READING

พฤติกรรมเลียนแบบความรุนแรง: พ่อแม่ควรทำตัวอย่างไร ...

พฤติกรรมเลียนแบบความรุนแรง: พ่อแม่ควรทำตัวอย่างไร เมื่อโลกโหดร้ายมากขึ้นทุกที

พฤติกรรมเลียนแบบความรุนแรง

จากเหตุการณ์กราดยิงที่ศูนย์พัฒนาเด็กเล็ก อำเภอนากลาง จ.หนองบัวลำภู ที่สะเทือนใจคนไทยทั้งประเทศ และนี่ไม่ใช่ครั้งแรกที่สังคมเริ่มถามหาการป้องกัน รับมือ และแก้ปัญหาให้ถึงระดับต้นตอ

สถิติงานวิจัยเชิงจิตวิทยาและอาชญาวิทยาของสหรัฐอเมริกา ปี 2015 พบว่า การก่อเหตุรุนแรง เช่น การยิงคนจำนวนมากในที่สาธารณะ การสังหารหมู่ หนึ่งครั้ง จะส่งผลให้มีความเป็นไปได้ที่จะเกิดเหตุการณ์ลักษณะเดียวกันจากคนที่มีพฤติกรรมเลียนแบบภายในระยะเวลา 13 วัน

พฤติกรรมการเลียนแบบในเด็ก (Imitation Behavior in children) คือการเรียนรู้ตามธรรมชาติของเด็ก ทั้งสิ่งที่ดีและไม่ดีตามสภาพแวดล้อมที่เด็กพบเจอ โดยเฉพาะเด็กในช่วงอายุ 2 – 6 ปี ที่กำลังเรียนรู้การสร้างบุคลิกของตัวเองจากการเลียนแบบพฤติกรรมที่เห็นจากคนรอบข้าง โดยไม่คำนึงถึงความเหมาะสมเพราะเด็กยังเล็กเกินกว่าที่จะเข้าใจ ไตร่ตรอง และแยกแยะด้วยตัวเองได้

ทุกครั้งที่เกิดเหตุสะเทือนขวัญ นอกจากแสดงความเสียใจ ให้กำลังใจ และหาทางช่วยเหลือเท่าที่สามารถทำได้ สิ่งหนึ่งที่คุณพ่อคุณแม่ควรให้ความสำคัญก็คือหันกลับมามองและให้ความสำคัญกับการรับรู้ สภาพจิตใจของตัวเอง และลูกน้อย

คำถามที่ตามมาก็คือ ในฐานะพ่อแม่อย่างเรา ควรรับมือหรือทำตัวอย่างไร เพื่อไม่ให้ตัวเองกลายเป็นส่วนหนึ่งของสิ่งแวดล้อมที่หล่อหลอมให้ลูกคุ้นเคยและใกล้ชิดกับการใช้ความรุนแรงในสังคมต่อไป

1. ลดการใช้อารมณ์ในการพูดหรือโพสต์ถึงเหตุการณ์รุนแรง

copycatbehaviour_web_1

นักจิตวิทยาให้คำแนะนำว่า การโพสต์หรือพูดถึงเหตุการณ์รุนแรงด้วยอารมณ์และการตอบสนองที่รุนแรงเช่นกัน จะส่งผลสองอย่าง คือทำให้ผู้อื่นมีอารมณ์ร่วม โกรธแค้น และเกลียดชังไปในทางเดียวกัน แ และในทางกลับกัน หากข้อความถูกสื่อสารไปถึงกลุ่มคนต่อต้านสังคม (Anti Social) หรือนิยมความรุนแรง กลับเป็นการกระตุ้นให้คนเหล่านี้รู้สึกชื่นชมผู้ก่อเหตุที่สามารถสร้างความโกรธแค้นให้ผู้อื่นได้ จนอาจเกิดพฤติกรรมเลียนแบบต่อไปได้

2. ไม่ส่งต่อภาพและคลิปเหตุการณ์รุนแรง

copycatbehaviour_web_2

การแชร์หรือส่งต่อภาพและคลิปเหตุการณ์รุนแรงนอกจากจะเป็นการตอกย้ำความเจ็บปวดและสูญเสียต่อครอบครัวผู้ประสบเหตุแล้ว ยังทำให้คุณพ่อคุณแม่กลายเป็นส่วนหนึ่งของคนที่ขยายความรุนแรงออกไปสู่เด็กๆ ได้

ดังนั้น นอกจากคุณพ่อคุณแม่ต้องไม่เป็นคนที่ส่งต่อภาพและคลิปวีดีโอเหตุการณ์รุนแรงแล้ว ยังต้องดูแลและระมัดระวังการรับสื่อของลูกอย่างใกล้ชิด

3. ไม่ให้ค่ากับผู้ก่อเหตุ

copycatbehaviour_web_3

นักจิตวิทยาหลายคนยืนยันว่า การให้ความสำคัญกับผู้ก่อเหตุ ไม่ว่าจะเป็นการเอ่ยชื่อบ่อยๆ นำเสนอภาพ และประวัติส่วนตัว จะทำให้ผู้ก่อเหตุรู้สึกว่าตัวเองมีความสำคัญ และการมีตัวตนในสังคมก็คือรางวัลที่ได้รับจากการก่อเหตุร้าย

หากคุณพ่อคุณแม่ต้องการพูดคุยกับลูกเกี่ยวกับเหตุร้ายที่เกิดขึ้น ควรหลีกเลี่ยงการให้ความสำคัญหรือให้ค่าผู้ก่อเหตุ แต่สามารถพูดถึงผลกระทบ การเตรียมความพร้อม การระมัดระวังตัว ที่ลูกสามารถนำไปปรับใช้ต่อไปได้

4. ครอบครัวต้องไม่ใช้ความรุนแรง

copycatbehaviour_web_4

สิ่งสำคัญมากที่สุด ก็คือการที่คุณพ่อคุณแม่ต้องทำให้ครอบครัวเป็นพื้นที่ที่ปราศจากความรุนแรง เช่น ไม่ลงโทษลูกด้วยความรุนแรง ไม่ทะเลาและใช้ความรุนแรงให้ลูกเห็น เพราะพฤติกรรมความรุนแรงของคนในครอบครัว จะเป็นสิ่งที่เด็กเรียนรู้ ซึมซับ และกลายเป็นเด็กที่มีความรุนแรงเป็นพื้นฐานนิสัยติดตัวต่อไปได้

อ้างอิง
todaysparent
petcharavejhospital
istrong
PPTVHD36
mahidol

Supinya R.

ชอบอ่านนิยายสยองขวัญ ชอบเขียนไดอารี่ และเป็นคุณแม่จำเป็นในบางเวลา :-)

RELATED POST

COMMENTS ARE OFF THIS POST