ลูกใจร้อนมาก: ทำไงดี!?

ลูกใจร้อน

ลูกใจร้อน เป็นหนึ่งในพฤติกรรมหนึ่งที่ทำให้คุณพ่อคุณแม่หลายคนกังวลว่าอาจทำให้ลูกเป็นเด็กที่มีพฤติกรรมไม่น่ารัก เพราะความใจร้อนทำให้เกิดหลายลักษณะนิสัยตามมา เช่น ก้าวร้าว โกรธง่าย ควบคุมอารมณ์ได้ไม่ดี และอดทนรอคอยไม่เป็น

อาการใจร้อนจะเริ่มเห็นได้ชัดในเด็กช่วงวัย 2-3 ขวบ เพราะเป็นช่วงวัยที่ลูกกำลังมีความเปลี่ยนแปลงทางพัฒนาการอย่างรวดเร็ว ไม่ว่าจะเป็นพัฒนาการทางร่างกาย เช่น ลูกสามารถเดินและวิ่งได้เร็วขึ้น (บางทีก็เร็วเสียจนคุณพ่อคุณแม่เองวิ่งตามแทบไม่ทัน) พัฒนาการด้านภาษาก็มากขึ้น เริ่มโต้ตอบ บอกความต้องการ และรู้จักการปฏิเสธมากขึ้น ส่วนรวมถึงมีพัฒนาการด้านความคิดและอารมณ์ชัดเจนมากขึ้น นี่คือเหตุผลที่ทำให้ลูกวัยนี้มีพฤติกรรมหลายอย่างที่พ่อแม่ไม่พึงประสงค์ เช่น ดื้อ ต่อต้าน ไม่ฟังใคร และแสดงความใจร้อนออกมาอย่างเห็นได้ชัด

ถึงแม้ว่าจะเป็นพฤติกรรมนี้ จะเป็นพฤติกรรมที่เกิดขึ้นตามช่วงวัย แต่ถ้าหากคุณพ่อคุณแม่ไม่มีวิธีรับมือที่เหมาะสม ก็อาจทำให้ลูกมีพฤติกรรมนี้ติดตัว จนกลายเป็นนิสัยต่อไปได้

เราจึงรวบรวม 4 วิธีรับมือ ลูกใจร้อน มาให้คุณพ่อคุณแม่ค่อยๆ นำไปปรับใช้ อย่าปล่อยให้ลูกเป็นเด็กใจร้อนไปจนโตนะคะ

1. พ่อแม่ไม่จำเป็นต้องตอบสนองความต้องการของลูกทันที

angrychild_web_1

เด็กใจร้อนมักจะคาดหวังให้คุณพ่อคุณแม่ตอบสนองความต้องการของตัวเองทันที เมื่อไม่ได้ดังใจก็จะยิ่งแสดงออกมากขึ้น จนกลายเป็นพฤติกรรมก้าวร้าว สิ่งที่สำคัญก็คือ คุณพ่อคุณแม่ไม่จำเป็นต้องรีบเร่งที่จะตอบสนองความต้องการของลูกทุกครั้ง  เพราะจะทำให้ลูกเข้าใจว่ายิ่งก้าวร้าวหรือทำตัวไม่น่ารัก จะยิ่งได้รับการตามใจจากคุณพ่อคุณแม่

ในทางกลับกัน คุณพ่อคุณแม่สามารถบอกให้ลูกเข้าใจว่า พฤติกรรมก้าวร้าวและไม่น่ารัก ไม่ทำให้ลูกได้ในสิ่งที่ต้องการเร็วขึ้น แต่คุณพ่อคุณแม่ถึงจะเข้ามาพูดคุยด้วยเมื่อลูกใจเย็นและรอคอยอย่างสงบเท่านั้น โดยระหว่างนั้น คุณพ่อคุณแม่ อาจหาพื้นที่สำหรับให้ลูกได้จัดการอารมณ์ของตัวเอง เช่น ให้ลูกนับ 1-100 ในใจ หรือขอเวลานอก (time out) เพื่อให้ลูกได้ตั้งสติและทบทวนอารมณ์ของตัวเอง

2. หาสาเหตุที่ทำให้ลูกอารมณ์ร้อน

angrychild_web_2

บางครั้งอาการใจร้อน เอาแต่ใจ และร้องไห้โวยวายของลูก อาจเกิดจากเหตุปัจจัยทั่วไป  เช่น หิว เหนื่อย ง่วง หรือลูกกำลังมีเรื่องไม่สบายใจ ซึ่งหากไม่ทราบสาเหตุที่ชัดเจน ก็จะทำให้ไม่สามารถแก้ปัญหาให้ลูกได้

ดังนั้น ก่อนจะตัดสินว่าลูกเป็นเด็กใจร้อน คุณพ่อคุณแม่ควรสังเกตและหาว่าอะไรคือสิ่งที่ทำให้ลูกมีพฤติกรรมก้าวร้าวและไม่น่ารักออกมา หรือลองให้ลูกสำรวจและอธิบายความรู้สึกของตัวเองออกมา ก็เป็นอีกวิธีที่จะช่วยลดความคุกรุ่นในจิตใจลูกได้

3. พูดกับลูกให้กระชับและชัดเจน

angrychild_web_3

หากคุณพ่อคุณแม่ทราบสาเหตุที่ทำให้ลูกใจร้อนและอารมณ์เสียแล้ว ควรให้เวลาลูกได้อยู่กับตัวเองจนกว่าอารมณ์จะสงบลง แล้วค่อยหาจังหวะที่เหมาะสมบอกกับลูกว่าพฤติกรรมที่ลูกแสดงออกตอนที่กำลังใจร้อนนั้นไม่ดีอย่างไร

โดยคุณพ่อคุณแม่ควรใช้วิธีพูดที่กระชับและชัดเจนเพื่อให้ลูกจับใจความที่สำคัญได้ ไม่ใช้วิธีพูดบ่นไปเรื่อย เพราะอาจทำให้ลูกไม่เข้าใจ หลงประเด็น และคิดว่าสิ่งที่คุณพ่อคุณแม่พูดไม่สำคัญ จนไม่เกิดการนำไปใช้ปรับปรุงตัวเอง

4. ไม่ตอบโต้ลูกด้วยความรุนแรง

angrychild_web_4

บางครั้งคุณพ่อคุณแม่ก็กลายเป็นฝ่ายใจร้อนและใช้อารมณ์ตอบโต้ลูก เพราะต้องการให้ลูกยอมแพ้และหยุดไปเอง แต่ความจริงแล้ว การใช้ความรุนแรงตอบโต้ลูกใจร้อน อาจทำให้ลูกสงบลงได้เพราะความตกใจหรือหวาดกลัวเพียงชั่วคราวเท่านั้น แต่ในระยะยาว ลูกจะเรียนรู้พฤติกรรมและการใช้อารมณ์ของคุณพ่อคุณแม่ และกระทบความสัมพันธ์ในครอบครัวได้อีกด้วย

อ้างอิง
ahaparenting
bkc-od-media.vmhost.psu.edu
thaichildpsy

Supinya R.

ชอบอ่านนิยายสยองขวัญ ชอบเขียนไดอารี่ และเป็นคุณแม่จำเป็นในบางเวลา :-)

RELATED POST

COMMENTS ARE OFF THIS POST