การที่คุณพ่อคุณแม่ปลูกฝังทักษะการเข้าสังคม (Social Skills) ให้ลูกตั้งแต่เนิ่นๆ ไม่เพียงแต่ช่วยให้เด็กสามารถปรับตัวและอยู่ร่วมกับคนอื่นในสังคมได้อย่างมีความสุขเท่านั้น แต่การปลูกฝังให้ลูกมีมนุษยสัมพันธ์และอัธยาศัยดีต่อคนอื่น ยังเป็นเครื่องมือช่วยให้ลูกเป็นเด็กมีจิตใจและอารมณ์ดีอีกด้วย
เพราะทักษะทางสังคม เป็นทักษะที่จำเป็นต้องฝึกฝนและได้รับการพัฒนาโดยเฉพาะในวัยเด็ก ยิ่งควรได้รับการวางรากฐาน และพัฒนาทักษะทางสังคมอย่างเหมาะสม เพื่อเปิดโอกาสให้ลูกเติบโตขึ้นเป็นส่วนหนึ่งของสังคมได้อย่างมีคุณภาพ
แต่การฝึกให้ลูกเป็นเด็กมีทักษะทางสังคม และมีมนุษยสัมพันธ์ที่ดี จะทำได้อย่างไรบ้าง เรามีวิธีดีๆ มาบอกค่ะ
1. คุณพ่อคุณแม่เป็นแบบอย่างที่ดี
นอกจากคุณพ่อคุณแม่และคนในบ้าน เด็กๆ อาจจะมีโอกาสได้พบเจอคนอื่นและมีโอกาสเข้าสังคมไม่มากนัก แต่การที่จะฝึกให้เป็นเด็กมีลูกมนุษยสัมพันธ์ดี สามารถเริ่มได้ตั้งแต่ในบ้าน โดยมีคุณพ่อคุณแม่ทำตัวเป็นแบบอย่างที่ดี เช่น พูดกับคนอื่นด้วยความสุภาพเป็นมิตร รู้จักขอบคุณและขอโทษกันและกันให้ลูกเห็นและซึมซับพฤติกรรมที่น่ารักติดตัวเป็นนิสัยไปใช้กับคนอื่นต่อไป
2. เปิดโอกาสให้ลูกสร้างปฏิสัมพันธ์กับผู้อื่น
คุณพ่อคุณแม่ควรหาเวลาและส่งเสริมให้ลูกได้มีปฏิสัมพันธ์กับคนอื่นเท่าที่สามารถทำได้ โดยการเล่นหรือหากิจกรรมที่เหมาะสมกับช่วงวัยให้ลูกทำกับเพื่อน เพื่อให้ลูกเรียนรู้ที่จะปรับตัวและสังเกตพฤติกรรมของเด็กวัยใกล้เคียงกัน เรียนรู้ว่าลูกชอบหรือไม่ชอบให้คนอื่นปฏิบัติกับตัวเองอย่างไร เพื่อนำมาปรับใช้ต่อไปค่ะ
3. ฝึกมารยาททางสังคมเบื้องต้นให้ลูก
มารยาททางสังคมเป็นสิ่งสำคัญที่จะช่วยให้ลูกอยู่ร่วมกับคนอื่นในสังได้ ดังนั้น ไม่จำเป็นต้องรอให้ลูกออกไปเรียนรู้มารยาทจากสังคมภายนอก แต่คุณพ่อคุณแม่สามารถสอนมารยาทสังคมขั้นพื้่นฐานให้กับลูกได้ตั้งแต่ยังเล็ก เช่น การเคารพกฎกติกาของสถานที่ การพูดจาไพเราะและสุภาพ ไม่สร้างความเดือดร้อนและเอาเปรียบคนอื่น ทั้งหมดล้วนเป็นมารยาทพื้นฐานในการอยู่ร่วมกับคนอื่นที่คุณพ่อคุณแม่ควรสอนลูกให้เข้าใจตั้งแต่เนิ่นๆ
4. สอนให้ลูกปฏิบัติกับทุกคนอย่างเท่าเทียม
เมื่อลูกโตพอที่จะเริ่มมีสังคมของตัวเอง ลูกย่อมได้พบเจอผู้คนที่หลากหลายมากขึ้น อาจจะมีทั้งคนที่ลูกชอบหรือไม่ชอบ ไม่ว่าจะด้วยเหตุผลอะไรก็ตาม แต่หนึ่งในคุณสมบัติของคนที่มีมนุษยสัมพันธ์ที่ดีคือการปฏิบัติกับทุกคนอย่างเท่าเทียม หรืออย่างน้อยก็ไม่ทำให้ใครคนใดคนหนึ่งรู้สึกแปลกแยก
เมื่อลูกสามารถรับมือและปฏิบัติตัวกับคนที่หลากหลายได้ดี ลูกก็จะสามารถเป็นคนที่อยู่ในสังคมที่โตขึ้นตามวัยของเขาได้เป็นอย่างดีเช่นกัน
COMMENTS ARE OFF THIS POST