อาการเด็กหวงคุณพ่อคุณแม่ หรือญาติพี่น้องคนสนิทที่รักใคร่และไว้วางใจเป็นพิเศษ เป็นอาการที่อาจเกิดขึ้นได้กับเด็กๆ ในช่วงวัยหนึ่ง ดังที่เราอาจจะเคยเห็น ลูกหวงแม่ ไม่อยากให้แม่แสดงความรักกับเด็กคนอื่น, น้องสาวหวงพี่ชาย จนไม่อยากให้พี่ชายไปมีแฟนที่ไหน หรือเด็กบางคนก็ไม่อยากให้คุณพ่อคุณแม่แสดงความรักต่อกันด้วยซ้ำ ลูกแสดงความรักกับพ่อแม่มาก และไม่พอใจเมื่อเห็นพ่อแม่แสดงความรักต่อกัน หรือ แสดงความรักกับเด็กคนอื่น
อาการหวงคนที่ตัวเองรักนั้น เป็นเรื่องปกติที่สามารถเกิดขึ้นได้กับเด็กในช่วงวัยต่างๆ แต่ถ้าคุณพ่อคุณแม่รู้วิธีรับมือกับอาการหวงนี้อย่างเหมาะสม เด็กจะสามารถเข้าใจและเปลี่ยนแปลงพฤติกรรมของตัวเองได้ในที่สุด
1. ไม่ควรแสดงอารมณ์โกรธหรือรำคาญ

เพราะลูกจะรู้สึกกลัวการไม่เป็นที่รักมากกว่าเดิม และแสดงอาการหวง หรือเรียกร้องความรักหนักขึ้น จนกลายเป็นเด็กดื้อและไม่เชื่อฟังพ่อแม่ได้
2. อย่าสนับสนุนจินตนาการของลูก

อย่าสนับสนุนความเข้าใจผิดๆ เกี่ยวกับความสัมพันธ์ โดยเฉพาะของคนในครอบครัว เช่น ไม่แกล้งบอกว่าเก็บลูกมาจากที่อื่น ไม่ขู่ว่าจะรักหรือสนใจคนอื่นมากกว่า หรือเมื่อลูกชายแสดงอาการรักแม่และหวงแม่ จนไม่ยอมให้คุณพ่อเข้าใกล้ คุณแม่ก็ควรอธิบายลักษณะความสัมพันธ์ของคนในครอบครัวให้ลูกเข้าใจ เช่น บอกลูกว่าวันหนึ่งเมื่อลูกโตขึ้น ลูกก็จะมีคนที่ลูกรักเหมือนที่คุณพ่อรักแม่เช่นกัน
3. แสดงความรักทั้งครอบครัว

ถ้าพ่อกอดแม่ ก็ต้องกอดลูกด้วย กอดกันทั้งครอบครัวพ่อแม่ลูก รวมถึงถ้าแม่หอมแก้มพ่อ ก็ต้องหอมแก้มลูกด้วยเช่นกัน พร้อมบอกให้ลูกรู้ว่า ‘พ่อแม่รักหนูนะ’ หรือ ‘พ่อและลูกเป็นคนที่แม่รักมากที่สุด’ เป็นต้น
4. เข้าใจและแสดงความเป็นมิตร

ช่วงขวบครึ่งถึงสามขวบ เป็นวัยที่เด็กรับรู้ได้ว่า เขามีตัวตนเป็นของตัวเอง ไม่ได้เป็นส่วนหนึ่งของพ่อแม่ เด็กจึงต้องการแสดงความเป็นเจ้าของ ดังนั้นควรชมเชยและให้ความสำคัญกับลูก ในเวลาที่เหมาะสม เช่น การที่คุณพ่อฝากให้ลูกชายช่วยดูแลแม่ตอนที่พ่อไม่อยู่บ้าน หรือกล่าวชมเชยเมื่อลูกลงมือช่วยเหลือพ่อแม่ อาจจะเป็นถ้อยคำง่ายๆ เช่น บอกว่าลูกทำสิ่งนี้ได้ดีกว่าพ่อเสียอีก จะทำให้ลูกรู้สึกเป็นมิตรและรู้ว่าตัวเองมีบทบาทสำคัญในครอบครัว
COMMENTS ARE OFF THIS POST