READING

ลูกชอบเลียนแบบ: 4 พฤติกรรมที่ไม่ควรปล่อยให้ลูกเลีย...

ลูกชอบเลียนแบบ: 4 พฤติกรรมที่ไม่ควรปล่อยให้ลูกเลียนแบบ และพ่อแม่ควรรับมืออย่างไร

ลูกชอบเลียนแบบ

หนึ่งในหน้าที่ที่ยิ่งใหญ่ของพ่อแม่หรือผู้ปกครองก็คือการทำตัวเป็นแบบอย่างที่ดีให้กับลูก โดยเฉพาะใน 5 ปีแรกของชีวิต เพราะเป็นช่วงวัยที่ลูกกำลังเรียนรู้และสร้างตัวตนของตัวเองขึ้นมาจากการเฝ้าสังเกตการณ์สภาพแวดล้อมและผู้คนรอบตัว

  Albert Bandura นักจิตวิทยาด้านการเรียนรู้ทางสังคม อธิบายไว้ว่า มนุษย์เรียนรู้โดยการเลียนแบบพฤติกรรมที่เห็นอยู่รอบตัว โดยเฉพาะเด็กเล็กที่ไม่ได้เลียนแบบแค่พ่อแม่เท่านั้น แต่สภาพแวดล้อมนอกบ้านหรือที่โรงเรียน รวมไปถึงประสบการณ์ที่ได้จากสื่อโซเชียลมีเดีย หรือรายการการ์ตูนเด็ก การที่ ลูกชอบเลียนแบบ จึงเป็นหนึ่งในวิธีสร้างตัวตนและการพยายามทำความเข้าใจโลกด้วยตัวของเขาเอง

ทำไม ลูกชอบเลียนแบบ

คุณพ่อคุณแม่ทุกคนย่อมเคยผ่านช่วงเวลาที่ ลูกชอบเลียนแบบ และนำพฤติกรรมทั้งดีและไม่ดีของคนรอบข้างมาใช้ เช่นเด็กเล็กจะเลียนแบบพฤติกรรมของเพื่อนในวัยเดียวกัน เพื่อให้ตัวเองรู้สึกไม่โดดเดี่ยว แต่เมื่อไหร่ก็ตามที่เขาต้องการเรียนรู้บางอย่างเป็นพิเศษ เด็กๆ มักจะเลือกเลียนแบบผู้เชี่ยวชาญอย่างคุณพ่อคุณแม่หรือผู้ใหญ่ในครอบครัว

Laura Schulz นักวิทยาศาสตร์ด้านความรู้ความเข้าใจจากสถาบันเทคโนโลยีแมสซาชูเซตส์ในเคมบริดจ์ กล่าวว่า การที่เด็กทั่วโลกเลียนแบบผู้ใหญ่ที่ดีและมีเหตุผล จะช่วยให้เด็กๆ โตขึ้นเป็นคนที่ดี แข็งแกร่งแต่ไม่แข็งกร้าว แม้ว่าวันนี้เด็กๆ อาจจะยังไม่เข้าใจสิ่งที่ผู้ใหญ่ทำก็ตาม

ตรงกันข้าม หากเด็กทำตามผู้ใหญ่ที่ไม่เหมาะสม ขาดสติ และการคิดทบทวนในพฤติกรรมของตัวเอง เมื่อ ก็เหมือนการชี้นำเส้นทางเดินที่ผิดและมีโอกาสทำให้เกิดอันตรายกับเด็กๆ ได้

เพื่อให้นักเลียนแบบตัวน้อยสามารถสำรวจและเรียนรู้โลกไปพร้อมกับการแยกแยะได้ว่าอะไรควรหรือไม่ควรทำตาม คุณพ่อคุณแม่ควรเตรียมความพร้อมเพื่อรับมือกับนักเลียนแบบตัวน้อย เพื่อแก้ไขการนำพฤติกรรมที่ไม่ดีมาใช้ได้ทันท่วงทีค่ะ

1. ลูกพูดหรือจำคำหยาบมาใช้

imitating_web_1

 คุณพ่อคุณแม่อาจจะตกใจ เมื่อจู่ๆ ลูกวัยอนุบาลเผลอพูดคำสบถ หรือคำหยาบออกมา ไม่ว่าจะรู้ความหมายหรือไม่ก็ตาม รวมถึงการเลียนแบบสำนวนของผู้ใหญ่ และการใช้คำพูดล้อเลียนคนอื่น

เหตุการณ์นี้เกิดขึ้นได้ทั้งที่คุณพ่อคุณแม่และคนในบ้านตั้งใจที่จะระมัดระวังคำพูดของตัวเองต่อหน้าลูก แต่บางทีลูกก็ช่างจดจำเกินไป เช่น ได้ยินคุณพ่อเผลอสบถตอนโดนคนขับรถปาดหน้า ได้ยินจากคลิปในอินเทอร์เน็ต จำมาจากเพื่อนที่โรงเรียนหรือเด็กโตในละแวกบ้าน ทั้งหมดคือสภาพแวดล้อมที่ลูกพร้อมจะจดจำและนำมาใช้เป็นพฤติกรรมของตัวเองได้อย่างคาดไม่ถึง

สิ่งที่พ่อแม่ควรทำ: อธิบายว่าทำไมลูกถึงไม่ควรใช้คำพูดเหล่านั้น ด้วยความนิ่งเฉย

#ใจดีแต่ไม่ใจอ่อน เมื่อคุณพ่อคุณแม่ได้ยินว่าลูกพูดคำหยาบ ไม่จำเป็นต้องดุหรือทำให้ลูกตกใจ แต่ให้ย่อตัวลงในระดับสายตาของลูก อธิบายว่าทำไมลูกถึงไม่ควรใช้คำพูดเหล่านั้น และหากเป็นคำที่ลูกเคยได้ยินจากคุณพ่อคุณแม่ ก็อย่าลืมยอมรับผิด และบอกลูกว่าคุณพ่อคุณแม่ก็จะพยายามแก้ไขและปรับปรุงตัวเองเช่นกัน

2. ลูกเลียนแบบพฤติกรรมที่ไม่เหมาะสม

imitating_web_2

เมื่อลูกแสดงพฤติกรรมที่ไม่เหมาะสม เช่น ร้องกรี๊ดเมื่อไม่พอใจ กระทืบเท้า ต่อยกำแพง หรือตะโกนเสียงดังๆ เพื่อแสดงความโกรธ หรือใช้สีหน้าล้อเลียนและยั่วยุ เรียกร้องความสนใจแบบด้วยการกระทำผิดๆ คุณพ่อคุณแม่ควรเริ่มสังเกตว่ามีผู้ใหญ่หรือเด็กใกล้ตัวลูกที่โตกว่า รวมถึงสื่อโทรทัศน์และอินเทอร์เน็ตที่ลูกดูว่ามีพฤติกรรมเหล่านั้นหรือไม่

สิ่งที่พ่อแม่ควรทำ: ปรับความเข้าใจและสอนให้ลูกสะท้อนความคิด

#เปลี่ยนแปลงตัวเอง หากพฤติกรรมที่ไม่ดีของลูก มาจากคุณพ่อคุณแม่โดยตรง ขอให้คุณพ่อคุณแม่มีสติในการแสดงออกต่อหน้าลูกมากขึ้น และสัญญากับลูกว่าครอบครัวเราจะไม่มีใครทำเช่นนั้นอีก

#สอนลูกสะท้อนความคิด ด้วยการเปลี่ยนคำพูดของคุณพ่อคุณแม่ เช่น เมื่อโกรธ แทนที่คุณพ่อคุณแม่จะตะคอกใส่ลูกว่า จะบ้าตายอยู่แล้ว! ให้ตั้งสติแล้วสะท้อนความรู้สึกที่แท้จริงของตัวเองออกมาด้วยคำพูดที่นุ่มนวล เช่น ตอนนี้แม่รู้สึกหงุดหงิดมากแล้ว อาจจะต้องขอเวลาไปอยู่คนเดียวก่อน เพื่อแนะนำและเป็นตัวอย่างให้ลูกพูดความรู้สึกของตัวเองออกมา แทนการแสดงออกด้วยพฤติกรรมที่ไม่น่ารัก

3. ลูกเลียนแบบรุ่นพี่หรือคนที่โตกว่ามากเกินไป

imitating_web_3

Amber Leventry บรรณาธิการ News & Trends at Parents นักเขียน และนักการศึกษาด้านการเลี้ยงดูลูกด้วยมุมมองที่น่าสนใจ ได้บอกเล่าประสบการณ์ลูกแฝดวัย 6 ปีที่ชอบเลียนแบบพี่สาวคนที่อายุมากกว่า 3 ปีแทบทุกอย่างเอาไว้ว่า เธอเคยแนะนำให้ลูกแฝดลองเลือกสิ่งที่ตัวเองสนใจ แต่สุดท้ายลูกก็เลือกสิ่งที่พี่ทำมากกว่า จนเธอเริ่มกังวลว่า การเลียนแบบที่นานเกินไป และมากเกินไปจะทำให้ลูกสาวคนโตเริ่มอึดอัด รู้สึกถูกจับตามอง และขาดอิสระ ในขณะที่ลูกแฝดต่างปฏิเสธว่าไม่ได้ตั้งใจเลียนแบบพี่สาว ซึ่งหากเป็นอย่างนี้ต่อไป ก็อาจจะส่งผลเสียคือเด็กๆ ไม่สามารถคิดและตัดสินใจเลือกสิ่งที่ตัวเองต้องการจริงๆ ได้

แต่วันนี้เธอได้ปรับมุมมองใหม่ เพราะการที่ลูกแฝดจะนชมและมีพี่สาวเป็นฮีโร่ก็ไม่ใช่เรื่องผิด และยังเป็นอีกหนึ่งวิธีที่จะลูกๆ จะได้เรียนรู้รูปแบบ พฤติกรรม และทักษะทางสังคมจากพี่สาวได้

สิ่งที่พ่อแม่ควรทำ: ยอมรับและสนับสนุนให้การเลียนแบบที่เหมาะสม

#ช่วยลูกตามหาแรงบันดาลใจ คุณพ่อคุณแม่ไม่จำเป็นต้องเอ่ยปากห้ามไม่ให้ลูกเลียนแบบคนอื่น แต่ควรควรชวนลูกพูดคุยถึงสาเหตุที่ทำให้ลูกอยากเดินตามรอยรุ่นพี่คนนั้น รวมถึง พูดให้ลูกมั่นใจว่า คนเราสามารถชอบอะไรเหมือนกันได้ แต่ก็อย่าลืมว่าอาจจะมีอาจจะมีสิ่งที่ลูกอยากทำในแบบของตัวเองด้วยเช่นกัน และเมื่อลูกพร้อมที่จะเลือกทำสิ่งที่ตัวเองชอบแล้ว คุณพ่อคุณแม่อย่าลืมที่จะสนับสนุนลูกด้วยความเต็มใจ

#ฝึกความเห็นอกเห็นใจดีกว่าฟาดฟัน วิธีการประนีประนอมที่ดีที่สุด ก็คือหากไม่ใช่การเลียนแบบในทางที่ผิด ก็ควรยอมรับในสิ่งที่ลูกเลือกทำ ดีกว่าพยายามที่บังคับลูกให้เปลี่ยนแปลง หรือกดดันให้ลูกตัดสินใจใหม่อีกครั้ง เพราะพฤติกรรมเลียนแบบของลูกจะลดน้อยลงได้ เมื่อลูกมีความมั่นใจในตัวเองมากขึ้นเช่นกัน

4. ลูกเลียนแบบความเป็นผู้ใหญ่

imitating_web_4

Judy Arnall ผู้เชี่ยวชาญด้านการเลี้ยงลูก อธิบายว่า เด็กๆ เรียนรู้ผ่านการสังเกตทุกอย่างรอบตัว และทำซ้ำทุกสิ่งที่เด็กๆ ได้ยินและได้เห็นอย่างต่อเนื่อง

#ผู้ใหญ่คือกระจกสะท้อนขนาดใหญ่ ดังนั้นการเลียนแบบจึงเป็นวิธีที่ปลอดภัยต่อการเรียนรู้ โดยเฉพาะการเลียนแบบผู้ใหญ่ ตั้งแต่ท่าทาง อากัปกิริยาของคนในครอบครัว อาชีพการงาน สไตล์การแต่งตัวของคุณพ่อ การแต่งหน้าแบบคุณแม่ เทคโนโลยี เช่น การคุยโทรศัพท์ การเคาะแป้นพิมพ์ การใช้เครื่องใช้ไฟฟ้า การทำครัว และทุกอย่างที่เด็กเห็นผู้ใหญ่ทำในชีวิตประจำวัน

รวมถึงการเล่นบทบาทสมมติ เช่น เด็กชอบเล่นเป็นพ่อแม่ลูก เป็นคุณครูเสียงเข้ม เป็นคุณหมอ หรือเป็นพี่รปภ.ใจดีที่ช่วยโบกรถตามสถานที่ต่างๆ นั่นคือการเล่นที่สะท้อนให้เห็นธรรมชาติของการเป็นนักเลียนแบบนั่นเอง

เมื่อคุณพ่อคุณแม่รู้อย่างนี้ จึงไม่มีอะไรจะดีไปกว่าการพยายามเป็นตัวอย่างที่ดี และเป็นสภาพแวดล้อมที่เหมาะสมให้ลูกใช้หล่อหลอมและสร้างตัวตนของตัวเอง เพื่อเป็นรากฐานแข็งแกร่งให้ลูกเติบโตได้อย่างมีความสุข มีทักษะชีวิต รู้จักคิด ตัดสินใจเป็น สามารถค้นหาสิ่งที่เป็นรักจนเจอ และเลือกทางเดินชีวิตที่ดีให้กับตัวเองได้ในอนาคต

อ้างอิง
exploringyourmind
reshukajain.medium
babycenter
romper

Saranya A.

ศรัญญา อ่าวสมบัติกุล: คุณแม่มือใหม่ ที่มีความตั้งใจเลี้ยงลูกชายตัวน้อยด้วยการยึดโยงธรรมชาติ และความคิดสร้างสรรค์เข้าด้วยกัน คุณแม่คนนี้หลงรักและทำงานด้านการเขียนมากว่า 12 ปี ตอนนี้มีความฝันอยากเป็นนักวาดนิทานเด็ก

COMMENTS ARE OFF THIS POST