เป็นปัญหาของทุกครอบครัวเมื่อคุณพ่อคุณแม่เลี้ยงลูกไม่เหมือนกัน คนหนึ่งตามใจ อีกคนเข้มงวดกับลูก โดยไม่รู้เลยว่าการเลี้ยงลูกคนละแนวทาง ส่งผลเสียกับลูกเต็มๆ ยกตัวอย่างเช่น ในคืนวันศุกร์คุณแม่บอกให้ลูกอาบน้ำและเข้านอน ในขณะที่คุณพ่อบอกให้ลูกดูการ์ตูนต่อได้ และลูกที่นั่งฟังอยู่ไม่รู้ว่าตัวเองควรทำอะไรกันแน่
นอกจากนี้การเลี้ยงลูกคนละแนวทาง มองต่างมุม ทำให้เกิดความขัดแย้งกันในครอบครัว และนำไปสู่การทะเลาะ กลายเป็นปัญหาใหญ่ในครอบครัวตามมา
1. เพราะทำให้ลูกสับสน
หากเป็นครอบครัวที่คุณพ่อตามใจลูกทุกอย่าง ไม่ขัดใจ ไม่ปล่อยให้รอ ส่วนคุณแม่เข้มงวด ไม่ตามใจ อยากให้ลูกรู้จักรอ ลูกจะเกิดความสับสนว่าควรทำตัวอย่างไร ต้องอดทนหรือควรงอแงเพื่อให้ได้สิ่งที่ต้องการมา
สิ่งที่คุณพ่อคุณแม่ควรปรับ เพื่อลดการสับสนของลูก คุณพ่อคุณแม่ควรพูดคุยและตกลงกันให้เป็นเสียงเดียวก่อนว่าเรื่องนี้จะเอายังไง จะฝึกสอนลูกแบบไหน หากยังคิดเห็นไม่ตรงกันให้บอกกับลูกว่า “พ่อแม่ขอปรึกษากันก่อน แล้วจะให้คำตอบทีหลัง” ดีกว่ามาทะเลาะหรือเถียงกันต่อหน้าลูก
2. เพราะทำให้ลูกเลือกข้างคนที่ตามใจ
ลูกทุกคนรักคุณพ่อคุณแม่เท่าๆ กัน แต่สภาวะที่ลูกเลือกเข้าหาใครสักคน ลูกจะเลือกเข้าหาคนที่ตามใจ และก็เลือกที่จะไม่เชื่อฟังคนที่ไม่ตามใจ ทำให้คนใดคนหนึ่งจะสอนลูกได้ยากขึ้น โดยเฉพาะเมื่อลูกมีอายุสองขวบขึ้นไป
สิ่งที่คุณพ่อคุณแม่ควรปรับ คุณพ่อคุณแม่ควรใช้วิธีการคุยเพื่อขอให้อีกฝ่ายไม่เข้ามาแทรกแซงระหว่างที่สอนลูก ยกตัวอย่างเช่น “ในช่วงที่แม่สอนลูก แม่ขอให้พ่อไม่เข้ามาแทรกแซงต่อหน้าลูก ถ้าพ่อไม่ชอบใจตรงไหน ขอให้เก็บมาคุยกันตอนหลัง” แต่หลีกเลี่ยงการพูดในลักษณะออกคำสั่ง เช่น “พ่อไม่ต้องเข้ามายุ่งตอนที่แม่กำลังสอนลูกอยู่”
3. เพราะทำให้ลูกควบคุมอารมณ์ตัวเองไม่ได้
หากลูกร้องไห้แล้วคุณพ่อตามใจ แต่คุณแม่ไม่ให้ไม่ตามใจ ความรู้สึกของลูกเดี๋ยวได้เดี๋ยวไม่ได้ ส่งผลกับอารมณ์พอไม่ได้ดั่งใจ ก็จะหงุดหงิด งอแง และอารมณ์แปรปรวนง่าย
สิ่งที่คุณพ่อคุณแม่ควรปรับ เลือกเวลาสบายๆ ของคุณพ่อคุณแม่พูดคุยเกี่ยวกับแนวทางการเลี้ยงลูกและตั้งเป้าหมายไปที่ ‘การแก้ปัญหา’ ไม่ใช่คุยเพื่อวิจารณ์หรือตำหนิวิธีการเลี้ยงลูกของอีกฝ่าย ยกตัวอย่างเช่น คุณแม่ควรพูดว่า “วันนี้แม่อยากคุยเรื่องวิธีควบคุมการใช้หน้าจอของลูก” แทนการพูดตำหนิอีกฝ่ายว่า “พ่อให้ลูกดูการ์ตูนมากเกินไป ลูกจะสายตาเสีย และเรียกมากินข้าวยากมากๆ เพราะพ่อตามใจ”
4. เพราะทำให้ลูกดื้อและต่อต้าน
มีผลต่อความสัมพันธ์ระหว่างคุณพ่อคุณแม่และลูก ส่งผลให้ลูกไม่เชื่อฟัง ดื้อ และต่อต้าน เพราะคุณพ่อคุณแม่สอนคนละแบบ
สิ่งที่คุณพ่อคุณแม่ควรปรับ คุณพ่อคุณแม่ควรหาบทสรุปการเลี้ยงลูกก่อนที่ลูกจะไม่เชื่อฟังและต่อต้าน อาจใช้วิธีเปิดโอกาสให้อีกฝ่ายเสนอแนวคิด และรับฟังด้วยท่าทางเปิดรับ
ในกรณีที่อีกฝ่ายนึกวิธีแก้ปัญหาไม่ออก คุณอาจเสนอวิธีให้อีกฝ่ายลองทำตามสักสองถึงสามอาทิตย์ แล้วค่อยกลับมาคุยอีกครั้ง ยกตัวอย่างเช่น “ให้ลูกดูการ์ตูนวันละหนึ่งชั่วโมง หลังจากทำการบ้านเสร็จ ดูการ์ตูนจบประมาณหกโมงครึ่ง จะได้เวลากินข้าวพอดี ถ้าไม่ดีตรงไหนอีกสองถึงสามอาทิตย์ค่อยกลับมาคุยเรื่องนี้กันอีกครั้ง”
5. เพราะทำให้ลูกกลัวและไม่ไว้วางใจ
เพราะคุณแม่ไม่ตามใจทำให้ลูกต้องแอบทำและปกปิดเรื่องที่ทำผิด หรือไม่สบายใจ ไม่กล้าเล่า เพราะไม่คิดว่าคนขี้โมโหแบบคุณแม่จะช่วยอะไรได้
สิ่งที่คุณพ่อคุณแม่ควรปรับ เพราะฝ่ายหนึ่งใจดีมากและอีกฝ่ายที่เข้มงวดสุดๆ ทำให้ลูกเปรียบเทียบ รู้สึกว่าฝ่ายที่เข้มงวดขี้โมโหและอารมณ์ร้าย ดังนั้นทั้งสองฝ่ายควรพูดคุยและรับฟังซึ่งกันและกัน มากกว่าตั้งท่าแย้ง ยกตัวอย่างเช่น เมื่อคุณพ่อพูดว่า “ไม่เห็นว่าต้องเคร่งแบบนั้น ลูกเครียดเรื่องเรียนมาแล้ว ให้ลูกดูการ์ตูนเกินเวลาบ้างก็ได้” ถ้าคุณแม่รับฟังด้วยจิตใจที่นิ่ง ก็จะรับรู้ถึงสิ่งที่ซ่อนอยู่ในคำพูดของคุณพ่อว่า ไม่ได้ค้านทีเดียว แต่เป็นห่วงลูกที่จะเครียดมากเกินไป แต่คุณพ่อไม่รู้จะจัดการยังไง ดังนั้นคุณพ่อและคุณแม่ต้องหาทางสายกลางร่วมกัน ไม่ทำให้อีกฝ่ายกลายเป็นคนร้าย
COMMENTS ARE OFF THIS POST