READING

ทำความรู้จัก IPD ภัยร้ายในเด็กเล็กที่คุณพ่อคุณแม่ไ...

ทำความรู้จัก IPD ภัยร้ายในเด็กเล็กที่คุณพ่อคุณแม่ไม่ควรไว้วางใจ

โรคติดเชื้อไอพีดี IPD ภัยร้ายในเด็กเล็ก

เพราะวัยเด็กคือจุดเริ่มต้นของพัฒนาการที่สำคัญ ดังนั้นสิ่งที่คุณพ่อคุณแม่ทุกคนปราถนาให้ลูกรักอยากมีที่สุดนั่นก็คือสุขภาพที่แข็งแรงใช่ไหมคะ

 

เนื่องจากในช่วงนี้โรคระบาดและมีสภาพอากาศแปรปรวน ทำให้เด็กเล็กป่วยง่าย และเมื่อป่วยร่างกายก็จะอ่อนแอและมีภูมิต้านทานต่ำ วันนี้เราจะพามาทำความรู้จักกับโรค IPD และวิธีการปกป้องให้ลูกน้อยจากเชื้อโรคตัวร้ายนี้กันค่ะ

IPD คืออะไร

โรคติดเชื้อไอพีดี IPD ภัยร้ายในเด็กเล็ก IPD ภัยร้ายในเด็กเล็ก

โรคติดเชื้อไอพีดี (IPD) หรือ Invasive Pneumococcal Disease เกิดจากการติดเชื้อแบคทีเรียชื่อนิวโมคอคคัส (Streptococcus pneumoniae) ในโพรงจมูกและคอ โดยสามารถแพร่เชื้อและติดต่อกันได้เหมือนไข้หวัดทั่วไป เช่น ติดต่อโดยผ่านการไอ จาม หรือสัมผัสสารคัดหลั่งของผู้ที่มีเชื้อโรค

โดยทั่วไปโรคติดเชื้อไอพีดี ถ้าเกิดกับผู้ใหญ่ที่มีร่างกายแข็งแรงก็จะมีอาการเหมือนไข้หวัดที่ไม่รุนแรง แต่หากเกิดขึ้นในเด็กเล็กที่อายุน้อยกว่าสองขวบ ก็จะก่อให้เกิดการติดเชื้อชนิดลุกลามหรือรุนแรง เช่น เกิดการติดเชื้อในกระแสเลือด เยื่อหุ้มสมองอักเสบ และปอดอักเสบชนิดรุนแรง ไปจนถึงทำให้พิการและเสียชีวิตได้

  ทั้งนี้ อาการและความรุนแรงของโรคติดเชื้อไอพีดีก็จะขึ้นอยู่กับอวัยวะที่มีการติดเชื้อ ซึ่งแบ่งออกเป็นการติดเชื้อในระบบต่างๆ ของร่างกาย ดังต่อไปนี้
• การติดเชื้อในระบบประสาท เด็กจะมีอาการไข้สูง ปวดศีรษะรุนแรง คลื่นไส้ อาเจียน คอแข็ง หากเกิดกับเด็กทารกจะวินิจฉัยได้ยาก อาจมีอาการงอแง ซึม ไม่กินนม และชัก หากรักษาไม่ทันท่วงทีอาจทำให้เยื่อหุ้มสมองอักเสบ พิการ หรือเสียชีวิตได้
• การติดเชื้อในกระแสเลือด เด็กจะมีไข้สูง ร้องกวน งอแง อาจเกิดภาวะแทรกซ้อน เช่น อาการช็อก และเสียชีวิตได้

นอกจากนั้น การติดเชื้อในกระแสเลือดยังทำให้เชื้อกระจายไปสู่อวัยวะอื่นๆ เช่น เยื่อหุ้มสมอง ปอด กระดูกและข้อต่อไปได้
• การติดเชื้อทางเดินหายใจส่วนบน เด็กจะมีอาการไข้สูง บ่นปวดหู งอแง ถ้าไม่ได้รับการรักษาอย่างถูกต้อง การติดเชื้ออาจลุกลามไปที่อวัยวะข้างเคียงหรือสมองได้ และสามารถเกิดหูน้ำหนวกเรื้อรัง แก้วหูทะลุ การได้ยินบกพร่อง ซึ่งมีผลต่อพัฒนาการด้านภาษาของเด็กอีกด้วย
• การติดเชื้อทางเดินหายใจส่วนล่าง เด็กจะมีอาการไข้ ไอ หายใจเร็ว หอบ ปอดอักเสบ และอาจรุนแรงถึงขั้นต้องใช้เครื่องช่วยหายใจ และเสียชีวิตได้

 

วิธีการป้องกันลูกน้อยจากโรคติดเชื้อไอพีดี (IPD)
1. พาลูกไปรับวัคซีนไอพีดี ก่อนอายุ 5 ปี เพราะจัดเป็นกลุ่มที่มีความเสี่ยงสูง โดยสามารถเริ่มฉีดได้ตั้งแต่ 2 เดือนขึ้นไป และฉีดเข็มต่อไปเมื่ออายุ 4 เดือน 6 เดือน และฉีดกระตุ้นอีก 1 ครั้ง เมื่ออายุ 12-15 เดือน
2. หลีกเลี่ยงการนำเด็กเข้าไปในที่ชุมชนหรือสถานที่มีคนแออัดโดยไม่จำเป็น เพราะเด็กสามารถรับเชื้อที่แพร่กระจายจากการไอ จาม และละอองเสมหะในอากาศได้ง่าย
3. สอนให้ลูกรู้จักสุขอนามัยที่ดี เช่น การใช้ช้อนกลาง ล้างมือบ่อยๆ ออกกำลังกายเป็นประจำ นอนหลับพักผ่อนให้เพียงพอ และไม่อยู่ใกล้ชิดกับคนป่วย
4. วัยทารกเด็กควรได้กินนมแม่เพื่อสร้างภูมิต้านทานโรค และเมื่อโตขึ้นก็ควรได้กินอาหารที่มีประโยชน์ครบ 5 หมู่ เพื่อให้ร่างกายแข็งแรงสมบูรณ์อยู่เสมอ

 ทั้งนี้ คุณพ่อคุณแม่ต้องรู้จักสังเกตอาการของลูกเวลาเจ็บป่วย หากเห็นอาการผิดปกติ เช่น เด็กงอแงมาก เวลามีไข้จะมีอาการร่วม เช่น ชัก อาเจียนหรือมีอาการซึม ควรรีบพาไปพบแพทย์ เพื่อทำการรักษาได้ทันท่วงที

 

อ้างอิง
pidst
synphaet
bumrungrad
childrenhospital

 


Supinya R.

ชอบอ่านนิยายสยองขวัญ ชอบเขียนไดอารี่ และเป็นคุณแม่จำเป็นในบางเวลา :-)

COMMENTS ARE OFF THIS POST