที่จะเรียนรู้ นำไปสู่การปรับพฤติกรรมอื่นๆ ของลูกได้
แต่เดี๋ยวก่อน!! คุณพ่อคุณแม่อย่าเพิ่งลงคอร์สเรียนวิชาตลกศึกษา เราอยากจะบอกว่า งานวิจัยนี้เป็นเพียงจุดเริ่มต้น และอาจจะต้องใช้เวลาอีกหลายปีในการติดตามผลในระยะยาว เหนือสิ่งอื่นใด เมื่อคุณพ่อคุณแม่มีความสุข อารมณ์แจ่มใส ลูกก็จะสนุก มีความสุข และช่วยลดความดื้อของลูกได้… เล็กน้อย…
COMMENTS ARE OFF THIS POST