READING

4 เหตุผลที่ทำให้ลูกเป็นเด็กขี้โม้และโอ้อวด...

4 เหตุผลที่ทำให้ลูกเป็นเด็กขี้โม้และโอ้อวด

brag

เมื่อลูกเข้าสู่วัยอนุบาล คุณพ่อคุณแม่ก็น่าจะเคยได้ยินเรื่องเล่าแปลกๆ จากลูกอยู่บ้าง บางเรื่องก็เล่าจากเหตุการณ์ที่เจอในวันนั้น แต่บางเรื่อง ก็ทำให้คุณพ่อคุณแม่อดนึกสงสัยไม่ได้ว่า ลูกวัยซนคนช่างเจรจาคนนี้ กำลังขี้โม้ โอ้อวด หรือพูดจาเกินจริงมากไปหรือเปล่า…

Dr.Janine Hubbard นักจิตวิทยาเด็ก แห่งเมืองเซนต์จอห์น ประเทศแคนาดา อธิบายว่า เด็กวัยอนุบาล กำลังเริ่มมีพัฒนาการด้านการสื่อสารและการใช้ภาษา และเพราะเด็กๆ เริ่มมีความคิดเป็นของตัวเอง จึงเริ่มเปรียบเทียบตัวเองกับคนอื่น เพราะอยากได้รับคำชมเชยจากคุณพ่อคุณแม่ นี่อาจเป็นเหตุผลที่ทำให้เรื่องเล่าจากปากลูกในบางครั้ง ถึงดูเหมือนเรื่องโม้และเกินจริงไปสักหน่อย

การพูดจาโอ้อวดเล็กๆ น้อยๆ อาจจะไม่ได้ส่งเสียกับใครมากนัก หากเรื่องนั้นเป็นเพียงการพูดคุยเพื่อสร้างความสนุกสนาน แต่เมื่อไหร่ก็ตามที่ลูกเริ่มใช้การพูดโอ้อวดไปเอาเปรียบหรือทำร้ายความรู้สึกของคนอื่น จนเพื่อนเริ่มไม่อยากคุยหรือเล่นด้วยแล้วละก็ นี่อาจเป็นสัญญาณเตือน ให้คุณพ่อคุณแม่ต้องลองกลับมาหาทางปรับพฤติกรรมขี้โม้โอ้อวดของลูกลงบ้าง

แต่การจะปรับเปลี่ยนพฤติกรรมของลูกได้นั้น คุณพ่อคุณแม่ควรเข้าใจถึงสาเหตุและที่มาของพฤติกรรมดังกล่าวกันก่อนว่าเกิดจากอะไรได้บ้าง

1. ลูกอยากเป็นที่รัก

KidsBrag_web_1

Dr. Gail Gross ผู้เชี่ยวชาญด้านครอบครัว พัฒนาการเด็ก และพฤติกรรมมนุษย์ สมาชิกคนสำคัญของสมาคมจิตวิทยาอเมริกัน ระบุว่า เด็กวัยนี้ต้องการเป็นที่ยอมรับและเป็นที่รักของทุกคนในครอบครัว เด็กๆ จึงอาจจะแสดงออกมากเกินไป เพียงเพราะเขารู้สึกว่าตัวเองไม่ได้รับความสนใจจากคุณพ่อคุณแม่เท่าที่ควร หรืออาจเป็นเพราะคุณพ่อคุณแม่มีเวลาให้ลูกน้อยเกินไป ลูกจึงเรียนรู้ที่จะเรียกร้องความสนใจด้วยการพยายามสร้างความสำคัญและหาพื้นที่พิเศษให้ตัวเอง จนติดเป็นนิสัยใช้การคุยโม้เพื่อให้ตัวเองได้รับความรักจากคนอื่นๆ ต่อไป

2. ลูกได้รับคำชมที่มากเกินไป

KidsBrag_web_2

เด็กๆ ทุกช่วงวัยควรได้รับคำชมเมื่อเขาทำอะไรได้ดี เพราะจะทำให้เด็กจะรู้สึกภาคภูมิใจและกระตุ้นให้เด็กๆ ทำสิ่งเหล่านั้นต่อไปได้ แต่บางครั้งคำชมที่บ่อยและมากเกินไป ก็อาจเป็นดาบสองคมสำหรับเด็กๆ ได้

Sylvia Corzato ที่ปรึกษาด้านการเลี้ยงดูและปรับพฤติกรรม แห่งเมืองออตตาวา ประเทศแคนาดา ให้แนะนำว่า คุณพ่อคุณแม่ควรหลีกเลี่ยง หรือลดคำว่า ‘เก่งมาก’ หรือ ‘ดีที่สุดในโลก’ ในการชื่นชมลูกลง โดยให้เปลี่ยนเป็นคำชมเชย ที่ทำให้ลูกเห็นตัวเองชัดเจนขึ้น เช่น ‘ภูมิใจที่ลูกทำสิ่งนั้นได้ดี’ ‘พยายามได้ดี’ ‘อดทนได้ดี’ หรือ ‘ลูกแข็งแกร่งขึ้นเยอะเลย’ เพื่อให้ลูกรู้สึกภูมิใจในตัวเอง ในขณะเดียวกัน คำชมเหล่านั้นก็ไม่ทำให้ลูกด้อยค่าคนอื่นหรือรู้สึกว่าตัวเองพิเศษมากกว่าใคร

3. ลูกอยากเป็นจุดสนใจของเพื่อน

KidsBrag_web_3

ทักษะการเข้าสังคมของเด็กวัยอนุบาลอาจยังไม่ดีนัก การคุยโม้โอ้อวดจึงกลายเป็นเทคนิคที่เด็กๆ พยายามนำมาใช้ เพื่อค้นหามิตรภาพจากเพื่อนร่วมห้อง หรือพยายามทำให้คุณครูเอ่ยถึงบ่อยๆ ซึ่งอาจได้ผลในบางครั้ง ทำให้ลูกคิดว่ามาถูกทาง และการคุยโม้โอ้อวดทำให้เป็นที่สนใจของคนอื่นๆ ได้ แต่ลูกอาจจะไม่รู้เลยว่าหากทำแบบนี้ต่อไปก็อาจทำให้เพื่อนๆ อยากตีตัวออกห่างได้

คุณพ่อคุณแม่ควรแนะนำวิธีการเข้าหาเพื่อนและคุณครูให้กับลูกวัยนี้อย่างเหมาะสม เช่น ให้ลูกทักทายเพื่อนๆ ทุกวันในตอนเช้า โบกมือลาตอนเลิกเรียก ยิ้มให้เพื่อน หรือเล่นกับเพื่อนดีๆ มีน้ำใจ รู้จักช่วยเหลือและแบ่งปัน จะทำให้เป็นที่รักของคนอื่นได้อย่างมีความสุขมากกว่า

4. ลูกอยากปกป้องตัวเอง

KidsBrag_web_4

การที่ลูกขี้โม้ รวมไปถึงการอวดเบ่งต่อหน้าคนอื่น เป็นไปได้ว่า ลูกอาจเคยถูกเพื่อนกลั่นแกล้ง หรือถูกคุณครูทำให้เสียหน้า จึงพยายามทำให้ตัวเองดูแข็งแกร่งด้วยการพูดโอ้อวดถึงบางสิ่งบางอย่าง เช่น อวดอ้างถึงคุณพ่อคุณแม่ เพื่อให้ตัวเองผ่านสถานการณ์เล่านั้นไปได้

สอดคล้องกับความคิดเห็นของ Dr. Gail Gross ผู้เชี่ยวชาญด้านครอบครัว พัฒนาการเด็ก และพฤติกรรมมนุษย์ ที่กล่าวเอาไว้ว่า การโอ้อวดของเด็ก เป็นสิ่งบ่งชี้ได้ว่า เด็กขาดความมั่นใจในตัวเองเป็นอย่างมาก เขารู้สึกว่าตัวเองตัวเล็กนิดเดียว จึงพยายามทำให้ตัวเองรู้สึกตัวโตขึ้น และโตกว่าหรืออยู่สูงกว่าเพื่อนๆ เพื่อให้ตัวเองรู้สึกปลอดภัย และเป็นที่หนึ่ง ซึ่งเรื่องนี้ผู้ปกครองควรปรึกษาคุณครูประจำชั้น เพื่อช่วยกันแก้ไขต่อไป

ที่มา
todaysparent
huffpost

Saranya A.

ศรัญญา อ่าวสมบัติกุล: คุณแม่มือใหม่ ที่มีความตั้งใจเลี้ยงลูกชายตัวน้อยด้วยการยึดโยงธรรมชาติ และความคิดสร้างสรรค์เข้าด้วยกัน คุณแม่คนนี้หลงรักและทำงานด้านการเขียนมากว่า 12 ปี ตอนนี้มีความฝันอยากเป็นนักวาดนิทานเด็ก

COMMENTS ARE OFF THIS POST