ภาวะ Learning Loss หรือ ภาวะการเรียนรู้ถดถอย หมายถึงภาวะที่ลูกสูญเสียโอกาสการเรียนรู้และทักษะหลายด้าน ตั้งแต่ทักษะการเขียนอ่าน ทักษะทางสังคม จนไปถึงทักษะการคิดต่อสิ่งต่างๆ รอบตัว ซึ่งสาเหตุเกิดมาจากความไม่ต่อเนื่องของการเรียนรู้ รวมถึงความไม่ต่อเนื่องของสภาพแวดล้อมทำให้ขาดการฝึกฝนทักษะในแขนงต่างๆ ไป
คุณพ่อคุณแม่อาจคิดว่าภาวะนี้เกิดขึ้นกับเด็กๆ เพราะสถานการณ์โควิด-19 ที่เด็กๆ ต้องเรียนออนไลน์ ทำให้ลูกมีพฤติกรรมขาดวินัย ชอบเล่นโทรศัพท์มือถือ ไม่ได้เข้าสังคม และมีทักษะวิชาการลดลง แต่ความจริงแล้ว ภาวะ Learning Loss อาจเกิดขึ้นกับเด็กๆ ได้ในช่วงปิดเทอมใหญ่ หรือปิดเทอมฤดูร้อน ที่ทำให้เกิดการหยุดชะงักในการเรียน การเปลี่ยนแปลงกิจวัตรที่อาจทำให้ลูกขาดการขัดเกลาทักษะที่จำเป็นต่อการเรียนรู้และพัฒนาการได้
ดังนั้น คุณพ่อคุณแม่จึงควรสังเกตและเรียนรู้ 5 วิธีรับมือเมื่อลูกตกอยู่ในภาวะการณ์เรียนรู้ถดถอย เพื่อให้ลูกสามารถเติบโตและเรียนรู้ทักษะที่จำเป็นต้องการเติบโตและดำเนินชีวิตต่อไปได้
1. จัดตารางการเรียนและเล่นของลูก
จัดตารางเวลาประจำวันที่เหมาะสมกับลูก พยายามทำให้ช่วงเวลาการเรียนและการเล่นในแต่ละวันสมดุล แน่นอน และสม่ำเสมอ เช่น มีเวลาตื่นนอนและเวลาทำภารกิจส่วนตัวตอนเช้าที่แน่นอน หลังเสร็จภารกิจยามเช้า มีเวลาชวนลูกอ่านหนังสือ หรือทำกิจกรรมเกี่ยวกับการเรียนรู้ และไม่ลืมที่จะแบ่งเวลาให้ลูกได้พักผ่อน ครั้งละ 10-15 นาที เพื่อสร้างความคุ้นเคยและทำให้ลูกเป็นเด็กที่มีวินัยและความสามารถในการจัดการเวลาของตัวเองได้ดีขึ้น
2. ใช้เวลาอ่านหนังสือกับลูก
การอ่านหนังสือเป็นหนึ่งในวิธีที่มีประสิทธิภาพที่สุดในการป้องกันภาวะ Learning Loss ของลูกได้ แต่ควรเป็นการอ่านหนังสือที่ลูกชอบ โดยคุณพ่อคุณแม่สามารถให้ลูกเลือกหนังสือที่ลูกสนใจ ไม่จำเป็นต้องเป็นหนังสือเรียน แต่หนังสือภาพ หนังสือการ์ตูน หรือนิทาน ก็มีประโยชน์ต่อการพัฒนาการเรียนรู้ของลูกเช่นกันค่ะ
3. พาลูกออกไปเที่ยว
พ่อแม่อาจเริ่มที่การพาไปเที่ยวพิพิธภัณฑ์ ไปชมงานศิลปะ หรือไปเข้าร่วมกิจกรรมในงานอีเวนต์ต่างๆ ใกล้บ้าน การพาลูกออกไปเจอสังคมและโลกภายนอกบ่อยๆ จะช่วยให้ลูกได้เจอประสบการณ์ใหม่ๆ และเพิ่มทักษะการสร้างปฏิสัมพันธ์กับผู้คนมากขึ้น ไม่หยุดชะงักแม้จะเป็นช่วงเวลาที่ไม่ได้ไปโรงเรียนก็ตาม
4. ฝึกคัดลายมือหรือเขียนหนังสือ
มีงานวิจัยกล่าวว่า การเขียนด้วยปากกาลงบนกระดาษ เป็นการกระตุ้นการทำงานของสมองได้เป็นอย่างดี นอกจากนั้น การเขียน ยังช่วยให้ลูกสามารถเรียบเรียงและจัดการข้อมูลต่างๆ ได้ดีขึ้น รวมถึงการพัฒนาทักษะการอ่านและเขียนให้ดียิ่งขึ้น
โดยคุณพ่อคุณแม่สามารถเริ่มด้วยการฝึกให้ลูกหัดเขียนเรื่องราวสั้นๆ ง่ายๆ เช่น บันทึกเหตุการณ์ในชีวิตประจำวัน หรือจะชวนให้ลูกแต่งนิทานตามจินตนาการก็ทำได้เช่นเดียวกันค่ะ
5. ส่งเสริมและให้กำลังใจลูก
เมื่อลูกอยู่ในภาวะการเรียนรู้ถดถอย ทำให้ลูกเกิดการเรียนรู้หรือคิดคำนวณได้ช้าลง ทำอะไรผิดพลาดมากขึ้น เช่น สะกดคำผิดหรือบวกเลขไม่ถูกต้อง ดังนั้น คุณพ่อคุณแม่ไม่ควรต่อว่า หรือทำให้ลูกสูญเสียความมั่นใจ แต่สิ่งที่ควรทำก็คือให้กำลังใจ และช่วยให้ลูกเรียนรู้ด้วยคำพูดเชิงบวก หรือกระตุ้นให้เกิดแรงจูงใจที่ดี เช่น ถ้าลูกเขียนตามคำบอกได้ จะมีรางวัลเป็นอาหารเย็นที่ลูกชอบ เพื่อสร้างบรรยากาศการเรียนรู้ที่ดีและมีความสุขในครอบครัว
COMMENTS ARE OFF THIS POST