คุณพ่อคุณแม่เคยสงสัยไหมคะว่า ทำไมลูกถึงเริ่มร้องขอซื้อของเล่นชิ้นใหม่ให้เหมือนที่เพื่อนมี พอไม่ได้ดั่งใจก็ร้องไห้โวยวาย เหมือนต้องการที่จะมีของชิ้นนั้นให้ได้
บางครั้งลูกอยากได้จนเผลอแสดงพฤติกรรมก้าวร้าว เพราะทนไม่ได้ที่เห็นคนอื่นมี แล้วตัวเองไม่มีหรือมีน้อยกว่า อาการเหล่านี้ กำลังเป็นสัญญาณว่า ลูกขี้อิจฉา และไม่ใช่แค่ความอยากได้เหมือนคนอื่น แต่เด็กๆ มักจะแสดงออกอย่างชัดเจน เมื่อเขารู้สึกรัก เกลียด หรือเศร้า เมื่อรู้สึกว่าตัวเองไม่ได้รับความรักความใส่ใจเหมือนคนอื่น
คุณพ่อคุณแม่ควรรับมือกับ ลูกขี้อิจฉา อย่างไร และความอิจฉาที่เป็นความรู้สึกเชิงลบ ก่อตัวขึ้นในใจลูกได้อย่างไร คือสิ่งที่คุณพ่อคุณแม่ต้องหาคำตอบ เพื่อแก้ไขและป้องกันไม่ให้ความขี้อิจฉากลายเป็นนิสัยติดตัวลูกไปจนโต
การเลี้ยงดูของพ่อแม่ที่อาจส่งผลให้ ลูกขี้อิจฉา
1. เลี้ยงลูกแบบไข่ในหิน
การเลี้ยงลูกแบบไข่ในหิน ไม่ปล่อยให้คิดหรือทำอะไรด้วยตัวเอง จะทำให้ลูกเป็นเด็กขาดความมั่นใจ มีทักษะที่จำเป็นต่อการใช้ชีวิตต่ำ
เมื่อลูกเติบโตถึงวัยเข้าโรงเรียน และมีเพื่อนที่มีความมั่นใจในตัวเอง ช่วยเหลือตัวเองได้ดีกว่า ทำอะไรได้มากกว่า และได้รับคำชมจากคุณครูมากกว่า ลูกก็จะเริ่มรู้สึกด้อยค่าตัวเอง เกิดอารมณ์อิจฉา และอาจนำไปสู่การกลั่นแกล้งเพื่อนต่อไปได้
2. พ่อแม่สปอยล์ลูก
พ่อแม่หลายคนคิดว่า หากมีกำลังมากพอที่จะตามใจลูก ให้ทุกอย่างที่ลูกอยากได้แล้วจะช่วยป้องกันไม่ให้ลูกต้องรู้สึกอิจฉาคนอื่น เพราะเมื่อต้องการอะไร ก็แค่บอกให้คุณพ่อคุณแม่จัดการให้เท่านั้น
แต่ความจริงแล้ว การสปอยล์ เอาใจ และตามใจลูกมากเกินไป กลับเป็นดาบสองคม คือทำให้ลูกเป็นเด็กเอาแต่ใจ อยากได้อะไรต้องได้ ไม่รู้จักยอมรับความผิดหวัง เมื่อโตขึ้นและมีสังคมที่กว้างขึ้น ลูกย่อมมีโอกาสพบเจอคนที่เก่งกว่า มีของเล่นมากกว่าหรือใหม่กว่าอยู่เสมอ เมื่อนั้น ลูกจะรู้สึกทนไม่ได้ที่ตัวเองไม่ได้เป็นที่หนึ่งในสายตาคนอื่น และเกิดเป็นความอิจฉาอย่างไม่รู้จบ
3. ชมเด็กคนอื่นต่อหน้าลูกบ่อยๆ
คุณพ่อคุณแม่หลายคนยังเชื่อว่าการชมลูกบ่อยๆ จะทำให้ลูกเคยตัวและสำคัญตัวผิด และมักใช้วิธีชื่นชมเด็กคนอื่นให้ลูกได้ยิน สิ่งนี้เป็นชนวนกระตุ้นความอิจฉาในใจลูก เพราะเมื่อลูกเห็นว่าคุณพ่อคุณแม่ชื่นชมเด็กคนอื่นบ่อยๆ อาจทำให้ลูกสูญเสียความมั่นใจ คิดว่าตัวเองไม่เป็นที่รัก และจะพาลไม่ชอบเด็กคนที่คุณพ่อคุณแม่พูดถึงไปด้วย
4. เป็นพ่อแม่จอมบงการ
การวางแผนเลี้ยงลูกที่รัดกุม ตั้งกฎเกณฑ์เข้มงวด คอยควบคุมให้ลูกอยู่ในกรอบที่ตัวเองขีดไว้ตลอดเวลา จะทำให้ลูกเติบโตมาโดยที่ไม่รู้คุณค่าของตัวเอง เมื่อลูกมีความภาคภูมิใจในตนเองต่ำ ความอิจฉาก็จะเข้าครอบงำลูกได้อย่างง่ายดายยิ่งขึ้น
คุณพ่อคุณแม่จึงควรปล่อยให้ลูกได้คิด ตัดสินใจเองบ้าง หากมีกฎกติกาในครอบครัว ก็ควรอธิบายที่มาและเหตุผลให้ลูกได้รับรู้ด้วยค่ะ
ในกรณีที่มีลูกสองคนขึ้นไป การเลี้ยงลูกคนละแนวทางเป็นจุดเริ่มต้นที่ทำให้พี่น้องอิจฉากันเอง เช่น เลี้ยงคนพี่แบบเข้มงวด เลี้ยงคนน้องแบบตามใจ หรือบางครั้งการปลูกฝังให้พี่คอยปกป้องและต้องเสียสละให้น้องเสมอก็อาจทำให้เกิดความอิจฉากันได้เช่นเดียวกัน
COMMENTS ARE OFF THIS POST