READING

ทำยังไง เมื่อลูกชอบโทษคนอื่นแต่ไม่เคยโทษตัวเอง...

ทำยังไง เมื่อลูกชอบโทษคนอื่นแต่ไม่เคยโทษตัวเอง

ชอบโทษคนอื่น

ทำไม ลูกชอบโทษคนอื่น คุณพ่อคุณแม่หลายคนอาจเคยนึกสงสัยว่าลูกไปเอาความคิดหรือนิสัยไม่ยอมรับผิด หนำซ้ำยังชอบโทษว่าเป็นความผิดของคนอื่นมาจากไหน

“หนูไม่ได้ทำ น้องทำต่างหาก!”

“หนูทำแก้วแตก ก็เพราะน้องมายืนขวาง”

แม้บางครั้งจะเห็นได้ชัดว่าเป็นความผิดพลาดของลูกเอง แต่พอเห็นลูกบ่ายเบี่ยงและโยนความผิดให้คนอื่นแล้ว ก็ไม่รู้ว่าควรจะรับมือกับพฤติกรรมนี้อย่างไรดี

ความจริงแล้วการนึกโทษว่าเป็นความผิดของคนอื่นก่อนตัวเอง อาจเป็นหนึ่งในกลไกการปกป้องตัวเองที่สามารถเกิดขึ้นได้กับทุกคน แต่การยอมรับผิดต่างหากที่ต้องใช้ความกล้าหาญและการรับผิดชอบ ที่มาจากการเลี้ยงดูและปลูกฝังอย่างถูกต้อง

แล้วคุณพ่อคุณแม่ควรทำอย่างไรเมื่อลูกชอบโทษคนอื่นและไม่ยอมรับความผิดของตัวเอง เรามีคำตอบ

1. คุณพ่อคุณแม่ต้องใจเย็นและมีท่าทีที่สงบ

ใจเย็น

เมื่อลูกทำอะไรผิดพลาด ท่าทีของคุณพ่อคุณแม่ที่มีลูกเป็นสิ่งสำคัญ ดังนั้น สิ่งแรกที่คุณพ่อคุณแม่ต้องทำคือใจเย็น ไม่โวยวาย ไม่ใจร้อนหรือแสดงอารมณ์ที่ทำให้ลูกตกใจกลัว

สิ่งที่ควรทำคือพูดกับลูกด้วยท่าทีที่สงบ ใจเย็น และมีเหตุผล เพราะท่าทีที่สงบของคุณพ่อคุณแม่จะช่วยให้ลูกไม่ตื่นตกใจ จนต้องรีบปัดความผิดให้พ้นตัว และไม่จำเป็นต้องใช้กลไกป้องกันตัวเองด้วยการโทษคนอื่น แต่จะทำให้ลูกมีความกล้าหาญที่จะยอมรับและแก้ไขความผิดของตัวเองมากขึ้น

2. ใช้ความเข้าใจแทนการต่อว่า

BlamesOthers_web_2

บางครั้งการกล่าวโทษคนอื่น เป็นเพราะลูกไม่อยากให้คุณพ่อคุณแม่ผิดหวังเสียใจในตัวเขา และต้องการปัดความรู้สึกผิดพลาดของตัวเองออกไป คุณพ่อคุณแม่จึงควรใช้ความเข้าใจในการพูดคุยกับลูก ไม่กล่าวโทษหรือขยายความผิดพลาด แล้วยัดเยียดว่าความผิดนั้นเป็นของลูกแต่เพียงผู้เดียว

ยกตัวอย่าง ลูกทำของเล่นราคาแพงเสียหาย แล้วโทษว่าเป็นความผิดของน้อง แทนที่คุณพ่อคุณแม่จะต่อว่าลูกทันที ก็ให้เปลี่ยนเป็นพูดกับลูกด้วยความเข้าใจแทน เช่น แม่เข้าใจว่าลูกเสียใจที่ของเล่นพัง และคิดว่าน้องก็คงจะเสียใจเหมือนกัน และลูกจะเสียใจมากแค่ไหนก็ได้ แต่ลูกไม่ควรตะโกนหรือตีน้องนะคะ

3. เป็นแบบอย่างของการแสดงความรับผิดชอบ

รับผิดชอบ

คุณพ่อคุณแม่เป็นต้นแบบสำคัญที่จะทำให้ลูกกล้ายอมรับความผิด และรู้จักรับผิดชอบความผิดพลาดของตัวเอง ถ้าคุณพ่อคุณแม่แสดงให้ลูกเห็นว่า การทำผิดพลาดแล้วยอมรับและหาทางแก้ไข เป็นเรื่องที่ทุกคนควรทำ ไม่ซ้ำเติมความผิดของคนอื่นให้ลูกเห็น ไม่ทำให้ลูกรู้สึกว่าการทำผิดพลาดเป็นเรื่องน่ากลัวและจะได้รับโทษหนักเกินไป ก็จะช่วยให้ลูกไม่ต้องหาทางปกป้องตัวเองด้วยการโทษคนอื่น และกล้ายอมรับความผิดเพื่อแก้ไขด้วยตัวเองได้

4. สอนให้ลูกรู้จักเยียวยาจิตใจผู้อื่น

เยียวยา

หลายครั้งที่ลูกทำผิดพลาดแล้วโทษว่าเป็นความผิดของคนอื่น คุณพ่อคุณแม่ไม่ควรปล่อยผ่าน เพราะจะยิ่งทำให้ลูกเลือกใช้วิธีนี้ปัดความรับผิดชอบให้พ้นตัวบ่อยๆ นอกจากจะสร้างนิสัยที่ไม่ดีให้ลูกแล้วยังทำให้ความสัมพันธ์ของลูกกับคนที่ถูกกล่าวหาสั่นคลอนได้

ดังนั้น คุณพ่อคุณแม่ควรพูดคุยกับลูก ให้ลูกรู้จักเยียวยาจิตใจและรักษาความรู้สึกของคนที่ได้รับผลกระทบ เช่น “แม่รู้ว่าลูกเสียใจที่ของเล่นเสียหาย แต่การที่ลูกบอกว่าเป็นความของน้อง ก็ทำให้น้องรู้สึกเสียใจมากเช่นกัน แล้วเราจะทำยังไงให้น้องรู้สึกขึ้นดีนะ…”

การพูดคุยชักชวนให้เขาได้คิดตามถึงความรู้สึกของผู้อื่น นอกจากจะทำให้ลูกเกิดความเข้าอกเข้าใจคนอื่น ก็จะช่วยให้ลูกอยากรับผิดชอบการกระทำของตัวเองและไม่เลือกใช้วิธีโทษคนอื่นอีกต่อไป

5. สร้างครอบครัวที่ไร้การตำหนิ

BlamesOthers_web_5

หากครอบครัวเราเต็มไปด้วยการตำหนิหรือกล่าวว่าโทษกันตลอดเวลา ไม่ว่าใครจะทำอะไรผิดพลาดเล็กน้อยขนาดไหน ก็ต้องตอกย้ำและตำหนิให้รู้สึกแย่บ่อยๆ สังคมแบบนี้ทำให้ลูกมีแนวโน้มที่จะเป็นเด็กชอบโทษคนอื่น เพราะไม่อยากเป็นคนที่ถูกตำหนิและต่อว่า

ดังนั้น แทนที่ทุกคนในครอบครัวจะเอาจริงเอาจังกับการหาคนผิดมาตำหนิหรือลงโทษ ลองเปลี่ยนเป็นการหาสาเหตุเพื่อให้ความช่วยเหลือ หรือหาทางแก้ปัญหาร่วมกัน นอกจากจะทำให้ความสัมพันธ์ภายในครอบครัวเต็มไปด้วยความรู้สึกปลอดภัย จะทำให้ลูกเป็นเด็กที่กล้ายอมรับความผิด ไม่โทษคนอื่น และกล้าที่จะของความช่วยเหลือเพื่อแก้ไขความผิดพลาดของตัวเองต่อไป

อ้างอิง
ahaparenting
scholastic
empoweringparents

Anittha R

หลงรักธรรมชาติของความเป็นเด็ก ชอบดูหนัง ชอบหนังสือนิทาน รักการเลี้ยงต้นไม้ และใฝ่ฝันอยากทำสวนกระบองเพรชที่มีดอกเยอะๆ

COMMENTS ARE OFF THIS POST