READING

ลูกถนัดซ้าย: คุณพ่อคุณแม่ควรรับมืออย่างไร และต้องก...

ลูกถนัดซ้าย: คุณพ่อคุณแม่ควรรับมืออย่างไร และต้องกังวลใจหรือเปล่า!?

ลูกถนัดศ้าย

โดยส่วนมาก เมื่อลูกอายุได้ 1-3 ขวบ คุณพ่อคุณแม่จะเริ่มเห็นพัฒนาการกล้ามเนื้อมัดเล็กของลูกได้อย่างชัดเจน และเริ่มสังเกตได้ว่าลูกถนัดใช้มือข้างไหนมากกว่า และเมื่อพบว่า ลูกถนัดซ้าย อาจทำให้คุณพ่อคุณแม่รู้สึกกังวลและพยายามฝึกให้ลูกเปลี่ยนมาใช้มือขวามากขึ้น

เพราะสิ่งของเครื่องใช้ทั่วไปมักถูกออกแบบมาเพื่อคนถนัดมือขวา เช่น กรรไกร สายชำระ รวมถึงการเขียนหนังสือ ที่เริ่มจากด้านซ้ายไปด้านขวา จึงทำให้คุณพ่อคุณแม่กังวลใจว่า การที่ ลูกถนัดซ้าย จะกลายเป็นอุปสรรคต่อการเรียนรู้และการใช้ชีวิตของลูกได้

จากสถิติพบว่า ทั่วโลกมีคนถนัดซ้ายประมาณ 10 เปอร์เซ็นต์ โดยผลวิจัยของแพทย์ผู้เชี่ยวชาญ หรือนักวิทยาศาสตร์ได้อธิบายเกี่ยวกับการถนัดซ้ายเอาไว้ว่า อาจเกิดจากปัจจัยหลายอย่าง ไม่ว่าจะเป็นพันธุกรรม หรือยีน PCSK6 ที่พบในตัวทารกและพบได้ตั้งแต่ในครรภ์ ก็เป็นตัวบ่งชี้ว่าลูกจะเติบโเป็นคนถนัดขวาหรือซ้าย รวมถึงการที่ลูกมีพฤติกรรมเลียนแบบคุณพ่อคุณแม่หรือคนในครอบครัวก็มีส่วนทำให้ลูกเป็นเด็กถนัดซ้ายได้

ในขณะที่มีการศึกษาที่ได้รับการเผยแพร่และเป็นที่ยอมรับว่า คนถนัดซ้ายมีแนวโน้มที่จะทำการทดสอบทางสติปัญญาได้ดีกว่าคนถนัดขวา นอกจากนั้น คนถนัดซ้ายยังมีทักษะการพูดและการใช้ภาษาได้ดีอีกด้วย

รู้อย่างนี้แล้ว นอกจากจะช่วยให้คุณพ่อคุณแม่สบายใจมากขึ้น ไม่ต้องฝืนหรือพยายามให้ลูกใช้มือขวาเหมือนเด็กคนอื่น เรายังมี 4 เทคนิคดีๆ สำหรับดูแลลูกถนัดซ้ายอย่างเหมาะสมอีกด้วยค่ะ

1. พ่อแม่ต้องช่วยสร้างความมั่นใจให้กับลูก

lefthand_web_1

หากคุณพ่อคุณแม่พยายามบังคับหรือฝืนใจให้ลูกใช้มือข้างที่ไม่ถนัด เช่น ทุกครั้งที่ลูกเขียนหนังสือด้วยมือซ้าย ก็จะถูกคุณพ่อคุณแม่ตำหนิและบอกให้เปลี่ยนมาใช้มือขวา นอกจากจะทำให้ลูกมีทัศนคติที่ไม่ดีต่อการเขียนหนังสือแล้ว ยังส่งผลต่อความมั่นใจในการทำกิจกรรมอื่นในชีวิตประจำวันได้

ดังนั้น คุณพ่อคุณแม่ควรสร้างความมั่นใจและทำให้ลูกรู้ว่าการถนัดซ้ายไม่ใช่เรื่องผิดปกติ น่าอาย และการถนัดซ้ายจะไม่เป็นอุปสรรคในการเรียนรู้และใช้ชีวิตของลูก

2. หาอุปกรณ์สำหรับเด็กถนัดซ้าย

lefthand_web_2

เมื่อลูกเข้าสู่วัยเรียน คุณพ่อคุณแม่อาจเริ่มหาอุปกรณ์สำหรับเด็กถนัดซ้าย เช่น กรรไกรที่ใช้ได้ทั้งคนถนัดซ้ายและขวา หรืออุปกรณ์กีฬาบางประเภท และควรแจ้งให้คุณครูทราบว่าลูกถนัดซ้าย เพื่อคุณครูจะได้ช่วยจัดการเรื่องที่นั่งเพื่ออำนวยความสะดวกในการเขียนหนังสือของลูกมากขึ้นค่ะ

3. สอนวิธีการเขียนที่ถูกต้อง

lefthand_web_3

การเขียนอาจจะเป็นเรื่องน่าหงุดหงิดใจที่สุดของคนท่ีถนัดซ้าย เพราะลักษณะการเขียนภาษาไทยและอังกฤษที่ลูกต้องใช้ในชีวิตประจำวันจะต้องเขียนจากซ้ายไปขวา ดังนั้นเมื่อลูกเริ่มเขียนทางซ้าย ก็จะทำให้ต้องวางมือทับลงไปบนตัวหนังสือที่เพิ่งเขียน นั่นทำให้ลงมือเขียนทีไรมือก็เลอะ กระดาษก็เลอะทุกที! แต่ความจริงแล้วหากคุณพ่อคุณแม่ช่วยสอนให้ลูกวางมืออย่างถูกวิธี ก็จะสามารถเขียนโดยอย่างไม่เลอะมือได้

วิธีการเขียนสำหรับคนถนัดซ้าย มีดังนี้

– จับดินสอสูงขึ้นมาจากปลายดินสอประมาณ 2.5 ซม.- 3.8 ซม.

– เอียงกระดาษเพื่อให้แขนตรงกับมุมขวาล่างของกระดาษ และมุมขวาด้านบนของกระดาษทำมุมตรงกับตัวผู้เขียน

– เขียนให้มืออยู่ต่ำกว่าเส้นบรรทัด และข้อมือตั้งตรง

4. สนับสนุนความถนัดของลูก

lefthand_web_4

สิ่งสำคัญคือคุณพ่อคุณแม่ควรสนับสนุนและส่งเสริมทุกความถนัดของลูก โดยเฉพาะลูกถนัดซ้าย มีข้อมูลจาก Rik Smits ผู้เขียนหนังสือ The Puzzle of Left Handedness ระบุว่าคนถนัดซ้ายจะมีเทคนิคการเล่นกีฬาบางประเภท เช่น มวย เบสบอล เทนนิส หรือบาสเก็ตบอล ได้ดี

ดังนั้น ไม่ว่าลูกจะถนัดข้างไหน คุณพ่อคุณแม่ควรผลักดันและเสริมสร้างทักษะที่สำคัญให้กับลูก และไม่ทำให้ลูกรู้สึกด้อยหรือสูญเสียความมั่นใจในตัวเองนะคะ

อ้างอิง
oprah
Better Health Channel
kindercare
Daniel M. Abrams
kapook
handedness

Supinya R.

ชอบอ่านนิยายสยองขวัญ ชอบเขียนไดอารี่ และเป็นคุณแม่จำเป็นในบางเวลา :-)

COMMENTS ARE OFF THIS POST