READING

ไม่ใช่แค่โรคซึมเศร้า แต่ยังมีอีก 5 โรคจิตเวชที่เกิ...

ไม่ใช่แค่โรคซึมเศร้า แต่ยังมีอีก 5 โรคจิตเวชที่เกิดขึ้นกับเด็กได้

โรคจิตเวชในเด็ก

เป็นคุณพ่อคุณแม่ยุคใหม่ นอกจากจะต้องรู้จักโรคภัยไข้เจ็บทางร่างกายแล้ว ยังควรทำความรู้จักอาการเจ็บป่วยทางใจ หรือ ‘โรคจิตเวชในเด็ก’ ที่อาจเกิดขึ้นกับลูกของเราอีกด้วย

เพราะปัจจุบันปัญหาสุขภาพทางจิตไม่ว่าจะเกิดขึ้นกับเด็กหรือผู้ใหญ่ต่างก็ทวีความรุนแรง สังคมจึงเริ่มให้ความสนใจผู้ป่วยและคนที่สุ่มเสี่ยงจะมีอาการป่วยจิตเวชมากขึ้น

เราอาจได้ยินชื่อโรคซึมเศร้าจนเริ่มรู้สึกคุ้นเคย แต่ยังมีโรคทางจิตเวชอื่นๆ ที่สร้างความทุกข์ทรมานใจให้กับเด็กๆ ได้เช่นกัน

แต่ก่อนที่คุณพ่อคุณแม่จะยื่นมือเข้าช่วยเหลือลูกน้อยได้ทันท่วงที เราลองมาทำความรู้จัก 5 โรคทางจิตเวชเพื่อเตรียมหาทางป้องกันหรือรับมือกับโรคที่อาจเกิดขึ้นกับเด็กๆ ของเราได้

1. โรคกลัว (Phobia)

โรคจิตเวชในเด็ก

โรคกลัว หรือ Phobia เป็นโรคในกลุ่มเดียวกันกับโรควิตกกังวล (Anxiety Disorder) ซึ่งปกติแล้วอาการกลัวของคนเรา มักจะเป็นในลักษณะที่กลัวแต่สามารถจัดการกับสิ่งที่เกิดขึ้นได้ แต่เด็กที่ป่วยเป็นโรคกลัวจะไม่สามารถจัดการกับความกลัวนั้นได้

เมื่อรู้สึกกลัว เด็กจะมีอาการมากถึงขนาดใจสั่น คลื่นไส้ วิงเวียนศีรษะ เหงื่อออก ไม่สามารถควบคุมร่างกายตัวเองได้ หากเป็นน้อยก็อาจหลีกเลี่ยงจากสิ่งที่กลัวได้ แต่หากอาการหนักและไม่สามารถหลีกเลี่ยงสิ่งที่กลัวได้ คุณพ่อคุณแม่ไม่ควรพยายามแก้ไขด้วยการให้ลูกต่อสู้กับสิ่งที่กลัวด้วยตัวเอง แต่ควรรีบพาลูกไปปรึกษาจิตแพทย์นะคะ

2. โรค PTSD (Post-traumatic stress disorder)

โรคจิตเวชในเด็ก

โรค PTSD หรือโรคความเครียดหลังจากเกิดเหตุการณ์ร้ายแรงขึ้น เป็นอาการที่เกิดจากเด็กเผชิญกับเหตุการณ์ที่ตึงเครียด ร้ายแรง หรือรุนแรงกระทบกระเทือนจิตใจมาก จนรู้สึกฝังใจ และยังหวาดกลัวกับเหตุการณ์นั้นๆ เช่น ประสบอุบัติเหตุ สมาชิกในครอบครัวเสียชีวิต โดนทำร้ายร่างกาย โดนล่วงละเมิดทางเพศ ฯลฯ

อาการของโรคจะมาในรูปแบบต่างๆ เช่น ฝัน ผวา เห็นภาพหลอน จนทำให้ร่างกายมีปฏิริยา เช่น  หน้ามืด เป็นลม มีเหงื่อออก คลื่นไส้ ตัวสั่น ความดันโลหิตสูง หัวใจเต้นเร็ว กระวนกระวายใจ ตำหนิตัวเอง หวาดระแวง และตกใจง่าย ซึ่งในเด็กเล็กอาจมีการปัสสาวะรดที่นอน มีปัญหาด้านพัฒนาการ และรู้สึกแปลกแยกจากพ่อแม่ค่ะ

3. โรคไบโพลาร์ (Bipolar Disorder)

โรคจิตเวชในเด็ก

โรคไบโพลาร์ หรือโรคอารมณ์สองขั้ว เป็นโรคทางจิตเวชที่ผู้ป่วยอาจมีอาการซึมเศร้าหนักมากจนคิดฆ่าตัวตาย และสามารถเปลี่ยนแปลงอารมณ์เป็นร่าเริงมาก ไปจนถึงโมโหอารมณ์ร้ายมาก ทำลายข้าวของ ทำร้ายคนอื่นและตัวเองได้

ในปัจจุบันโรคไบโพลาร์ไม่ได้เกิดขึ้นกับผู้ใหญ่เท่านั้น แต่เด็กๆ ก็เริ่มมีอัตราการป่วยด้วยโรคไบโพล่าร์มากขึ้น

วิธีการสังเกตเด็กเบื้องต้น คือเด็กจะมีความกระตือรือร้นอยากทำนู่นทำนี่มากผิดสังเกต มีความมั่นใจในตัวเองสูง แต่อารมณ์โมโหร้าย และอาการทุกอย่างจะเกิดขึ้นเป็นช่วงๆ ไม่ต่อเนื่อง

4. โรคพฤติกรรมดื้อต่อต้าน (Oppositional Defiant Disorder)

โรคจิตเวชในเด็ก

 โรคดื้อต่อต้าน หรือ ODD เป็นโรคทางจิตเวชประเภทหนึ่ง เด็กที่มีอาการของโรคนี้มักแสดงอาการโมโหร้าย ชอบเถียง อารมณ์เสีย และหงุดหงิดง่าย เมื่อนานๆ เข้าจึงทำให้ความสัมพันธ์ภายในครอบครัว และสังคมภายนอกไม่ค่อยดีเสียเท่าไหร่

โดยคุณพ่อคุณแม่สามารถสังเกตได้จากพฤติกรรมของลูก ที่ไม่ค่อยเป็นมิตรกับผู้อื่น ชอบต่อต้าน เถียง ไม่ยอมแพ้ และมีความเจ้าคิดเจ้าแค้น

5. โรคสมาธิสั้น

โรคจิตเวชในเด็ก

โรคจิตเวชยอดฮิตในเด็กคงหนีไม่พ้นโรคสมาธิสั้น เด็กที่เป็นโรคนี้จะมีอาการซุกซน วอกแวกง่าย ไม่เคยอยู่นิ่ง เพราะขาดการควบคุมร่างกายของตัวเอง

วิธีการดูว่าลูกของเราเข้าเกณฑ์เสี่ยงกับการป่วยเป็นโรคสมาธิสั้นหรือไม่ จะต้องใช้การสังเกตพฤติกรรมต่างๆ เช่น  ลูกมักไม่มีสมาธิในการทำงานหรือการเล่น ทำงานไม่เป็นระเบียบ มักวอกแวกไปสนใจสิ่งเร้าภายนอกได้ง่าย วิ่งไปมาหรือปีนป่ายสิ่งต่างๆ ในที่ที่ไม่สมควรกระทำ พูดมากถึงขั้นพูดไม่หยุด ฯลฯ

หากลูกมีอาการดังที่ว่ามา และเป็นต่อเนื่องมานานกว่า 6 เดือน คุณพ่อคุณแม่ควรพาลูกไปพบจิตแพทย์เพื่อประเมินอาการและรักษาตั้งแต่เนิ่นๆ

 

อ้างอิง
medmahidol
komchadluek
smartteen
honestdocs

Anittha R

หลงรักธรรมชาติของความเป็นเด็ก ชอบดูหนัง ชอบหนังสือนิทาน รักการเลี้ยงต้นไม้ และใฝ่ฝันอยากทำสวนกระบองเพรชที่มีดอกเยอะๆ

COMMENTS ARE OFF THIS POST