READING

ทำอย่างไร เมื่อลูกเมินเฉยและไม่สนใจคำพูดของคุณพ่อค...

ทำอย่างไร เมื่อลูกเมินเฉยและไม่สนใจคำพูดของคุณพ่อคุณแม่

“เดี๋ยวเล่นเสร็จ ต้องไปอาบน้ำแล้วนะคะ”
“กินขนมเสร็จแล้ว แปรงฟันด้วยนะลูก”

สารพัดคำพูดของคุณพ่อคุณแม่ ที่ทั้งบอกทั้งเตือนลูกด้วยความหวังดี แต่ทำไมนะทำไม ลูกถึงได้ชอบทำเป็นไม่ได้ยินบ้างล่ะ ได้ยินแต่ทำเป็นไม่สนใจบ้างล่ะ

แต่ความจริงแล้ว ท่าทีที่ลูกทำเป็นไม่สนใจ หรือเมินเฉยต่อคำพูดของคุณพ่อคุณแม่ ไม่ใช่การแสดงออกถึงความดื้อหรือต่อต้านเสมอไปนะคะ เพราะอาการไม่สนใจ อาจเป็นหนึ่งในพัฒนาการของที่เด็กกำลังเริ่มจัดลำดับความสำคัญของสิ่งที่ตัวเองสนใจ และความอยากรู้อยากลองว่าถ้าไม่ทำตามคำพูดของคุณพ่อคุณแม่ ผลจะออกมาเป็นอย่างไร

อาจจะดูเป็นเรื่องน่าปวดหัวไม่น้อย แต่ก็ไม่ใช่เรื่องยากเกินกว่าคุณพ่อคุณแม่อย่างเราจะรับมือได้

ลองมาดูเทคนิครับมือเวลาที่ลูกทำเป็นไม่สนใจหรือเมินเฉยต่อคำพูดของเรากันดีกว่าค่ะ

1. บอกสิ่งที่ต้องการให้ชัดเจนยิ่งขึ้น

ChildIgnores_web_1

ถ้าปกติคุณพ่อคุณแม่เคยใช้ประโยค เช่น “แต่งตัวให้เรียบร้อยนะคะ” หรือ “เก็บของให้เป็นระเบียบนะคะ” สำหรับลูกแล้วอาจจะรู้สึกว่าเป็นประโยคที่กว้างเกินไป ไม่เข้าใจว่าทำอย่างไรถึงจะเรียกว่าแต่งตัวเรียบร้อย หรือเก็บของอย่างไรให้เป็นระเบียบ คำสั่งที่ยากเกินไปอาจมีส่วนทำให้ลูกเลือกที่จะไม่สนใจ และปล่อยผ่านไปเฉยๆ

ทางที่ดีคือคุณพ่อคุณแม่ลองเปลี่ยนเป็นใช้คำพูดให้ชัดเจนยิ่งขึ้น เช่น “ถ้าเล่นเสร็จแล้วลูกช่วยเก็บของเล่นชิ้นนี้ลงกล่อง เสร็จแล้วก็ยกไปวางที่ชั้นด้วยนะคะ” หรือ “หนูเดินไปหยิบรองเท้าแล้วมานั่งใส่ให้เรียบร้อยนะคะ” การบอกรายละเอียดของสิ่งที่คุณพ่อคุณแม่ต้องการให้ลูกเห็นภาพชัดเจนยิ่งขึ้น จะทำให้ลูกให้ความสำคัญกับคำพูดของคุณพ่อคุณแม่มากขึ้น

2. สังเกตความรู้สึกของลูก

ChildIgnores_web_2

เมื่อลูกเมินเฉยหรือไม่ยอมทำตามคำพูดของคุณพ่อคุณแม่  สิ่งสำคัญคือคุณพ่อคุณแม่ต้องสังเกตอารมณ์และความรู้สึกของลูกในเวลานั้น ว่าที่ลูกทำเป็นเมินเฉย เพราะกำลังหงุดหงิด เสียใจ หรือไม่พอใจอะไรอยู่

หากเห็นว่าลูกกำลังอยู่ในสถานการณ์ยากลำบากของตัวเอง เช่น กังวล โกรธ หงุดหงิด ไม่พอใจ เสียใจ คุณพ่อคุณแม่ก็ควรให้เวลาลูกได้อยู่กับตัวเอง ไม่ควรถามหรือพูดซ้ำๆ เพราะจะยิ่งทำให้ลูกยิ่งต่อต้านหรือพยายามแสดงอาการขัดขืนเพื่อให้คุณพ่อคุณแม่รู้ว่าเขายังไม่พร้อมที่จะรับคำสั่งใดๆ ทั้งสิ้น

3. อย่าใช้คำว่า ไม่ ห้าม หรืออย่าบ่อยเกินไป

ChildIgnores_web_3

บางครั้งคุณพ่อคุณแม่ชอบใช้คำว่า ไม่ ห้าม หรืออย่า ในการหยุดไม่ให้ลูกทำอะไรบางอย่าง แต่การใช้คำว่า ‘ไม่’ หรือคอยบอกลูกว่า ห้ามทำอะไรตลอดเวลา จะยิ่งกระตุ้นความอยากรู้อยากลองในตัวลูก ทำให้ลูกอยากพิสูจน์ว่าถ้าขัดใจหรือไม่ทำตามคำสั่งคุณพ่อคุณแม่จะเป็นอย่างไรบ้าง

แต่ถ้าคุณพ่อคุณแม่ลองเปลี่ยนการห้ามสิ่งที่ไม่ควรทำ เป็นการยื่นข้อเสนอสิ่งที่ลูกควรทำ เช่น เปลี่ยนการบอกว่า “ห้ามเล่นบอลในบ้าน” เป็น “ถ้าลูกออกไปเล่นบอลนอกบ้านจะสนุกกว่านะคะ”

4. ไม่จู้จี้จุกจิกและพูดเรื่องเดิมซ้ำๆ

ChildIgnores_web_4

การที่ลูกเมินเฉยต่อคำพูดคุณพ่อคุณแม่อาจเป็นสัญญาณเตือนว่า คุณพ่อคุณแม่บอกหรือเตือนเรื่องนี้บ่อยเกินไปแล้ว

ทางที่ดีคืออาจต้องหยุดจู้จี้กับลูก และเปลี่ยนเป็นการสร้างข้อตกลงที่ชัดเจน และบอกผลลัพธ์หากลูกไม่ทำตามข้อตกลง หรือคุณพ่อคุณแม่ลองทำตารางกิจกรรมที่ลูกต้องทำ และมีคำชมหรือรางวัลเล็กๆ น้อยๆ เมื่อลูกทำตามได้โดยที่คุณพ่อคุณแม่ไม่ต้องบอกซ้ำๆ

5. อย่าใช้น้ำเสียง คำพูด หรือท่าทางที่แสดงถึงการออกคำสั่งมากเกินไป

ChildIgnores_web_5

การบอกให้ลูกทำหรือไม่ทำอะไร สามารถปรับรูปแบบการพูดได้หลายวิธี ลองนึกถึงตัวเองว่าไม่ชอบท่าที คำพูด หรือน้ำเสียงที่แสดงถึงการออกคำสั่งอย่างไร ลูกเองก็ไม่ชอบให้คุณพ่อคุณแม่ทำอย่างนั้นเช่นกัน

ลองเปลี่ยนการออกคำสั่งเป็นการพูดคุยกันด้วยน้ำเสียงธรรมดา ให้ลูกได้มีโอกาสบอกว่าอยากทำหรือไม่อยากทำอะไร แล้วสร้างข้อตกลงร่วมกัน เช่น เมื่อลูกดูทีวีจบแล้วจะต้องปิดไฟเข้านอน

การเปลี่ยนวิธีพูดรวมถึงการสร้างข้อตกลงร่วมกันแต่แรก จะทำให้คุณพ่อคุณแม่ไม่ต้องคอยบอกหรือออกคำสั่งกับลูกซ้ำๆ ไม่ทำให้ลูกรู้สึกว่าคุณพ่อคุณแม่จู้จี้น่ารำคาญ ช่วยลดท่าทีไม่สนใจหรือแกล้งทำเป็นเมินเฉยของลูกได้

อ้างอิง
empoweringparents
cafemom
parentguidenews
babycentre

Anittha R

หลงรักธรรมชาติของความเป็นเด็ก ชอบดูหนัง ชอบหนังสือนิทาน รักการเลี้ยงต้นไม้ และใฝ่ฝันอยากทำสวนกระบองเพรชที่มีดอกเยอะๆ

COMMENTS ARE OFF THIS POST