READING

ชวนลูกกินอาหารตามแนวคิด Shokuiku จากประเทศญี่ปุ่น ...

ชวนลูกกินอาหารตามแนวคิด Shokuiku จากประเทศญี่ปุ่น ด้วย 4 เทคนิคง่ายๆ!

Shokuiku เป็นแนวคิดว่าด้วยศาสตร์การเรียนรู้อาหารและแนวทางการกินอาหารด้วยความสมดุลจากประเทศญี่ปุ่น ประเทศที่ได้รับการยอมรับว่ามีประชากรสุขภาพดีเป็นอันดับต้นๆ ของโลก

Shokuiku เกิดจาก Sagen Ishizuka—นายแพทย์ทหารชาวญี่ปุ่น ที่ได้รับอิทธิพลแนวคิดที่ที่ว่าการกินอาหารนั้นจะต้องมีความหลากหลายและความสมดุลมาจากพุทธศาสนา ซึ่งหากทำได้จะเป็นการเสริมสร้างสุขภาพที่ดีเป็นอย่างมากในปี 2005 แนวคิด Shokuiku ได้ถูกนำมาประยุกต์กลายเป็นกฏหมายที่ชื่อว่า ‘Fundamental Law of Shokuiku’ เพื่อให้ชาวญี่ปุ่นตระหนักถึงการกินอาหารและการผลิตอาหารที่ต้องมีความรับผิดชอบ และผลิตอาหารที่มีคุณภาพดีมากที่สุด ซึ่งเหตุผลของการเกิดกฎหมายนี้มาจากการที่คนญี่ปุ่นมีพฤติกรรมการกินที่เน้นความสะดวกสบาย และประหยัดเวลา ทำให้อาหารที่กินเข้าไปไม่ค่อยมีประโยชน์หรือดีต่อร่างกายเท่าที่ควร และแน่นอนว่าผลกระทบที่เกิดจากพฤติกรรมการกินดังกล่าวก็คือสุขภาพนั่นเอง

ดังนั้นหน่วยงานรัฐของประเทศญี่ปุ่นจึงได้พัฒนาและผลักดันแนวคิด Shokuiku ให้เป็นทั้งเรื่องของการกินอาหารและการศึกษาอาหาร ที่ต้องเรียนรู้ตั้งแต่ระดับชั้นอนุบาลและปฏิบัติไปพร้อมกัน

เพราะแนวคิด Shokuiku สามารถนำมาใช้ได้กับการกินอาหารของคนทุกเพศทุกวัย  M.O.M จึงอยากชวนคุณพ่อคุณแม่ลองศึกษาการกินอาหารตามแนวคิดของ Shokuiku จากประเทศญี่ปุ่นเพื่อนำมาปรับใช้ในการดูแลตัวเองและลูกน้อยดูบ้าง

1. อาหารหนึ่งจานจะต้องมีสารอาหารครบทุกอย่าง

Shokuiku_web_1

อย่างที่รู้กันดีว่า Shokuiku นั้นเน้นการกินอาหารที่หลากหลาย  เพียงพอ และสมดุล ดังนั้นการกินอาหารในหนึ่งมื้อจะไม่ได้เน้นไปที่วัตถุดิบอย่างใดอย่างหนึ่ง

โดยอาหารหนึ่งมื้อจะต้องประกอบไปด้วย อาหารหลัก เช่น ข้าว ขนมปัง พาสต้า มีโปรตีนหลักเป็นเนื้อปลา เนื้อสัตว์ ไข่ ถั่วเหลือง หรือส่วนผสมอื่น ที่อุดมไปด้วยโปรตีนและไขมัน

เครื่องเคียงจะต้องประกอบไปด้วยผักชนิดต่างๆ เช่น เห็ด สาหร่าย หรือมันฝรั่งที่อุดมไปด้วยวิตามิน เหล็ก แคลเซียม และใยอาหารส่วนอาหารว่างระหว่างวันจะเป็นนม หรืออาหารที่มีส่วนประกอบของนม และอย่างสุดท้ายคือผลไม้ตามฤดูกาลนั่นเอง

2. กินอาหารเช้าทุกวัน

Shokuiku_web_2

คนญี่ปุ่นนั้นให้ความสำคัญกับการกินอาหารเช้า เพราะอาหารเช้าเป็นตัวกระตุ้นให้ร่างกายตื่นและพร้อมกับการเริ่มต้นวันใหม่ ไม่ทำให้อ่อนเพลีย และมีพลังงานในการทำอะไรได้อย่างเต็มที่

หากเด็กๆ หรือผู้ใหญ่อย่างเรา ไม่กินอาหารเช้า ร่างกายจะมีปฏิกิริยาบางอย่างทำให้เด็กหงุดหงิดง่าย ไม่มีสมาธิ และเหนื่อยล้าเร็ว

โดยจากการเก็บสถิติ ผลกระทบจากการไม่กินอาหารเช้าในประเทศญี่ปุ่นพบว่า เด็กที่ไม่ได้กินอาหารเช้ามีแนวโน้มในการทำคะแนนสอบได้ไม่ดีเท่ากับตอนกินอาหารเช้า ซึ่งถือเป็นเรื่องน่าสนใจไม่น้อยเลยทีเดียว

3. กินอาหารร่วมกันกับคนในครอบครัว

Shokuiku_web_3

แนวคิด Shukuiku เน้นให้สมาชิกในครอบครัวได้กินข้าวร่วมกัน เพราะการกินข้าวร่วมกันมีส่วนช่วยให้กินอาหารด้วยความรู้สึกอร่อยมากขึ้น การได้พูดคุยพร้อมทั้งชื่นชมอาหารที่กินด้วยกัน จะช่วยให้คนในครอบครัวมีสุขภาพดีขึ้นทั้งกายและใจ

โดยงานวิจัยได้มีการเปรียบเทียบระหว่างเด็กที่ได้กินอาหารร่วมโต๊ะกับพ่อแม่ปู่ย่าตายาย และเด็กที่กินคนเดียว พบว่าเด็กที่กินอาหารคนเดียวมักมีสุขภาพกาย และสุขภาพจิตที่ไม่ดีเท่าเด็กที่กินอาหารร่วมโต๊ะกับคนในครอบครัว

4. ลิ้มรสอาหารอย่างเต็มที่ด้วยการเคี้ยวอาหารช้าๆ

Shokuiku_web_4

การค่อยๆ เคี้ยวอาหาร เพื่อลิ้มรสรสชาติของอาหาร นอกจากจะช่วยให้ระบบย่อยทำงานได้ดีแล้ว ยังเป็นการเสริมสร้างความสุขของการกินอาหารที่มากขึ้นอีกด้วย

แต่ประโยชน์จากการเคี้ยวอาหารให้ละเอียดไม่ได้มีเพียงเท่านี้นะคะ เพราะการเคี้ยวยังมีผลทำให้เรารู้สึกอิ่มเร็วขึ้น เพราะร่างกายจะปล่อยฮอร์โมนที่ยับยั้งความอยากอาหารได้ดี และรู้สึกพอใจกับอาหารที่ปรุงรสน้อยไม่ติดรสจัดอีกด้วย

โดยงานวิจัยได้มีการเปรียบเทียบระหว่างเด็กที่ได้กินอาหารร่วมโต๊ะกับพ่อแม่ปู่ย่าตายาย และเด็กที่กินคนเดียว พบว่าเด็กที่กินอาหารคนเดียวมักมีสุขภาพกาย และสุขภาพจิตที่ไม่ดีเท่าเด็กที่กินอาหารร่วมโต๊ะกับคนในครอบครัว

 

 

อ้างอิง
icademyglobe
cbc
maff
maffgo

Anittha R

หลงรักธรรมชาติของความเป็นเด็ก ชอบดูหนัง ชอบหนังสือนิทาน รักการเลี้ยงต้นไม้ และใฝ่ฝันอยากทำสวนกระบองเพรชที่มีดอกเยอะๆ

COMMENTS ARE OFF THIS POST