READING

Inner Child: เมื่อ ‘ตัวตน’ ของเราในวันนี้ ก็คือ ‘เ...

Inner Child: เมื่อ ‘ตัวตน’ ของเราในวันนี้ ก็คือ ‘เด็กน้อย’ ในวันนั้น

Inner Child

คุณพ่อคุณแม่คงเคยได้ยินประโยคที่ว่า ‘ทุกคนมีความเป็นเด็กอยู่ในตัว’ แต่ความเป็นเด็กนั้น ไม่ได้หมายถึงเด็กที่ร้องไห้งอแงเพราะอยากได้ของเล่น แต่มันคือวิธีคิดหรือพฤติกรรมบางอย่าง ที่เป็นผลมาจากตัวตนของเราในวัยเด็ก

ความเป็นเด็กที่ซ่อนอยู่ในตัว หรือทางจิตวิทยาเรียกว่า Inner child เป็นสิ่งที่ช่วยก่อร่างสร้าง ‘ตัวตน’ ให้กับตัวเราในปัจจุบัน เพราะประสบการณ์ในวัยเด็กมักส่งผลต่อการมองโลกและการตอบสนองต่อสถานการณ์ต่างๆ ในชีวิต

John Bradshaw นักจิตวิทยาและผู้เขียนหนังสือ Homecoming: Reclaiming and Championing Your Inner Child กล่าวว่า Inner Child คือส่วนที่มีชีวิตชีวาที่สุด มีความคิดสร้างสรรค์ที่สุด เปราะบางที่สุด และมันยังเป็นแหล่งที่มาของพลังงาน ความสุข และความเจ็บปวดของเราทุกคนอีกด้วย

สำหรับคุณพ่อคุณแม่ เราคงไม่สามารถกลับไปแก้ไขเรื่องราวหรือเหตุการณ์ในอดีต แต่นี่คือช่วงเวลาสำคัญที่คุณพ่อคุณแม่จะมีส่วนในการสร้างและกำหนดตัวตนที่แข็งแรงของลูกต่อไป

1. สร้างผู้ใหญ่ที่มีความมั่นใจในตัวเองด้วยการยอมรับจากครอบครัว

InnerChild_web_1

การได้รับการยอมรับและความรักในวัยเด็กเป็นสิ่งที่สำคัญสำหรับการสร้างความมั่นใจในตัวเอง หากลูกถูกทำให้รู้สึกว่าไม่ได้รับการยอมรับ ถูกตำหนิ วิจารณ์ หรือเปรียบเทียบว่าด้อยกว่าคนอื่นเป็นประจำ ก็อาจเติบโตเป็นผู้ใหญ่ที่ขาดความมั่นใจและไม่เชื่อมั่นในตัวเองได้

คนที่ไม่มีความมั่นใจในการตัดสินใจหรือไม่เชื่อในความสามารถของตัวเอง ทำให้เกิดการลังเลในการดำเนินชีวิต มักเกิดจากบาดแผลในวัยเด็กที่ไม่ได้รับการยอมรับจากครอบครัวมาก่อน

ดังนั้น คุณพ่อคุณแม่จึงสามารถสร้างผู้ใหญ่ที่มีความมั่นใจในตัวเอง จิตใจมั่นคง กล้าคิด กล้าตัดสินใจ ได้ด้วยการยอมรับในตัวลูก และทำให้ลูกเรียนรู้การรักและยอมรับตัวเองตั้งแต่ยังเล็กนั่นเอง

2. สร้างคนที่จัดการกับความสัมพันธ์ได้ดี ด้วยความสัมพันธ์ในครอบครัว

InnerChild_web_2

ประสบการณ์ในวัยเด็กที่เกี่ยวข้องกับครอบครัว เช่น การถูกทอดทิ้ง ขาดความรัก หรือมีความรุนแรงในครอบครัว มักมีผลต่อวิธีการสร้างและรักษาความสัมพันธ์ในวัยผู้ใหญ่

คนที่มีบาดแผลในจิตใจที่เกิดจากครอบครัววัยเด็ก มักมีปัญหาในการสร้างความสัมพันธ์ที่มั่นคงและปลอดภัยของตัวเอง เช่น ไม่ค่อยเปิดใจหรือเชื่อใจผู้อื่น กลัวการถูกทอดทิ้ง หรือกลัวการถูกทำร้าย

หากคุณพ่อคุณแม่ทำให้ความสัมพันธ์ในครอบครัวแน่นแฟ้นและมั่นคง ลูกก็จะมีความสัมพันธ์ที่ดีเป็นต้นแบบให้เรียนรู้ เพื่อเติบโตเป็นคนที่จัดการและดูแลความสัมพันธ์กับคนอื่นได้ดีเช่นกัน

3. สร้างคนที่จัดการอารมณ์ได้ดี ด้วยครอบครัวที่ปลอดภัย

InnerChild_web_3

หากปล่อยให้ลูกเติบโตในสภาพแวดล้อมที่เต็มไปด้วยความเครียด หวาดระแวง หรืออยู่ในสถานการณ์ที่ต้องวิตกกังวลตลอดเวลา เช่น มีคุณพ่อคุณแม่ที่โมโหร้ายและชอบใช้ความรุนแรงแก้ปัญหา ลูกก็จะเรียนรู้วิธีการแสดงออกด้วยความก้าวร้าว เก็บกด และระเบิดอารมณ์ออกมาได้ง่าย เพราะไม่รู้จะจัดการกับอารมณ์ของตัวเองอย่างไรดังนั้น คุณพ่อคุณแม่ควรมีเทคนิคในการจัดการอารมณ์ เช่น หายใจลึกๆ ทำสมาธิ นับ 1-100 หรือการสังเกตอารมณ์ของตัวเอง เพื่อเป็นตัวอย่างที่ดีในการจัดการอารมณ์ให้ลูกเห็นอยู่เสมอ

4. สร้างคนที่มีความสามารถในการรักและดูแลตัวเอง

InnerChild_web_4

หากคุณพ่อคุณแม่ปล่อยให้ลูกเติบโตโดยไม่ได้รับการดูแล เอาใจใส่ หรือแม้แต่การสนับสนุนจากครอบครัว ย่อมทำให้ลูกไม่รู้ถึงคุณค่าของตัวเอง ไม่รัก และไม่เคารพตัวเอง ซึ่งอาจแสดงออกเป็นพฤติกรรมทั่วไป เช่น ไม่รู้วิธีรักและดูแลตัวเอง ไม่ให้ความสำคัญกับการเลือกกินแต่อาหารที่มีประโยชน์ ไม่เห็นความจำเป็นของการพักผ่อนหรือดูแลร่างกายและจิตใจ รวมทั้งยังพยายามมองข้ามความต้องการของตัวเองเพื่อให้พอใจคนอื่น

ในทางตรงข้าม หากคุณพ่อคุณแม่ต้องการสร้างผู้ใหญ่ที่รักและดูแลตัวเองได้ รวมถึงสามารถเผื่อแผ่ความรักความใส่ใจให้คนรอบตัวได้ ก็มาจากการที่คุณพ่อคุณแม่คอยเป็นฝ่ายสนับสนุนและดูแลลูกอย่างดีในวัยเด็กนี่แหละค่ะ

5. สร้างคนที่เข้าใจชีวิตและปล่อยวางจากอดีตได้

InnerChild_web_5

ประสบการณ์ที่ไม่ดีและไม่ได้รับการแก้ไขในวัยเด็ก อาจเป็นบาดแผลที่ทำให้คนคนหนึ่งกลายเป็นผู้ใหญ่ที่ความเจ็บปวดไว้กับตัว เพราะไม่สามารถปล่อยวางจากเรื่องราวในอดีตได้

ดังนั้น เมื่อเกิดเหตุการณ์รุนแรงหรือกระทบกระเทือนจิตใจลูก คุณพ่อคุณแม่ไม่ควรมองข้าม หรือปล่อยให้ลูกเยียวยาตัวเองตามลำพัง แต่ควรแสดงให้ลูกเห็นถึงการอยู่เคียงข้าง และความพยายามที่จะพาลูกก้าวข้ามความเจ็บปวดไปพร้อมกัน แม้จะทำไม่ได้ในทันที แต่ก็ช่วยบรรเทาบาดแผลในใจลูก เพื่อให้เหลือร่องรอยไปจนเติบโตน้อยที่สุดนั่นเอง

 

อ่านบทความ: ปลูกฝังความเป็นตัวตน : วิธีปลูกฝังความรู้สึกเป็นตัวตน (อัตลักษณ์) ให้ลูกตั้งแต่ยังเล็ก
อ้างอิง
verywellmind
positivepsychology

Supinya R.

ชอบอ่านนิยายสยองขวัญ ชอบเขียนไดอารี่ และเป็นคุณแม่จำเป็นในบางเวลา :-)

COMMENTS ARE OFF THIS POST