ตลอดปีพ.ศ. 2561 มีข่าวสารที่เป็นประโยชน์ต่อเด็ก เยาวชน และครอบครัวเกิดขึ้นมากมาย ไม่ว่าจะเป็นเรื่องเทคโนโลยีหรือนโยบายใหม่ๆ ที่มีขึ้นเพื่อบรรลุเป้าหมายในการสร้างความสุขให้กับเด็กและครอบครัว
M.O.M ทำการรวบรวม 10 ข่าวในวงการแม่และเด็กมาให้ทบทวนกันอีกครั้งว่า ปี 2561 ที่กำลังจะผ่านไปนี้ มีข่าวอะไรที่คุณพ่อคุณแม่ให้ความสนใจกันบ้าง
1. ร่าง พ.ร.บ. ปฐมวัยแห่งชาติ เสนอให้ “ยกเลิกสอบเข้า ป.1”
เป็นข่าวที่ถูกวิพากษ์วิจารณ์มากที่สุดในรอบปีเลยก็ว่าได้ เมื่อคณะอนุกรรมการเด็กเล็กมีความคิดเห็นตรงกันว่า ควรจะยกเลิกการสอบเข้า ป.1 และตอนนี้ พ.ร.บ ฉบับนี้ ก็เพิ่งผ่านความเห็นชอบจากที่ประชุมคณะรัฐมนตรีเป็นที่เรียบร้อย เมื่อวันที่ 24 ตุลาคม 2561 ที่ผ่านมา
พ.ร.บ ฉบับนี้ เป็นการยกเลิกการจัดสอบเด็กปฐมวัย ไม่ว่าจะด้วยวิธีการใดก็ตาม เพราะเด็กในวัยปฐมวัย เป็นช่วงวัยที่สำคัญที่เด็กจะได้เรียนรู้ไปตามวัยอย่างเหมาะสมมากกว่าการที่ต้องทนทุกข์ยากไปกับการเรียน
ถ้าหาก พ.ร.บ ฉบับนี้ผ่าน โรงเรียนที่ยังมีการจัดสอบเข้าเรียนชั้น ป.1 จะถูกปรับ 500,000 บาท ในกรณีที่โรงเรียนรับฝากเด็กเข้าเรียนจะถูกปรับเป็น 10 เท่าของจำนวนเงินที่รับฝาก
ที่มา
thepotential
2. การตรวจเลือดคุณแม่ จะช่วยบอกได้ว่ามีภาวะเสี่ยงต่อการคลอดก่อนกำหนดหรือไม่
ปัจจุบัน ทั่วโลกมีทารกเสียชีวิตจากภาวะแทรกซ้อนที่มาจากการคลอดก่อนกำหนด มากถึง 15 ล้านรายและนี่ยังเป็นสาเหตุอันดับต้นๆ ของการเสียชีวิตที่เกิดขึ้นกับเด็กอายุไม่เกิน 5 ขวบ
การคลอดก่อนกำหนดจึงกลายเป็นปัญหาที่คุณแม่ทั่วโลกต่างวิตกกังวล
ในเดือนมิถุนายนที่ผ่านมา ก็มีข่าวดีออกมา เมื่อนักวิจัยจากมหาวิทยาลัยสแตนฟอร์ด และสถาบันสตาเทนส์ เซรัม ในกรุงโคเปนเฮเกน แห่งเดนมาร์ก ได้รายงานลงวารสารวิทยาศาสตร์ ว่าจากการตรวจสอบเลือดคุณแม่ 31 คน สามารถระบุได้ว่ายีนตัวไหนที่มีผลต่อการคลอดทารกก่อนกำหนด และมีความแม่นยำถึงร้อยละ 80 ซึ่งวิธีนี้นอกจากจะแม่นยำแล้ว ยังราคาย่อมเยาว์ โดยคุณแม่สามารถเข้าถึงการตรวจเลือดเพื่อตรวจความเสี่ยงต่อการคลอดลูกก่อนกำหนดได้
ในประเทศไทยยังไม่ได้นำวิธีการตรวจเลือด เพื่อดูความเสี่ยงของการคลอดลูกก่อนกำหนดมาใช้ แต่จะใช้วิธีการตรวจอัลตร้าซาวด์เพื่อดูความแข็งแรงของทารก และตรวจสุขภาพของคุณแม่
ที่มา
thairath
3. สนามเด็กเล่นสร้างปัญญา เพื่อพัฒนาเด็กปฐมวัย
เพราะเล็งเห็นว่าเด็กเล็กที่มีอายุระหว่าง 0-5 ขวบ เป็นช่วงที่สำคัญที่สุดของการพัฒนาทักษะในด้านต่างๆ สสส. และ ประชาชนในชุมชนท้องถิ่นเขตเทศบาลตำบลปริก จึงจับมือกันสร้าง ‘สนามเด็กเล่นสร้างปัญญา’ ขึ้น เพื่อพัฒนาการเรียนรู้ของเด็กปฐมวัย ใน 5 ฐานการเรียนรู้ ณ เทศบาลตำบลปริก อำเภอสะเดา จังหวัดสงขลา เพื่อให้เด็กๆ พัฒนาทั้งด้านร่างกาย อารมณ์ สังคม และสติปัญญา
นอกจากนี้ผู้ปกครองยังไว้วางใจได้ เมื่อลูกมาอยู่ในความดูแลของศูนย์พัฒนาเด็กเล็กนี้ เพราะเด็กจะได้รับการดูแลจากบุคลากรที่มีความเชี่ยวชาญ
ในเดือนตุลาคม ปี 2562 สสส. ได้ของบประมาณเพิ่มเพื่อสร้าง ‘สนามเด็กเล่นสร้างปัญญา’ เพิ่มอีก 500 แห่งทั่วประเทศ เพื่อช่วยทำให้เด็กๆ มีความสุขและเติบโตขึ้นมาเป็นเด็กที่มีพัฒนาการดี
ที่มา
thairath
4. คุณแม่อายุ 35 ปีขึ้นไป ตรวจความเสี่ยงอาการดาวน์ซินโดรมฟรี
คุณแม่ที่มีอายุ 35 ปีขึ้นไป มีโอกาสเสี่ยงที่ทารกจะเป็นดาวน์ซินโดรม ในอัตรา 1 ต่อ 800 คน โดยเด็กที่เป็นดาวน์ซินโดรมจะมีระดับสติปัญญา (ไอคิว) ต่ำ พัฒนาการช้า หัวใจ และต่อมไทรอยด์ทำงานผิดปกติ ปัจจุบันพบว่าทารกเกิดใหม่เป็นดาวน์ซินโดรมสูงถึง 700,000 ครรภ์ต่อปี
ด้วยสาเหตุนี้ จึงให้คุณแม่ที่มีอายุมากกว่า 35 ปี เข้าไปตรวจเลือดที่ศูนย์วิทยาศาสตร์การแพทย์ที่ 3 จังหวัดนครสวรรค์ฟรี และศูนย์นี้พร้อมที่จะรับตัวอย่างเลือดจากคุณแม่ทั่วประเทศ เพื่อตรวจสอบความเสี่ยงของทารกและรู้ผลภายใน 7 วัน
ภายในปี 2563 จะตั้งงบสำหรับตรวจคุณแม่ตั้งครรภ์ได้ทุกช่วงวัย เพื่อช่วยให้ครอบครัววางแผนได้ ในกรณีที่ทารกมีความผิดปกติมาก พิการซ้ำซ้อน อาจจะตัดสินใจยุติการตั้งครรภ์ หากทารกมีความผิดปกติไม่มาก และครอบครัวมีความพร้อมต้องการตั้งครรภ์ต่อ ก็จะได้วางแผนการดูแลเด็กต่อไป
ที่มา
thairath
5. YouTube เปิดตัวแอปฯ YouTube Kids ให้ผู้ปกครองดูแลการเข้าถึงสื่อวิดีโอของลูกหลานแล้ว
ยูทูบได้ประกาศเปิดตัวแอปพลิเคชั่น ‘YouTube Kids’ อย่างเป็นทางการแล้วในประเทศไทย โดย YouTube Kids จะคัดสรรเนื้อหาวิดีโอคุณภาพให้กับเด็กโดยเฉพาะ เพื่อให้เป็นแหล่งเรียนรู้และเสริมสร้างจินตนาการของเด็ก ทั้งการ์ตูนและภาพยนตร์ที่สอดแทรกคุณธรรมสำหรับเด็ก และยังมีช่องเพลงสำหรับเด็ก
นอกจากนี้ ทางทีมงานยังนำเสนอเนื้อหาอีกมากมาย ตั้งแต่งานศิลปะ งานฝีมือ ดนตรี ไปจนถึงกีฬา ความกังวลของผู้ปกครองเกี่ยวกับการสำรวจโลกออนไลน์ของเด็ก ก็เป็นสิ่งที่ทางยูทูบให้ความสำคัญ ดังนั้น จึงเกิดโหมดการใช้งานต่างๆ ขึ้นมา เพื่ออำนวยความสะดวกให้กับผู้ปกครอง ทำให้ผู้ปกครองสามารถควบคุมการใช้งานและการเข้าถึงเนื้อหาของเด็กได้ ได้แก่ โหมดการอนุมัติจากผู้ปกครองคือ ผู้ปกครองสามารถเลือกวิดีโอและช่องต่างๆ ที่ต้องการให้ลูกรับชมในแอปพลิเคชั่นได้ และตัวจับเวลา พ่อแม่สามารถตั้งเวลาเพื่อจำกัดระยะเวลาการใช้แอปพลิเคชั่น เมื่อหมดเวลาในการรับชมวิดีโอ ทางแอปพลิเคชั่นจะส่งแจ้งเตือนไปบนหน้าจอที่เด็กเล่นอยู่ โหมดนี้จะช่วยให้พ่อแม่ไม่ต้องเดินไปบอก หรือ เตือนให้ลูกหยุดดูวิดีโอเหมือนแต่
ที่มา
it24hrs
6. มีลูกคนที่สองภายในปี 2561 คุณแม่จะลดหย่อนภาษีได้ถึงสามหมื่นบาท
มีผลบังคับใช้ตั้งแต่วันที่ 12 พฤศจิกายน ที่ผ่านมา เว็บไซต์ราชกิจจานุเบกษาได้เผยแพร่พระราชบัญญัติแก้ไขเพิ่มเติมประมวลรัษฎากร (ฉบับที่ 46) ให้บุตรชอบด้วยกฎหมายตั้งแต่คนที่สองเป็นต้นไป ที่เกิดในปี พ.ศ. 2561 หรือหลังปี พ.ศ. 2561 ให้หักลดหย่อนภาษีได้เพิ่มอีกคนละ 30,000 บาท
โดยสามารถลดหย่อนได้ทั้งคุณพ่อและคุณแม่ไม่ต้องหารครึ่ง รวมเป็น 60,000 บาท และในการนับลําดับบุตร ให้นับลําดับของบุตรทุกคน ไม่ว่าจะมีชีวิตอยู่หรือไม่ก็ตาม และมีผลบังคับใช้ตั้งแต่การยื่นเงินประเมินประจําปีภาษีปี พ.ศ. 2561 เป็นต้นไป
ที่มา
thairath
7. BTS แจกเข็มกลัดคนท้องฟรีที่ห้องจำหน่ายตั๋วทุกสถานี
หลังจากได้ฟังความคิดเห็นจากผู้ใช้บริการรถไฟฟ้าบีทีเอส เรื่องการอำนวยความสะดวกให้กับสตรีมีครรภ์ ทางบีทีเอสจึงได้จัดทำเข็มกลัดสัญลักษณ์คนท้องให้กับหญิงตั้งครรภ์ติดเสื้อหรือกระเป๋า เพื่อให้เพื่อนร่วมทางทราบ และเอื้อเฟื้อที่นั่งให้กับคนท้องได้
นอกจากนี้ ทางบีทีเอสยังจะติดโปสเตอร์ประชาสัมพันธ์เกี่ยวกับเข็มกลัดคนท้อง เพื่อให้ผู้ร่วมเดินทางเข้าใจและสามารถปฏิบัติตามได้ถูกวัตถุประสงค์อย่างที่ทางบีทีเอสต้องการ และเพิ่มเสียงประกาศเฉพาะในขบวนรถ ให้ผู้โดยสารในขบวนช่วยเอื้อเฟื้อที่นั่งให้แก่ผู้ติดเข็มกลัดอีกด้วย
ในอนาคต ทางรถไฟฟ้าบีทีเอสจะปรับปรุงที่นั่งสำรอง (Priority Seat) ให้มีสีสันที่แตกต่างจากที่นั่งทั่วไป เพื่อให้ง่ายต่อการมองเห็นมากขึ้น
โดยตัวเข็มกลัดจะมีหมายเลขระบุไว้เฉพาะ และมีข้อมูลผู้ที่ติดต่อได้กรณีฉุกเฉิน หากเจ็บป่วยระหว่างเดินทาง ทางสถานีจะได้ช่วยเหลือและแจ้งญาติได้ทันที
ที่มา
mangozero
8. โรงเรียนสังกัด สพฐ. ประกาศงดรับเด็กอนุบาลหนึ่ง (อายุ 3 ขวบ) เข้าเรียน เริ่มต้นปีการศึกษา 2562 นี้
โรงเรียนอนุบาลของสพฐ. งดรับเด็กอนุบาลหนึ่งหรือเด็กสามขวบ เนื่องจากต้องการลดความซ้ำซ้อนของการศึกษา โดยการรับเด็กอนุบาลหนึ่ง จะปล่อยให้เป็นหน้าที่ของสถานศึกษาสังกัดองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น (อปท.) และสังกัดสำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมการศึกษาเอกชน (สช.) เพราะทั้งสองหน่วยงานทำงานได้ดีอยู่แล้ว
ทางสพฐ. มีนโยบายเริ่มต้นรับเด็กชั้นอนุบาลสอง หรือ เด็กอายุ 4 ขวบ และชั้นอนุบาลสาม หรือ อายุ 5 ขวบ เข้าเรียน ซึ่งนโยบายนี้จะเริ่มตั้งแต่ปีการศึกษา 2562 เป็นต้นไป
สำหรับเด็ก 3 ขวบ หรือชั้นอนุบาลหนึ่ง ที่จะได้เข้าศึกษาในปี 2562 คือเด็กที่เกิดระหว่างวันที่ 17 พฤษภาคม 2558 – 16 พฤษภาคม 2559
และในกรุงเทพฯ มีโรงเรียนอนุบาลในสังกัดสพฐ. ดังนี้ โรงเรียนอนุบาลสามเสนฯ โรงเรียนพระตำหนักสวนกุหลาบ โรงเรียนพญาไท โรงเรียนทุ่งมหาเมฆ เป็นต้น
อย่างไรก็ตาม ในบางพื้นที่ เช่น อยู่ในพื้นที่ทุรกันดารและได้รับการตรวจสอบแล้ว ว่าไม่มีโรงเรียนอนุบาลของ อปท. หรือ สช. ทาง สพฐ. จะอนุมัติให้เปิดอนุบาลหนึ่งได้ในบริเวณนั้น
ที่มา
mgronline
9. ขยายสิทธิ์ได้รับเงินอุดหนุนเพื่อเลี้ยงดูทารกแรกเกิด
คณะรัฐมนตรี (ครม.) ขยายสิทธิ์ให้กับผู้ที่ได้รับเงินอุดหนุนเพื่อเลี้ยงดูเด็กแรกเกิด โดยขยายอายุจากเดิม 0-3 ปี เป็นอายุ 0-6 ปี และขยายเกณฑ์รายได้ครอบครัวจากไม่เกิน 36,000 บาทต่อคนต่อปี เป็นไม่เกิน 100,000 บาทต่อคนต่อปี
หลังครม. เห็นชอบสามารถให้ผู้มีสิทธิ์มาลงทะเบียนได้ในเดือนธันวาคม เพื่อเป็นของขวัญปีใหม่ให้เด็กแรก
ที่มา
thairath
10. ครั้งแรกของโลกที่ทารกเกิดจากการปลูกถ่ายมดลูกจากคนที่เสียชีวิตไปแล้ว
นายแพทย์ ดานี เอจเซนเบิร์ก หนึ่งในทีมแพทย์ของมหาวิทยาลัยแพทย์เซา เปาลู ทีมแพทย์บราซิลได้พิสูจน์แล้วว่า อวัยวะจากคนตายสามารถใช้การได้ เมื่อนักจิตวิทยาสาว เกิดมาไม่มีมดลูก ได้ทำการตั้งครรภ์ด้วยวิธีการทำเด็กหลอดแก้ว หลังจากนั้นทีมแพทย์ได้ปลูกถ่ายมดลูกจากผู้บริจาคที่เสียชีวิต ด้วยโรคหลอดเลือดสมองวัย 45 ปี และเคยมีลูกมาแล้วสามคน ให้กับนักจิตวิทยาสาวสำเร็จ
และต้นเดือนธันวาคมที่ผ่านมา นักจิตวิทยาได้ให้กำเนิดทารกเพศหญิง ด้วยวิธีการผ่าคลอด หลังจากคลอดสำเร็จ ทีมแพทย์นำเอามดลูกที่ปลูกถ่ายออก เพื่อเธอจะไม่ต้องทานยาลดปฏิกิริยาต่อต้านอวัยวะปลูกถ่าย
COMMENTS ARE OFF THIS POST