READING

เมื่อโรคหัดไม่เคยไปไหน: เช็กให้ดีว่าลูกเป็นไข้ธรรม...

เมื่อโรคหัดไม่เคยไปไหน: เช็กให้ดีว่าลูกเป็นไข้ธรรมดาหรือว่าเป็น ‘โรคหัด’

ปกติแล้วคุณหมอมักจะแนะนำให้คุณพ่อคุณแม่พาลูกมาฉีดวัคซีนป้องกันโรคหัดเอาไว้ แต่ก็มีคุณพ่อคุณแม่หลายคนเข้าใจว่าโรคหัดเป็นโรคที่ไม่ค่อยพบเจอหรือระบาดแล้วในปัจจุบัน จึงทำให้บางครั้งคิดว่าการรับวัคซีนป้องกันโรคหัดเป็นเรื่องไม่จำเป็น

แต่ความจริงแล้ว สถิติจากเว็บไซต์กระทรวงสาธารณสุขไทย ได้แจ้งตัวเลขที่น่าตกใจไม่น้อยว่า ปัจจุบันมีประชาชนที่ป่วยเป็นโรคหัดสูงถึงร้อยละ 70.09 และมีจำนวนผู้เสียชีวิต 20 คน (ข้อมูลวันที่ 23 ตุลาคม 2562)

โดยพบว่าเด็กอายุ 0-4 ปี เป็นกลุ่มที่มีการติดเชื้อและป่วยมากที่สุดสูงถึง 2,198 คน และหากดูสถิติจะถือได้ว่าปี 2019 เป็นปีที่โรคหัดระบาดอย่างรุนแรงมากที่สุด โดยทางกระทรวงสาธารณสุขไทยได้เก็บสถิติมาตั้งแต่ปี2011-2019 รวมถึงต่างประเทศก็มีอัตราของผู้ป่วยโรคหัดที่เพิ่มมากขึ้นด้วยเช่นกัน

ผู้ปกครองบางคนอาจสงสัยแล้วว่าทำไมเราถึงควรกลับมาให้ความสนใจโรคหัดที่เคยมองข้ามมานาน สาเหตุของเป็นเพราะการให้ความรู้เกี่ยวกับวัคซีนที่ไม่ถูกต้อง ความเข้าใจคิดว่าการฉีดวัคซีนมีผลข้างเคียงที่รุนแรงกับลูก เช่น ในประเทศสหรัฐอเมริกาเคยมีความเชื่อว่าวัคซีนป้องกันโรคหัดอาจทำให้เด็กเป็นออทิสติกได้ จึงทำให้ครอบครัวจำนวนไม่น้อยหลีกเลี่ยงการพาลูกไปฉีดวัคซีน รวมถึงความเข้าใจว่าโรคหัดไม่มีการแพร่ระบาดแล้วในปัจจุบันก็ด้วย

M.O.M จึงอยากให้คุณพ่อคุณแม่ทำความรู้จักกับโรคหัด โดยเฉพาะเมื่อโรคหัดเกิดขึ้นกับเด็กๆ จะมีอาการอย่างไร ควรปฏิบัติตัวอย่างไร และมีวิธีป้องกันได้อย่างไรบ้าง

1. โรคหัดมีสองประเภท ได้แก่ โรคหัดและโรคหัดเยอรมัน

Measles_web_1

โรคหัด เป็นโรคที่มาจากการติดเชื้อไวรัสในระบบทางเดินหายใจ มีไข้ น้ำมูก ไอ คล้ายกับอาการไข้หวัด เกิดจุดสีเทาขาวภายในกระพุ้งแก้ม บริเวณร่างกายจะมีผื่นแดงขึ้นบริเวณหน้า ไรผม ก่อนลามไปทั่วแขน ขา และตามตัว

โดยผื่นแดงจะทำให้ผู้ป่วยรู้สึกไม่สบายตัวอย่างมาก และเป็นอยู่นานประมาณ 5-6 วัน ก่อนจางลง ซึ่งจะกินระยะเวลาประมาณสองสัปดาห์ และบางครั้งผิวหนังอาจมีลอกเป็นขุยบ้าง

ฟังดูแล้วก็ไม่ได้น่ากลัวมากใช่ไหมคะ แต่การเป็นโรคหัดเสี่ยงกับโรคแทรกซ้อนได้ เช่น หูส่วนกลางอักเสบ (Otitis media) หลอดลมอักเสบ (Croup) ปอดอักเสบ อุจจาระร่วง การติดเชื้อที่ตับ การติดเชื้อที่เส้นประสาทตา หนักสุดคือทำให้เสียชีวิตได้

ส่วนหัดเยอรมัน เป็นหัดที่เกิดจากการติดเชื้อไวรัสเช่นกัน แต่จะมีลักษณะที่รุนแรงกว่า โดยลักษณะอาการจะเป็นมีไข้ต่ำไปจนถึงปานกลาง ต่อมน้ำเหลืองโต โดยเฉพาะส่วนคอ ท้ายทอย และหลังหู ปวดศีรษะ มีผื่นแดงขึ้นบริเวณใบหน้า ลามไปถึงคอ แขน ขา ซึ่งส่วนใหญ่มักจะหายไปได้เองภายในสามวัน แต่จะทิ้งรอยแผลไว้ทั่วตัว

หัดเยอรมันมีอันตรายได้จากภาวะแทรกซ้อนเช่น ข้ออักเสบที่นิ้ว ข้อมือ และหัวเข่า ติดเชื้อที่หูน้ำหนวก สมองอักเสบจนนำไปสู่โรคไข้สมองอักเสบ แต่หากได้รับวัคซีนครบก็สบายหายห่วงไปได้มาก

2. โรคหัดติดต่อง่ายมากกว่าที่ใครคิด

Measles_web_2

ผู้ป่วยโรคหัดสามารถแพร่เชื้อไวรัสไปสู่ผู้อื่นได้หลังจากที่ตัวเองได้รับเชื้อประมาณสี่วัน และมักแพร่เชื้อออกไปก่อนที่ผื่นแดงจะขึ้นหรือรู้ตัวเองว่าป่วย โดยจะติดต่อได้จากผู้ป่วย ไอ จาม ทำให้เชื้อแพร่กระจายอยู่ตามอากาศ เมื่อผู้อื่นหายใจเข้าไป หรือเผลอสัมผัสเชื้อและนำเข้าปาก จึงทำให้ติดเชื้อทันที ซึ่งเชื้อสามารถอยู่บนผิวหนังได้นานถึง 2 ชั่วโมง

นอกจากนี้หากผู้ที่ไม่เคยรับวัคซีนมาก่อน ไปอยู่ใกล้กับผู้ป่วยมีโอกาสติดเชื้อโรคหัดทันทีได้ถึงร้อยละ 90

แต่หากใครที่เป็นโรคหัดไปแล้วจะไม่มีการเป็นซ้ำอีก เนื่องจากร่างกายได้สร้างภูมิคุ้มกันจากการติดเชื้อครั้งแรกไปแล้วนั้นเอง

3. ป้องกันโรคหัดด้วยวัคซีน

Measles_web_3

ตามปกติแล้วเด็กจะได้รับวัคซีนป้องกันโรคหัดเป็นสวัสดิการฟรีตามแบบแผนที่กระทรวงสาธารณสุขกำหนดไว้ โดยการฉีดยานั้นจะเริ่มตั้งแต่เด็กอายุ 9 เดือน เป็นวัคซีนรวมชื่อ MMR1 เพื่อป้องกันโรคหัด คางทูม และหัดเยอรมัน ต่อมาเด็กอายุ 2 ปี 6 เดือน จึงฉีด MMR2 ซ้ำอีกหนึ่งครั้ง และเข็มสุดท้ายเมื่อเด็กอายุประมาณ 7 ขวบ หรือเข้าระดับชั้นประถมศึกษาปีที่ 1 จึงรับวัคซีน MMR เป็นครั้งสุดท้าย หลังจากนี้เด็กก็จะมีภูมิต้านทานที่ครบถ้วนเพื่อต่อสู้กับโรคหัดแล้ว

4. หากลูกเป็นโรคหัดแล้วควรทำอย่างไร

Measles_web_4

การรักษาโรคหัด และโรคหัดเยอรมันในปัจจุบันนั้นยังไม่มีวิธีการรักษาโดยตรง แต่จะเป็นการให้ยารักษาตามอาการที่เกิดขึ้น เช่น หากปวดศีรษะให้กินพาราเซตามอล (Paracetamol) แอสไพริน (Aspirin) เพื่อลดไข้และอาการปวดศีรษะ ให้เด็กดื่มน้ำมากๆ เพื่อไม่ให้ร่างกายเกิดอาการขาดน้ำ รวมไปถึงให้เด็กพักผ่อนในที่แสงน้อย แสงไม่แยงตา ใช้ผ้าชุบน้ำอุ่นคอยทำความสะอาดรอบตาเบาๆ เนื่องจากโรคหัดอาจทำให้เยื่อบุตาอักเสบได้ ผู้ปกครองควรดูแลอาการอย่างใกล้ชิดหากอาการแย่ลง หรือมีอาการบ่งบอกถึงภาวะแทรกซ้อนควรพาไปพบแพทย์ทันที

 

 

 

อ้างอิง
cnn
boemoph
thaipbs
sanook
honestdocs

Anittha R

หลงรักธรรมชาติของความเป็นเด็ก ชอบดูหนัง ชอบหนังสือนิทาน รักการเลี้ยงต้นไม้ และใฝ่ฝันอยากทำสวนกระบองเพรชที่มีดอกเยอะๆ

RELATED POST

COMMENTS ARE OFF THIS POST