เมื่อถึงช่วงวัยหนึ่งที่ลูกก็จะเริ่มมีพัฒนาการทางด้านภาษาดีขึ้น จากที่เคยใช้การส่งเสียงเพื่อแสดงความต้องการหรือสื่อความหมายต่างๆ ก็เริ่มพูดเป็นคำๆ ได้
ช่วงวัยนี้เองที่คุณพ่อคุณแม่อาจเริ่มเห็นความแตกต่างทางพัฒนาการของเด็กแต่ละคน เช่น เด็กบางคนสามารถใช้คำพูดสื่อสารได้อย่างดี แม้อาจจะเรียบเรียงเป็นประโยคที่ซับซ้อนได้ไม่ดีนัก ในขณะที่คุณพ่อคุณแม่หลายคนก็เริ่มปวดหัวเพราะ ลูกพูดไม่รู้เรื่อง ไม่สามารถสื่อสารโต้ตอบ หรือทำความเข้าใจประโยคง่ายๆ ที่คุณพ่อคุณแม่พูดด้วยได้
อาการ พัฒนาการทางภาษาล่าช้า (Language Development Delay) คือ อาการของเด็กที่มีพัฒนาการทางภาษาล่าช้า คือการมีความผิดปกติทางการสื่อสาร ไม่ว่าจะเป็นการพูดหรือการฟังได้ช้ากว่าคนอื่น ทำให้มีปัญหาในการสื่อสาร เช่น ฟังไม่เข้าใจ หรือพูดตอบโต้ไม่ทัน หรือที่ผู้ใหญ่มักเรียกรวมกันว่าเป็นอาการ พูดไม่รู้เรื่อง นั่นเอง
ข้อมูลจากมหาวิทยาลัย Michigan Health System ระบุว่าพัฒนาการทางภาษาล่าช้า จะส่งผลกระทบต่อสุขภาพและพัฒนาการของเด็กช่วงก่อนวัยเรียนได้มากถึง 5-10 เปอร์เซนต์และหากลูกไม่ได้รับการฝึกฝนหรือส่งเสริมให้เกิดพัฒนาการทางภาษาในช่วงวัยที่เหมาะสม ก็จะทำให้ลูกมีศักยภาพในการสื่อสารกับผู้อื่นน้อยลง ส่งผลต่อการเรียนรู้และบุคลิกภาพของลูกต่อไปในอนาคต
เพื่อเป็นตัวช่วยให้คุณพ่อคุณแม่สังเกตพฤติกรรมและพัฒนาการของลูกน้อย เราจึงรวบรวมสัญญาณเตือนว่าลูกมีความเสี่ยงหรือเข้าข่าย ลูกพูดไม่รู้เรื่อง หรือเป็นเด็กที่มีพัฒนาการทางภาษาล่าช้ามาฝากค่ะ
สาเหตุของพัฒนาการทางภาษาล่าช้า
ถึงแม้ว่าปัจจุบันยังไม่มีการระบุสาเหตุที่ทำให้ลูกมีพัฒนาการทางภาษาล่าช้าอย่างแน่ชัด แต่โดยทั่วไปก็มีการสันนิษฐานกันว่าอาจเกิดจากปัจจัย ดังนี้
• ลูกมีปัญหาด้านร่างกาย เช่น หูไม่ได้ยิน หรือช่องปากมีปัญหา
• ลูกไม่มีโอกาสเข้าสังคม ทำให้ไม่ได้ทดลองใช้ความสามารถในการสื่อสารของตัวเอง
• เกิดจากการคลอดก่อนกำหนด
• ลูกมีปัญหาทางระบบประสาท เช่น สมองพิการ กล้ามเนื้อเสื่อม หรือเกิดการบาดเจ็บที่สมอง
• ภาวะออทิสติก
• คนในครอบครัวเคยมีประวัติพัฒนาการทางภาษาล่าช้า
สัญญาณเตือนว่าลูกอาจมีพัฒนาการทางภาษาล่าช้า
อายุ 12-24 เดือน
• ลูกไม่พูดแม้กระทั่งคำสั้นๆ เช่น พ่อ แม่
• ลูกไม่สามารถเรียนรู้คำศัพท์ใหม่ๆ
• ลูกไม่ตอบสนองกับเสียงดนตรี
• ลูกไม่โต้ตอบหรือมีท่าทีตอบสนองต่อเสียงเรียกของคุณพ่อคุณแม่
• ลูกไม่สามารถเลียนแบบเสียงที่ตัวเองได้ยินได้
อายุ 2 ขวบขึ้นไป
• ลูกไม่สามารถรวมคำ หรือสร้างประโยคง่ายๆ ด้วยตนเอง
• เมื่อเริ่มพูดคำใดได้แล้ว จะชอบพูดคำเดิมซ้ำๆ และอาจไม่คำนึงถึงความหมาย
• ลูกไม่เข้าใจคำสั่งง่ายๆ เช่น เก็บของ หรือกินข้าว
• ไม่สามารถพูดหรือสื่อสารให้คนอื่นเข้าใจได้
อายุ 3 ขวบขึ้นไป
• พูดและเข้าใจประโยคสั้นๆ ได้เท่านั้น
• ลูกมักไม่เข้าใจประโยคคำถามที่ยาวหรือซับซ้อนกว่าปกติได้
• ไม่สนใจการอ่านหนังสือ หรือให้ความสนใจน้อยมาก
• ลูกไม่กล้าเอ่ยปากถามคำถามใคร
COMMENTS ARE OFF THIS POST