READING

4 พฤติกรรมของคุณพ่อคุณแม่ที่อาจทำให้ลูกกลายเป็น ‘I...

4 พฤติกรรมของคุณพ่อคุณแม่ที่อาจทำให้ลูกกลายเป็น ‘Imposter Syndrome’ หรือ โรคคิดว่าตัวเองไม่เก่ง

Imposter Syndrome

อยากให้ลูกเรียนเก่ง อยากให้ลูกเป็นเด็กดี อยากให้ลูกทำนั่นทำนี่ได้ตามความต้องการของคุณพ่อคุณแม่ ทั้งหมดนี้ไม่ใช่เรื่องแปลก เพราะลึกๆ แล้วคุณพ่อคุณแม่ย่อมคาดหวังอยากให้ลูกได้รับสิ่งดีๆ และประสบความสำเร็จในชีวิต

แต่สิ่งที่ตามมาและอาจส่งผลกระทบกับลูกก็คือ ในวัยที่ลูกยังต้องการพื้นที่และโอกาสสำหรับเรียนรู้เรื่องราวใหม่ๆ ในชีวิต ยังไม่สามารถเข้าใจและรู้จักตัวเองดีพอ ความคาดหวังและปรารถนาดีของคุณพ่อคุณแม่ที่ยื่นมือเข้าไปช่วยคิด ช่วยเลือก และช่วยตัดสินใจแทนลูกมากเกินไป อาจทำให้ลูกเกิดระบบความคิดที่ว่าตัวเองไม่เก่งพอที่จะอยู่ในสถานการณ์นั้นๆ ได้

อาการของคนที่มักคิดว่าตัวเองไม่เก่งหรือไม่ดีพอ ทางจิตเวชเรียกว่าอาการ Imposter Syndrome ซึ่งสามารถพัฒนาไปถึงขั้นทำให้เป็นโรคซึมเศร้าได้

แต่เพื่อไม่ให้ปัญหาลุกลามไปถึงขั้นนั้น เราลองมาสำรวจการเลี้ยงดูของตัวเองกันดีกว่าค่ะ ว่ามีส่วนส่งเสริมหรือทำให้ลูกมีโอกาสที่จะเกิดภาวะ Imposter Syndrome ด้วยพฤติกรรมการเลี้ยงดูเหล่านี้หรือไม่

1. เป็นคุณพ่อคุณแม่ที่ไม่เคยชื่นชมลูก

ImposterSyndrome_web_1

บางครั้งความพยายามของลูกอาจไม่ส่งผลตามที่คุณพ่อคุณแม่ต้องการ เพราะความเชื่อว่าลูกควรจะทำได้ดีกว่านั้น ทำให้แทนที่ลูกจะได้รับคำชมในความตั้งใจและพยายามอย่างเต็มที่ กลับกลายเป็นคำพูดที่กดดัน เช่น “แม่คิดว่า ถ้าลูกพยายามกว่านี้…”

คำพูดเหล่านี้จะทำให้ลูกรู้สึกว่าตัวเองไม่ดีพอในสายตาของคุณพ่อคุณแม่ โดยเฉพาะอย่างยิ่ง ถ้าหากคุณพ่อคุณแม่นำลูกไปเปรียบเทียบกับคนอื่น ก็จะยิ่งทำให้ลูกรู้สึกว่าตัวเองไม่เคยทำให้คุณพ่อคุณแม่พอใจ ส่งผลให้ลูกไม่เห็นคุณค่าของตัวเอง และไม่มีกำลังใจที่จะเรียนรู้หรือพยายามทำอะไรต่อไปได้

2. คุณพ่อคุณแม่ชื่นชมลูกมากเกินไป

ImposterSyndrome_web_2

ไม่ชื่นชมลูกเลยก็ไม่ดี แต่… เป็นพ่อแม่ที่ชื่นชมลูกมากเกินไปก็ไม่ได้แปลว่าจะดี เพราะการชื่นชมที่ดีควรอยู่บนพื้นฐานที่เหมาะสม ชมอย่างมีเหตุผล ชมที่ความพยายามและความตั้งใจ ไม่น้อยไปกว่าชื่นชมที่ผลลัพธ์

แต่การชื่นชมลูกมากเกินไป โดยไม่อยู่บนพื้นฐานของเหตุผลอาจทำให้ลูกกลายเป็นเด็กที่ยึดติดกับการได้รับคำชม จึงรู้สึกกดดันที่ต้องพยายามทำทุกอย่างให้สำเร็จเพื่อรักษาระดับที่ดีเอาไว้ ไม่ให้คุณพ่อคุณแม่ผิดหวัง

ดังนั้นคุณพ่อคุณแม่ควรหาความพอดีในการแสดงออกถึงการชื่นชมในตัวลูก และสอนให้ลูกยอมรับความผิดหวังและล้มเหลว โดยมีคุณพ่อคุณแม่คอยเป็นกำลังใจให้จะดีกว่า

3. ค่านิยมของครอบครัว

ImposterSyndrome_web_3

ค่านิยมบางอย่างของครอบครัวก็ส่งผลให้ลูกเป็นเด็กที่รู้สึกว่าตัวเองไม่เก่งและไม่ดีพอได้ เช่น ค่านิยมสมัยก่อนที่บอกว่าเด็กผู้หญิงต้องทำงานบ้าน เด็กผู้ชายต้องอดทน ไม่ร้องไห้ ไม่อ่อนแอ หรือแม้แต่ค่านิยมพี่ต้องเสียสละให้น้อง

การที่ครอบครัวมีค่านิยมเหล่านี้และพยายามปลูกฝังให้ลูกมากเกินไป อาจส่งผลให้ลูกมีมุมมองในเชิงลบต่อตัวเอง รู้สึกว่าตัวเองไม่มีคุณค่าพอที่จะได้รับการใส่ใจจากคนอื่น และมีบทบาทหน้าที่ที่ได้รับมาตั้งแต่เกิด เช่น ต้องทำตัวเป็นผู้เสียสละ ต้องเป็นคนทำงานบ้านให้ครอบครัว และต้องทำหน้าที่เหล่านี้ให้ดีถึงจะได้รับความภูมิใจจากคุณพ่อคุณแม่ แต่แท้จริงแล้วค่านิยมเหล่านี้ก็สามารถสร้างความกดดันให้ลูกจนเกิดภาวะ Imposter Syndrome ได้เช่นกัน

4. คุณพ่อคุณแม่เองก็เป็น Imposter Syndrome

ImposterSyndrome_web_4

คุณพ่อคุณแม่เองก็ต้องไม่ลืมที่จะสังเกตตัวเองว่าชอบมีพฤติกรรมตัดพ้อตัวเองว่าดีไม่พอหรือเก่งไม่พอให้ลูกได้ยินหรือเปล่า เพราะถ้าหากว่าคุณพ่อคุณแม่เองก็มีอาการ Imposter Syndrome ลูกก็มีโอกาสที่จะซึมซับพฤติกรรมเหล่านั้นมาเป็นของตัวเองได้เช่นกัน

อ้างอิง
eastoregonian
kidsandmentalhealth
istrong

Supinya R.

ชอบอ่านนิยายสยองขวัญ ชอบเขียนไดอารี่ และเป็นคุณแม่จำเป็นในบางเวลา :-)

COMMENTS ARE OFF THIS POST