READING

ลูกชอบโกหก: 4 พฤติกรรมของพ่อแม่ที่มีส่วนทำให้ลูกกล...

ลูกชอบโกหก: 4 พฤติกรรมของพ่อแม่ที่มีส่วนทำให้ลูกกลายเป็นเด็กขี้โกหก

ลูกชอบโกหก

คุณพ่อคุณแม่ย่อมรู้สึกกังวลและไม่สบายใจ เมื่อพบว่า ลูกชอบโกหก ไม่พูดความจริง หรือไม่ยอมรับความผิดพลาดของตัวเอง เพราะกลัวว่าจะกลายเป็นนิสัยที่ติดตัวลูกไปจนโตได้

ความจริงแล้วการโกหก โดยเฉพาะในเด็กเล็กมักเกิดจากสัญชาตญาณที่ต้องการปกป้องตัวเอง เช่น บางคนหลีกเลี่ยงการพูดความจริงเพราะกลัวว่าจะถูกทำโทษ ถูกต่อว่า หรือโกหกเพื่อไม่ให้คุณพ่อคุณแม่ไม่สบายใจ แต่ถึงอย่างนั้น ถ้าหากคุณพ่อคุณแม่ไม่มีวิธีรับมืออย่างเหมาะสม ก็อาจทำให้ ลูกชอบโกหก จนกลายเป็นนิสัยได้

และหากคุณพ่อคุณแม่พยายามหาสาเหตุว่าทำไมลูกถึงชอบพูดโกหก หรือไปเรียนรู้นิสัยชอบโกหกมาจากไหน คุณพ่อคุณแม่อาจต้องลองย้อนกลับมาดูพฤติกรรมการเลี้ยงดูของตัวเองว่ากำลังเป็นส่วนหนึ่งของการทำให้ลูกกลายเป็นเด็กขี้โกหกหรือเปล่าด้วยนะคะ

1. พ่อแม่ที่ไม่มีเหตุผล

WhyKidsLie_web_1

หากคุณพ่อคุณแม่มักแสดงพฤติกรรมไม่มีเหตุผล ใช้อารมณ์ในการตัดสิน ดุด่า หรือทำโทษลูกโดยไม่เปิดโอกาสให้ลูกได้พูดและอธิบายเหตุผลของตัวเอง ยิ่งจะทำให้ลูกพยายามโกหกเพื่อเอาตัวรอดและปกป้องตัวเองจากการโดนคุณพ่อคุณแม่ทำโทษได้

2. พ่อแม่ที่ไม่เปิดใจรับฟังลูก

WhyKidsLie_web_2

หากคุณพ่อคุณแม่ไม่ทำตัวเป็นผู้ฟังที่ดี คอยตำหนิและติเตียนเมื่อลูกเล่าอะไรให้ฟัง นอกจากจะทำให้ลูกไม่อยากจะเล่าให้คุณพ่อคุณแม่ฟังอีกต่อไปแล้ว ยังทำให้ลูกเลือกที่จะโกหกเพื่อไม่อยากถูกต่อว่าอีกด้วย ดังนั้น คุณพ่อคุณแม่ควรเปิดใจรับฟังลูกให้ได้มากที่สุด แม้เรื่องนั้นจะเล็กน้อย หรือต้องการต่อว่าลูกมากแค่ไหน คุณพ่อคุณแม่ก็ควรให้เวลาในการรับฟัง ทำความเข้าใจ และใช้เหตุผลในการแนะนำหรือให้ความช่วยเหลือลูกให้มากที่สุดเท่าที่จะทำได้

3. พ่อแม่ที่ไม่ไว้ใจลูก

WhyKidsLie_web_3

ความเชื่อใจเป็นสิ่งที่ลูกทุกคนต้องการจากคุณพ่อคุณแม่ หากลูกรู้สึกว่าคุณพ่อคุณแม่ไม่ไว้ใจ ไม่เชื่อ และคอยจับผิดลูกตลอดเวลา ยิ่งเป็นการส่งเสริมให้ลูกมีพฤติกรรมโกหก เพื่อให้คุณพ่อคุณแม่สบายใจ ไม่จับผิด หรือโกหกเพื่อให้คุณพ่อคุณแม่ไว้วางใจในตัวเองมากขึ้น

4. พ่อแม่ที่ซ้ำเติมความผิดพลาดของลูก

WhyKidsLie_web_4

เวลาที่ลูกทำผิดพลาดหนึ่งครั้ง แล้วถูกคุณพ่อคุณแม่เอาความผิดพลาดนั้นมาตอกย้ำและซ้ำเติมอยู่เสมอ ก็จะทำให้ลูกพยายามปกปิดและไม่ยอมรับความผิดของตัวเองมากขึ้นเรื่อยๆเพราะฉะนั้น นอกจากไม่ควรซ้ำเติมความผิดพลาดของลูกแล้ว คุณพ่อคุณแม่ควรเปิดโอกาสให้ลูกได้แก้ไขความผิดพลาดด้วยตัวเอง เช่น ชวนลูกวางแผนว่าจะช่วยกันทำอย่างไรไม่ให้เกิดเหตุการณ์นั้นขึ้นอีก เมื่อลูกได้รับการยอมรับจากคุณพ่อคุณแม่แล้ว เขาก็จะสามารถเรียนรู้และยอมรับความผิดพลาดของตัวเองที่จะเกิดขึ้นในอนาคตได้

—อ่านบทความ: ทำไมลูกโกหกและลูกไปเอานิสัยโกหกมาจากไหนกันนะ!?
อ้างอิง
Child Mind Institute
samitivejhospitals
thairath

Supinya R.

ชอบอ่านนิยายสยองขวัญ ชอบเขียนไดอารี่ และเป็นคุณแม่จำเป็นในบางเวลา :-)

COMMENTS ARE OFF THIS POST